มีลูกตอน 40 อันตรายไหม ควรมีลูกตอนอายุเท่าไหร่ดี
ควรมีลูกตอนอายุเท่าไหร่ถึงจะดี มีลูกตอนอายุ 40 ช้าเกินไปไหม คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุมาก มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางพันธุกรรม และเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อลูกน้อยในครรภ์มากกว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุน้อย ดังนั้น ควรมีการวางแผนการตั้งครรภ์ และได้รับการดูแลก่อนตั้งครรภ์ และขณะตั้งครรภ์อย่างดี เข้าพบสูติแพทย์ตรงตามนัดทุกเดือน และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
สรุป
- ตามหลักทางการแพทย์ผู้หญิงที่อายุ 20-35 ปี เป็นช่วงที่มีสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง หากมีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไปแล้ว อาจมีความเสี่ยง หรือภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เกิดขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์ แต่ในยุคปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น ทำให้ผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไปสามารถตั้งครรภ์ได้
- การตั้งครรภ์ มีลูกแบบวิธีธรรมชาติในตอนอายุ 40 ปี จะมีความเป็นไปได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับสุขภาพความสมบูรณ์แข็งแรงของทั้งผู้ชายและผู้หญิง หากไม่สามารถตั้งครรภ์ มีลูกได้ตามธรรมชาติ สามารถใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ช่วยให้ตั้งครรภ์ได้ ด้วยการปรึกษาสูติแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อตรวจวินิจฉัยถึงสาเหตุที่แท้จริง และแก้ไขด้วยวิธีที่เหมาะสมต่อไป
- ผู้หญิงมีอายุที่มากขึ้น เซลล์ไข่จะฝ่อตัวลง หรือเสื่อมสภาพลงไป ทำให้คุณภาพของไข่ และจำนวนไข่นั้นลดลง โอกาสในการปฏิสนธินั้นจึงน้อยลง เมื่ออายุมากขึ้นการฝังตัวของรกจะเสื่อมสภาพ อาจทำให้ทารกในครรภ์ตัวเล็ก น้ำหนักน้อยกว่าปกติ เสี่ยงทำให้คลอดก่อนกำหนด รวมทั้งอาจมีภาวะ หรือโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ เกิดขึ้นระหว่างที่ตั้งครรภ์อีกด้วย
เลือกตามหัวข้อ
- ผู้หญิงควรมีลูกตอนอายุเท่าไหร่ ให้แข็งแรงทั้งแม่และลูก
- มีลูกตอนอายุ 40 เป็นไปได้แค่ไหน
- มีลูกตอนอายุ 40 มีความเสี่ยงเรื่องอะไรบ้าง
- อยากมีลูกตอนอายุ 40 ควรเตรียมตัวยังไง
- มีลูกตอนอายุมากแล้ว ส่งผลอะไรได้บ้าง
- ก่อนตัดสินใจมีลูก ควรคำนำถึงเรื่องอะไรบ้าง
- ตั้งท้องตอนอายุน้อย ลูกจะมีพัฒนาการดีกว่าจริงไหม
ผู้หญิงควรมีลูกตอนอายุเท่าไหร่ ให้แข็งแรงทั้งแม่และลูก
ช่วงอายุที่ผู้หญิงควรจะมีลูกตามหลักการแพทย์แล้ว คือ ช่วงอายุ 20-35 ปี เพราะเป็นช่วงที่ผู้หญิงจะมีสุขภาพ ร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง แต่หากมีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไปแล้ว จะอยู่ในกลุ่มของคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยง แต่ในยุคปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น ทำให้ผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไปสามารถตั้งครรภ์ได้
มีลูกตอนอายุ 40 เป็นไปได้แค่ไหน
