อายุครรภ์ 30 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 30 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
อายุครรภ์ 30 สัปดาห์ ถือเป็นก้าวสำคัญของคุณแม่ทุกท่าน เป็นช่วงที่น่าตื่นเต้นที่จะเรียนรู้ไปด้วยกันเกี่ยวกับพัฒนาการของลูกน้อย นอกจากนี้คุณแม่บางท่านอาจจะแปลกใจด้วยเมื่อพบว่าอาการคลื่นเหียนที่ลดน้อยลงหรือหายไปแล้ว เวียนกลับมาอีกครั้ง สาเหตุคืออะไร จะรับมือได้ยังไงให้สุขภาพดี บทความนี้มาพร้อมกับคำแนะนำดี ๆ สำหรับคุณแม่ เพื่อให้คุณแม่มั่นใจในทุกก้าวที่ดูแลลูกน้อยเติบโตไปด้วยกัน
PLAYING: อายุครรภ์ 30 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 30 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
สรุป
- เมื่ออายุครรภ์ 30 สัปดาห์ ร่างกายของลูกน้อยมีความเปลี่ยนแปลงคร่าว ๆ ดังนี้ ผิวหนังของทารกจะมีการสร้างเมลานิน สมองจะเติบโตอย่างรวดเร็ว และดวงตาจะเปิดกว้างขึ้นได้ ขณะที่เซลล์เม็ดเลือดแดงก็กำลังก่อตัวส่งผลดีต่อการพัฒนาสมอง
- คุณแม่บางท่านอาจมีอาการแพ้ท้องกลับมาอีก ทั้งคลื่นไส้อาเจียนจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนหรือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับระบบย่อยอาหาร ต้องเลือกรับประทานประเภทและปริมาณอาหารที่พอเหมาะ อาการไม่สบายอื่นที่พบบ่อย ๆ ร่วมด้วย คือ อาการเสียดท้อง เท้าบวม เส้นเลือดขอด นอนหลับยาก และปัสสาวะบ่อย
- เมื่ออายุครรภ์ 30 สัปดาห์ ขนาดหน้าท้องของคุณแม่เพิ่มขึ้นอย่างมาก จะเห็นการเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจนและรู้สึกไม่สบายตัว
- การดูแลตนเองในระยะนี้ ได้แก่ การตรวจสุขภาพเป็นประจำ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์กับร่างกาย การดื่มน้ำสม่ำเสมอ การพักผ่อนอย่างเพียงพอ และการออกกำลังกายบ้างเพื่อให้เกิดผลทางบวกทั้งการจัดการอารมณ์และความแข็งแรงของร่างกาย
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- การเจริญเติบโตในร่างกายของลูกน้อย
- อาการแพ้ท้องอีกครั้งในช่วงอายุครรภ์ 30 สัปดาห์
- อาการอื่น ๆ ทั่วไปที่คุณแม่ท้อง 30 สัปดาห์อาจเจอ
- ท้อง 30 สัปดาห์ ท้องจะใหญ่ขึ้นแค่ไหน
- ท้อง 30 สัปดาห์ ลูกในครรภ์จะตัวใหญ่แค่ไหน
- การดูแลตัวเอง สำหรับคุณแม่ท้อง 30 สัปดาห์
การเจริญเติบโตในร่างกายของลูกน้อย
- ผิวหนัง เซลล์ผิวของทารกกำลังสร้างเมลานิน ผิวจึงเกิดมีสีขึ้นมา (ยิ่งสร้างเซลล์เมลานินมาก ผิวก็จะยิ่งเข้มขึ้น) แต่การผลิตเมลานินส่วนใหญ่ของร่างกายจริง ๆ จะไม่เกิดขึ้นจนกว่าจะหลังคลอด ดังนั้นสีผิวถาวรของลูก ๆ คุณแม่จะยังพัฒนาต่อ และพัฒนาเต็มที่เมื่ออายุประมาณ 6 เดือน
- สมอง สมองในตอนนี้มีการพัฒนาขึ้นอีก
- เซลล์เม็ดเลือดแดง กำลังพัฒนาในไขกระดูก และเป็นการพัฒนาสำคัญที่ส่งผลดีกับสมอง
- ดวงตา ตอนนี้ดวงตาจะเปิดกว้างได้ และมองเห็นได้สลัว ๆ
- เส้นผม ลูก ๆ ของคุณแม่หลายคนอาจมีผมขึ้นจำนวนมากด้วยในช่วงนี้
อาการแพ้ท้องอีกครั้งในช่วงอายุครรภ์ 30 สัปดาห์