ในปัจจุบันนี้การดำเนินชีวิตของแต่ละคนนั้นเปลี่ยนไป ทำให้คู่รักหลายคู่แต่งงานช้าจนเลยวัย 35 ปีไปแล้ว การตั้งครรภ์แบบวิธีธรรมชาติในตอนอายุ 40 จะมีความเป็นไปได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับสุขภาพความสมบูรณ์แข็งแรงของทั้งผู้ชายและผู้หญิง ผู้ชายนั้นควรมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง มีอสุจิที่แข็งแรงและมีปริมาณมากพอ
ส่วนผู้หญิงนั้นไม่ควรมีภาวะผิดปกติทางมดลูกหรือรังไข่ ท่อรังไข่ต้องไม่ตัน มีเซลล์ไข่ หรือรังไข่ที่มีคุณภาพ และปริมาณมากพอที่จะเกิดการปฏิสนธิได้ งดสูบบุหรี่ และงดดื่มแอลกอฮอล์ จะช่วยให้มีโอกาสตั้งครรภ์มากยิ่งขึ้น หากไม่สามารถตั้งครรภ์ตามธรรมชาติได้ ก็อาจสามารถใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ด้วยการปรึกษาสูติแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อตรวจวินิจฉัยและแก้ไขด้วยวิธีที่เหมาะสมที่ช่วยให้ตั้งครรภ์ได้
มีลูกตอนอายุ 40 มีความเสี่ยงเรื่องอะไรบ้าง
เมื่อผู้หญิงมีอายุมากขึ้น เซลล์ไข่จะฝ่อตัวลงหรือเสื่อมสภาพลงไป คุณภาพของไข่และจำนวนไข่จึงลดลง ทำให้โอกาสในการปฏิสนธินั้นน้อยลง ตัวอ่อนอาจไม่ฝังตัว เสี่ยงต่อการแท้งลูก ตัวอ่อนที่เกิดจากการปฏิสนธิอาจมีความเสี่ยงต่อการแบ่งเซลล์ผิดปกติ เมื่ออายุมากขึ้นการฝังตัวของรกจะเสื่อมสภาพ อาจทำให้ทารกในครรภ์ตัวเล็ก น้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ เสี่ยงทำให้คลอดก่อนกำหนด รวมทั้งอาจมีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เกิดขึ้นระหว่างที่ตั้งครรภ์ เช่น ครรภ์เป็นพิษ เบาหวานขณะตั้งครรภ์ รวมถึงทำให้มีโอกาสเสี่ยงเป็นดาวน์ซินโดรมมากขึ้น
อยากมีลูกตอนอายุ 40 ควรเตรียมตัวยังไง
ในยุคนี้ คู่รักแต่งงานช้าลง และตั้งครรภ์เมื่ออายุมากขึ้น การตั้งครรภ์ในปัจจุบันที่เทคโนโลยีทางการแพทย์มีการพัฒนาไปมาก ทำให้อายุที่มากอาจยังสามารถตั้งครรภ์ได้ แต่ควรมีการวางแผน เตรียมความพร้อม และเตรียมตัวให้ดี เช่น
- ปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจสุขภาพ ตรวจหาความผิดปกติ ประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น และวางแผนการตั้งครรภ์
- งดสูบบุหรี่ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะทั้งสารพิษจากบุหรี่และแอลกอฮอล์ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คู่รัก ทั้งหญิงและชายเกิดภาวะมีบุตรยาก
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควรออกกำลังกายเบา ๆ เช่น การเดินอย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน
- กินอาหารที่มีประโยชน์ ครบทั้ง 5 หมู่ เพื่อบำรุงทั้งก่อนตั้งครรภ์และระหว่างตั้งครรภ์ เน้นผัก ผลไม้ โปรตีน นม และอาจเสริมด้วยแคลเซียม ธาตุเหล็ก กรดวิตามินโฟลิก หรือโฟเลต ตามที่แพทย์แนะนำ เพื่อลดความเสี่ยงความพิการทางสมองของทารก ช่วยระบบโครงสร้างสมองของทารก
- พักผ่อนให้เพียงพอ นอนหลับประมาณ 8-10 ชั่วโมง เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และอาจหาเวลาว่างช่วงบ่าย ๆ เพื่องีบสัก 1 ชั่วโมง
- หากิจกรรมผ่อนคลายทำ เพื่อลดความกังวล ความเครียด ความกดดันของตัวเอง เพราะความเครียดมีผลต่อการหลั่งฮอร์โมนในระบบสืบพันธุ์
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพ เพื่อลดความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนในการตั้งครรภ์ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง รวมถึงความเสี่ยงในการแท้งลูก