คุณแม่หลายท่านที่ไม่มีอาการแพ้ท้องแล้ว คงไม่คิดว่าอาการแพ้ท้อง คลื่นไส้จะกลับมาอีก แต่ก็เป็นไปได้ที่จะกลับมารบกวนชีวิตประจำวันและจิตใจคุณแม่
สาเหตุที่คุณแม่กลับมาแพ้ท้องอีก
- ความผันผวนของระดับฮอร์โมน ในช่วงนี้ระดับฮอร์โมนยังผันผวนได้
- การเปลี่ยนแปลงระบบทางเดินอาหาร ขนาดตัวของลูกน้อยอาจจะมีผลไปสร้างแรงผลัก กดและดันที่กระเพาะอาหารและลำไส้ พอแน่น ๆ จุก ๆ ก็เลยเกิดอาการคลื่นเหียนและอาเจียนได้
- พื้นที่ว่างในกระเพาะอาหาร พื้นที่ลดลงสืบเนื่องจากมีพื้นที่ให้กระเพาะอาหารขยายตัวน้อยลง
การจัดการอาการแพ้ท้องในแม่อายุครรภ์ 30 สัปดาห์
- การปรับเปลี่ยนอาหาร ทั้งปริมาณและประเภท คุณแม่ควรเลือกรับประทานอาหารมื้อเล็ก ๆ บ่อยครั้ง เครื่องดื่มแนะนำให้เป็นพวกเครื่องดื่มที่ผสมขิงหรือเปปเปอร์มินต์ จะช่วยคุณแม่ได้
- จัดท่านั่งหรือยืนให้ตัวตรง เพราะช่วยป้องกันกรดไหลย้อน โดยอาจจะยืนเหยียดตัวตรงขึ้นมาหลังรับประทานอาหาร แต่ควรหลีกเลี่ยงการนอนราบลงแบบทันทีทันใด
- จัดการกับสิ่งที่มากระตุ้น ลองสังเกตและระบุหา เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นพวกนั้นได้ อาจจะเป็นกลิ่นฉุน หรือทั้งกลิ่น รส และลักษณะของอาหารบางชนิด
- พักผ่อน คุณแม่ควรพักผ่อนให้เพียงพอ และควรยกศีรษะขึ้นขณะนอนหลับ
- ปรึกษาคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ควรขอคำแนะนำหากอาการแพ้ท้องกลับมาอีก หรือรู้สึกแย่เพราะอาการที่เผชิญ
อาการอื่น ๆ ทั่วไปที่คุณแม่ท้อง 30 สัปดาห์อาจเจอ
ขณะที่ลูกน้อยของคุณแม่เติบโตและพัฒนาอย่างต่อเนื่องในท้องนั้น ร่างกายของคุณแม่จะมีการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ควบคู่กันไป มาสำรวจอาการไม่สบายทั่วไปที่คุณแม่อายุครรภ์ 30 สัปดาห์มักจะพบเจอกัน
1. จุกเสียดท้อง
อาการเสียดท้อง ทำให้ไม่สบายตัว มีลักษณะอาการคือแสบร้อนที่หน้าอกหรือลำคอ เพราะมดลูกขยายตัว และดันเบียดกระเพาะอาหาร ทำให้กรดในกระเพาะอาหารไหลกลับเข้าไปในหลอดอาหาร เพราะแบบนั้นจึงรู้สึกเสียดท้องรวมถึงอาหารไม่ย่อยได้ หากต้องการบรรเทาอาการ ให้คุณแม่ลองรับประทานอาหารมื้อเล็ก ๆ บ่อยขึ้นอย่างที่แนะนำไว้ก่อนแล้วขั้นต้น เพิ่มเติมคือคุณแม่ควรหลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ดหรือมีความเป็นกรด และที่สำคัญ แนะนำให้ยืนขึ้นตัวตรงหลังรับประทานอาหาร
2. เท้าบวม
อาการบวมหรือบวมน้ำเป็นเรื่องปกติที่เจอได้ตลอดในการตั้งท้อง ปริมาตรและความดันเลือดที่เพิ่มขึ้นในหลอดเลือดอาจทำให้เกิดการกักเก็บของเหลวขึ้นที่อวัยวะบางจุดทั่วไปก็คือ เท้าและข้อเท้าจะบวมได้ เพื่อลดอาการบวม ให้ยกขาขึ้นสูงทุกครั้งที่เป็นไปได้ หารองเท้าที่สวมใส่สบายและรองรับน้ำหนักได้ดีก็จะช่วยลดความรู้สึกไม่สบายเท้าลงได้ด้วย
3. เส้นเลือดขอดที่ขา