มีลูกตอนอายุมากแล้ว ส่งผลอะไรได้บ้าง
การตั้งท้องตอนอายุมาก มีโอกาสที่จะเพิ่มความเสี่ยงทางสุขภาพต่าง ๆ ให้ทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์ ยิ่งตั้งครรภ์เมื่ออายุมากขึ้น ก็จะยิ่งมีความเสี่ยงสูงมากขึ้น ดังนี้
- ผลต่อแม่ คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี เมื่อตั้งครรภ์จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์มากกว่าคนทั่วไปถึง 2 เท่า เมื่อเทียบกับผู้หญิงอายุ 20 ปี
- ผลต่อลูก อาจเสี่ยงต่อการเป็นดาวน์ซินโดรม ยิ่งคุณแม่อายุมากขึ้นเท่าไหร่ ลูกจะมีโอกาสเสี่ยงดาวน์ซินโดรมมากขึ้นเท่านั้น เนื่องจากดาวน์ซินโดรมมีความสัมพันธ์กับอายุของคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มากขึ้น คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี มีโอกาสที่ลูกจะเป็นดาวน์ซินโดรมได้ถึง 1 ใน 350
ก่อนตัดสินใจมีลูก ควรคำนำถึงเรื่องอะไรบ้าง
ก่อนตัดสินใจมีลูกควรศึกษาไตร่ตรองให้รอบคอบ ให้ความสำคัญกับการวางแผนก่อนการตั้งครรภ์ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นคุณพ่อคุณแม่ที่เต็มไปด้วยคุณภาพ สร้างครอบครัวที่สมบูรณ์ ลดปัญหาต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับลูกและคนในครอบครัว ดังนี้
1. ค่าใช้จ่าย
เมื่อมีลูกภาระค่าใช้จ่ายก็เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม การวางแผนเรื่องการเงิน เก็บออมเงินเพื่อเป็นค่าเลี้ยงดู ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของลูกจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมีการวางแผนให้ดี
2. ความพร้อมของร่างกาย
ตรวจสุขภาพตัวเองให้ดีว่าร่างกายแข็งแรงพร้อมมีลูกหรือเปล่า มีโรคประจำตัว หรือมีภาวะเสี่ยงต่อโรคที่จะส่งผลอันตรายต่อทารกในครรภ์หรือไม่ เช่น โรคทางพันธุกรรม โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูงเรื้อรัง โรคเลือดจาง ธาลัสซีเมีย เป็นต้น
3. เวลาในการเลี้ยงดู
เมื่อมีลูก เวลาอิสระส่วนตัวของสามีและภรรยาจะเปลี่ยนไป เพราะต้องทุ่มเทเวลาทั้งหมดเพื่อการดูแลเอาใจใส่ลูกน้อยอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา
ตั้งท้องตอนอายุน้อย ลูกจะมีพัฒนาการดีกว่าจริงไหม
โดยปกติแล้วเด็กฉลาด มีพัฒนาการดีจะมาจาก 3 สิ่งนี้ คือ พันธุกรรม การเตรียมตัวระหว่างตั้งครรภ์ การกระตุ้นพัฒนาการหลังจากคลอดลูก วิธีที่สามารถช่วยให้ลูกฉลาด มีพัฒนาการดีได้ มีดังนี้
- พูดคุยกับลูกในครรภ์บ่อย ๆ อ่านหนังสือแนวเชิงบวกให้ลูกฟัง เล่านิทานให้ลูกฟัง การพูดคุยกับลูกจะช่วยพัฒนาการสมองให้ลูกได้
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ และอาหารที่มีกรด ARA พบได้ในน้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันข้าวโพด น้ำมันพืช น้ำมันดอกคำฝอย กรด DHA พบได้ในสาหร่ายทะเล ปลา ปลาทะเล
- ทานกรดโฟลิก ห้ามขาด กรดโฟลิก จะช่วยลดความผิดปกติของสมองลูกได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ทานต่อเนื่องก่อนตั้งครรภ์และหลังตั้งครรภ์ มากกว่า 400 ไมโครกรัมต่อวัน
- ส่องไฟที่หน้าท้อง ในช่วงอายุครรภ์ตั้งแต่ 7 เดือน ลูกจะเริ่มตอบสนองต่อแสงไฟ และสามารถกระพริบตาได้ ช่วยกระตุ้นให้เส้นประสาทส่วนรับภาพ การมองเห็น และเซลล์สมอง มีการพัฒนาที่ดีขึ้น
- ลูบท้องเป็นวงกลม หรือลูบจากล่างขึ้นบน เพราะมือของคุณแม่ที่สัมผัสท้อง จะช่วยส่งผ่านสัมผัสความรักจากแม่ไปสู่ระบบประสาทของลูก ช่วยกระตุ้นระบบประสาท เสริมสร้างความผูกพันระหว่างแม่กับลูก ทำให้ลูกอบอุ่น
- หลีกเลี่ยงบุหรี่ แอลกอฮอล์ รวมถึงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ และน้ำอัดลม
- คุณแม่ตั้งครรภ์อารมณ์ดี อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี จะช่วยให้ทารกในครรภ์มีพัฒนาการสมองที่ดี เช่น ฟังเพลง เมื่อแม่อารมณ์ดี ผ่อนคลาย ทารกในครรภ์จะรู้สึกผ่อนคลายไปด้วย
- หากตั้งครรภ์ เมื่อมีอาการไม่สบายควรใช้ยาภายใต้คำสั่งของแพทย์เท่านั้น ห้ามซื้อยาทานเอง หรือหากมีปัญหาทางสุขภาพใด ๆ ควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจรักษาอย่างถูกวิธี
- ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ออกกำลังกาย ทารกเกิดการเคลื่อนไหวตาม ผิวกายไปกระแทกกับผนังด้านในของมดลูก ประสาทสัมผัสของลูกจะมีการพัฒนาดีขึ้น
การตั้งครรภ์เมื่ออายุมากในยุคปัจจุบัน แม้ว่าส่วนใหญ่ทารกจะคลอดออกมาแข็งแรง สมบูรณ์ปลอดภัย แต่คุณแม่ก็ไม่ควรชะล่าใจ คุณแม่ควรดูแลเอาใจใส่ ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำแพทย์ และหมั่นสังเกตตัวเองให้ดี หากพบว่ามีอาการผิดปกติ หรืออาการแทรกซ้อนทางสุขภาพใด ๆ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง และรับการรักษาอย่างทันท่วงที
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ผ่าคลอด
- Health check แบบประเมินสุขภาพของคุณแม่และพัฒนาการของลูกน้อย
- แผลผ่าคลอดอักเสบข้างใน คุณแม่เจ็บแผลผ่าตัดข้างใน อันตรายไหม
- เจ็บแผลผ่าตัดจี๊ด ๆ ปวดแผลผ่าคลอดหลังผ่าตัดคลอด อันตรายไหม
- ผ่าคลอดเจ็บไหม ผ่าคลอดดีไหม แม่ผ่าคลอดดูแลแผลผ่าคลอดยังไงดี
- คันแผลผ่าคลอด คุณแม่ทำยังไงดี พร้อมวิธีแก้อาการคันแผลผ่าคลอด
- ผ่าคลอดกินข้าวเหนียวได้ไหม คนท้องกินข้าวเหนียวได้ไหม
- คุณแม่ปวดหลังหลังคลอด อาการปวดหลังหลังผ่าคลอด อันตรายไหม
- วิธีดูแลรอยแผลผ่าคลอดสวย ให้รอยแผลผ่าคลอดเรียบเนียน ไม่นูนแดง
- ผ่าคลอดกินไข่ได้ไหม แม่หลังผ่าคลอดกินไข่ได้ไหม ห้ามกินอะไรบ้าง
- ท่านอนหลังผ่าคลอด ท่านอนคนผ่าคลอด คุณแม่นอนแบบไหนถึงดีที่สุด
- คุณแม่ผ่าคลอดห้ามยกของหนักกี่เดือน ผ่าคลอดยกของหนักได้ตอนไหน
อ้างอิง:
- อยากตั้งครรภ์ในวัย 40+ ต้องทำอย่างไร?, คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
- ตั้งครรภ์ตอนอายุมากเสี่ยงอย่างไร, โรงพยาบาลเพชรเวช
- มีลูกตอนอายุเท่าไหร่ดี วิธีเตรียมตัวและดูแลตัวเอง, HelloKhunmor
- เตรียมตัวตั้งครรภ์อย่างไร? ให้คุณแม่คลอดปลอดภัยและลูกน้อยแข็งแรงสมบูรณ์, โรงพยาบาลกรุงไทย
- ท้องอายุมาก…ยากอย่างไร, โรงพยาบาลสมิติเวช
- เสี่ยงแค่ไหนเมื่อเป็นแม่ตอนอายุมาก, โรงพยาบาลเจตนิน
- อยากมีลูกมีเรื่องอะไรบ้างที่ต้องคิดคิด, สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย (สวท) ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
- อยากให้ลูกฉลาด คุณแม่ตั้งครรภ์ควรทำตามวิธีนี้!, โรงพยาบาลพญาไท
- อยากกระตุ้นให้ลูกฉลาดตั้งแต่อยู่ในท้อง, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- 10 พฤติกรรมที่ส่งผลให้มีลูกยาก อยากมีลูกเช็กด่วน!!, โรงพยาบาลพญาไท
อ้างอิง ณ วันที่ 19 สิงหาคม 2567
บทความที่เกี่ยวข้อง