เส้นเลือดขอดมีลักษณะเป็นหลอดเลือดดำบิดและขยายใหญ่ขึ้น เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่พบบ่อยในคุณแม่มีน้อง มดลูกกำลังเติบโตจะกดดันหลอดเลือดในอุ้งเชิงกราน แล้วไปขัดขวางการไหลเวียนของเลือดจากขา เป็นเหตุให้เป็นเส้นเลือดขอด การสวมถุงน่องแบบรัดกล้ามเนื้อ พยายามทำกิจกรรมที่ต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และการยกขาขึ้นพักบ่อย ๆ จะช่วยบรรเทาอาการนี้ได้
4. นอนไม่หลับ
พอท้องโตขึ้น คุณแม่ต้องอึดอัดและนอนไม่ค่อยหลับ เพื่อปรับปรุงคุณภาพการนอน แนะนำว่าลองหันมาใช้หมอนเสริมรองรับสรีระร่างกายขณะนอน เอาให้นอนสบาย และจัดตารางการนอนหลับให้สม่ำเสมอ
5. ปัสสาวะบ่อย
การไปเข้าห้องน้ำบ่อยครั้งไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ลูกน้อยและมดลูกของคุณแม่กำลังเบียดกับกระเพาะปัสสาวะอยู่ แต่การที่ปัสสาวะบ่อย ร่างกายอาจจะขาดน้ำได้ คุณแม่หมั่นจิบหรือดื่มน้ำบ่อย ๆ จะได้ช่วยให้เกิดความชุ่มชื้นต่อร่างกาย ในช่วงเย็นก็คอยระวังจำกัดปริมาณน้ำที่ดื่ม เพราะถ้าจำกัดน้ำเฉพาะในเวลาเย็น ก็จะช่วยลดการตื่นในเวลากลางคืนได้ด้วย
ท้อง 30 สัปดาห์ ท้องจะใหญ่ขึ้นแค่ไหน
สัปดาห์ที่ 30 ของการตั้งท้อง ขนาดหน้าท้องของคุณแม่มักเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก และผลที่เกิดขึ้นคือไม่ว่าคุณแม่หรือคนรอบข้างก็สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงนี้ และคุณแม่จะรู้สึกได้ถึงน้ำหนักและแรงกดทับที่ตัว
- การเจริญเติบโตของมดลูก ระยะห่างจากกระดูกหัวหน่าวถึงด้านบนของมดลูก ระยะที่เหมาะสมอยู่ที่ประมาณ 28-32 เซนติเมตร ระยะนี้เรียกว่าเป็นความสูงของมดลูก ใช้เพื่อติดตามการเจริญเติบโตและตำแหน่งของทารก
- การเปลี่ยนแปลงที่มองเห็นได้ หน้าท้องจะกลมและโด่งขึ้น น้ำหนักเพิ่มขึ้น ดังนั้นจุดศูนย์ถ่วงของร่างกายอาจเปลี่ยนแปลงส่งผลต่อสมดุล
- แรงกดจากมดลูก และอาการไม่สบายตัว แรงกดดันต่อกระเพาะอาหารและกะบังลมจากขนาดของมดลูก อาจทำให้เกิดอาการเสียดท้องตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้น และอาจหายใจไม่สะดวกด้วย เพราะพื้นที่ให้ปอดขยายตัวก็ลดลง มีแรงกดเพราะน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นต่อกระดูกเชิงกรานและช่องท้องส่วนล่างด้วย
ท้อง 30 สัปดาห์ ลูกในครรภ์จะตัวใหญ่แค่ไหน
ขนาดของทารก มีขนาดประมาณกะหล่ำปลีขนาดใหญ่ เมื่ออายุครรภ์ 30 สัปดาห์ ลูกน้อยของคุณแม่มีการพัฒนาที่น่าประทับใจอย่างต่อเนื่อง มักมีน้ำหนักประมาณ 1.3 กิโลกรัม และความยาวประมาณ 40 เซนติเมตร เป็นตัวเลขวัดจากศีรษะถึงปลายเท้า ทารกกำลังเติบโตและพัฒนาไปอย่างสมบูรณ์แข็งแรง
พัฒนาการของทารกในครรภ์อายุ 30 สัปดาห์
- เริ่มมีสีผิว
- สมองพัฒนาขึ้น
- ดวงตาเปิดกว้าง
- มีผมขึ้นจำนวนมาก
การดูแลตัวเอง สำหรับคุณแม่ท้อง 30 สัปดาห์
- นัดหมายตรวจสุขภาพ ไปพบหมอตามนัดเป็นประจำ เพื่อจะติดตามสุขภาพและพัฒนาการของลูกน้อยให้อุ่นใจ หากมีข้อกังวลหรือความไม่สะดวกสบายใด ๆ ก็บอกกับคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ที่ดูแลคุณแม่ได้เลย
- โภชนาการที่สมดุล รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เพื่อสนับสนุนสุขภาพแข็งแรงของทั้งคุณแม่และลูกน้อย นอกจากรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ก็ควรมุ่งเน้นไปที่ธัญพืชไม่ขัดสี โปรตีนไร้ไขมัน ผลไม้ ผัก และผลิตภัณฑ์จากนม
- ดื่มน้ำรักษาความชุ่มชื้น จิบหรือดื่มน้ำตลอดวัน เพราะว่าคุณแม่เข้าห้องน้ำบ่อย อาจจะเกิดภาวะขาดน้ำได้
- การพักผ่อนอย่างเพียงพอ ฟังสัญญาณของร่างกาย จัดลำดับความสำคัญในการพักผ่อน ให้ความสำคัญที่จะพักผ่อนให้เพียงพอ เป็นห่วงคุณแม่เหนื่อยหรือยุ่งกับธุระระหว่างวันจนลืมพักผ่อนไป เวลาล้มตัวลงนอน เพื่อให้สบายตัว ลองใช้หมอนเพิ่มเติมเพื่อรองรับน้ำหนักขณะนอนหลับ อาจจะพิจารณาหาช่วงเวลาสั้น ๆ เพื่องีบหลับสั้น ๆ ในระหว่างวันเพื่อให้สดชื่น
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ สามารถทำโยคะในท่าที่ปรึกษาคุณหมอแล้วว่าเหมาะสมกับคุณแม่ ไปว่ายน้ำ หรือเดินออกกำลัง การออกกำลังกายเป็นประจำสามารถช่วยจัดการกับความรู้สึกไม่สบาย ลดความเครียด และรักษาน้ำหนักทำให้สุขภาพโดยรวมแข็งแรง
คุณแม่อย่าลืมให้ความสำคัญกับการดูแลตัวเอง การตรวจสุขภาพเป็นประจำตามนัด การรับประทานอาหารสำหรับคนท้อง ที่สมดุลครบ 5 หมู่ มีทั้งคาร์โบไฮเดต โปรตีน ไขมัน เกลือแร่ หรือวิตามิน รวมถึงอาหารที่เสริมสร้างสุขภาพลูกรักไปพร้อมกับคุณแม่ เช่น อาหารที่มีสฟิงโกไมอีลินที่พบได้ในผลิตภัณฑ์จากนม ไข่ ครีม ชีส เป็นต้น มารับประทานเพิ่มเติมระหว่างวัน ดื่มน้ำสะอาด และพักผ่อนให้เพียงพอ การจัดช่วงเวลาและทำกิจกรรมดี ๆ เหล่านี้ เป็นการให้ที่ดีแก่ทั้งตัวคุณแม่และลูกรัก ในการเดินทางที่น่าตื่นเต้นเพื่อการมาถึงของลูกน้อย
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
- อายุครรภ์ 31 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 31 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
- อายุครรภ์ 32 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 32 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
- อายุครรภ์ 33 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 33 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
- อายุครรภ์ 34 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 34 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
- อายุครรภ์ 35 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 35 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
อ้างอิง:
- 30 weeks pregnant, BabyCenter
- Pregnancy: 29 - 32 weeks, News Medical
- Third Trimester Nausea & Morning Sickness: Causes & Treatment, Zaya
- Nausea and vomiting in pregnancy, Fraser Health
- Pregnancy Discomforts, Cleveland Clinic
- Pregnancy Week by Week, The Bump
- พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 30, hellokhunmor
- Week 30 of Your Pregnancy, Verywell Family
อ้างอิง ณ วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2567