ฝากครรภ์ที่ไหนดี คุณแม่ฝากครรภ์ครั้งแรกมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่
หลังจากที่ทราบข่าวดีว่า กำลังจะมีน้อง คุณแม่มักจะรู้สึกตื่นเต้นดีใจจนทำอะไรไม่ถูก โดยเฉพาะการตั้งครรภ์ครั้งแรก ไม่รู้ว่าต้องฝากครรภ์อย่างไร ฝากท้องที่ไหนดี จริง ๆ แล้ว คุณแม่ควรฝากครรภ์ให้เร็วที่สุดหลังทราบว่าตั้งครรภ์ เพื่อให้แพทย์ได้ติดตามอาการ ดูแลสุขภาพของทั้งแม่และทารกในครรภ์อย่างใกล้ชิด แต่จะฝากครรภ์ที่ไหนดี การฝากครรภ์ครั้งแรกค่าใช้จ่ายประมาณเท่าไหร่ ต้องเตรียมตัวอย่างไร ในบทความนี้มี
สรุป
- เคล็ดลับเลือกฝากครรภ์ที่ไหนดี คุณแม่ควรเลือกสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐาน เดินทางได้สะดวก มีทีมแพทย์และพยาบาลผู้เชี่ยวชาญคอยให้การดูแล
- ฝากครรภ์ครั้งแรก ค่าใช้จ่ายจะขึ้นอยู่กับสถานพยาบาลที่คุณแม่เลือก หากเป็นคลินิกใกล้บ้านค่าบริการอาจไม่สูงนัก แต่หากเป็นโรงพยาบาลเอกชน อาจมีค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- ฝากครรภ์ที่ไหนดี ควรฝากครรภ์เมื่อไหร่
- ฝากครรภ์ครั้งแรกค่าใช้จ่ายเท่าไร ต้องตรวจอะไรบ้าง
- ฝากครรภ์ คุณแม่ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง
- ฝากครรภ์ สามีต้องไปด้วยทุกครั้งไหม
- เลือกฝากท้องที่ไหนดี ให้ได้สถานพยาบาลตรงใจ
- 6 สถานพยาบาลรับฝากครรภ์ สำหรับคุณแม่ท้อง
ฝากครรภ์ที่ไหนดี ควรฝากครรภ์เมื่อไหร่
กรมอนามัยแนะนำให้ฝากครรภ์ก่อน 12 สัปดาห์ และต้องฝากครรภ์อย่างน้อย 5 ครั้ง เพราะการฝากครรภ์เร็ว แพทย์จะสามารถคัดกรองความเสี่ยงได้ไว เมื่อผลออกมาว่ามีความเสี่ยง แพทย์จะได้ติดตามและดูแลคุณแม่เป็นพิเศษ รวมทั้งให้ข้อมูลที่สำคัญเพื่อให้คุณแม่ดูแลสุขภาพร่างกายตัวเองให้แข็งแรง ลดความเสี่ยงของโรคแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์
ปัจจุบันคุณแม่สามารถฝากครรภ์ได้หลายที่ แต่จะฝากครรภ์ที่ไหนดี ถึงจะตรงกับความต้องการมากที่สุด
คลินิกใกล้บ้าน
ข้อดีของการฝากครรภ์ที่คลินิกใกล้บ้าน คุณแม่สามารถเดินทางได้อย่างสะดวกสบาย โดยเฉพาะการฝากครรภ์แรก ที่ต้องพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายหลายอย่าง การฝากท้องที่คลินิกใกล้บ้าน หรือสถานพยาบาลที่อยู่ไม่ไกล ช่วยให้คุณแม่สะดวกเดินทางไปได้บ่อย ๆ ไม่ต้องรอตรวจนาน และหากมีปัญหาสุขภาพหรือต้องการคำปรึกษาอย่างเร่งด่วน ก็สามารถทำได้ทันที
โรงพยาบาลรัฐ
หากคุณแม่มีแพทย์ประจำตัวอยู่ที่โรงพยาบาลรัฐอยู่แล้ว การเลือกฝากท้องที่โรงพยาบาลรัฐ จะช่วยให้แพทย์ตรวจคัดกรองความเสี่ยงของร่างกายได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีประวัติการรักษาอยู่ก่อนแล้ว แต่การฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลรัฐ อาจใช้เวลาในการรอคิวนาน หรือต้องใช้เวลาในการเดินทาง หากสถานพยาบาลนั้นอยู่ไกลจากบ้าน
โรงพยาบาลเอกชน
การฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลเอกชน ที่มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ครบครัน สามารถตรวจรักษาได้อย่างละเอียดเช่นเดียวกับโรงพยาบาลรัฐ ใช้เวลารอคอยในการตรวจไม่นาน แต่ค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์จะสูงกว่าการฝากครรภ์ที่คลินิกใกล้บ้าน หรือโรงพยาบาลรัฐ
ฝากครรภ์ครั้งแรกค่าใช้จ่ายเท่าไร ต้องตรวจอะไรบ้าง
ค่าฝากครรภ์เท่าไรนั้น ขึ้นอยู่กับสถานพยาบาลที่เลือกรับบริการ โดยการฝากครรภ์ครั้งแรกมักจะมีค่าใช้จ่ายหลายรายการ เช่น ค่าปรึกษาสูติแพทย์ ค่าอัลตราซาวด์ ค่าตรวจปัสสาวะ ค่าเจาะเลือด ค่าวัคซีน และค่ายา ซึ่งค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์ครั้งแรกในโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน หรือคลินิกนั้นอาจมีค่าฝากครรภ์ที่แตกต่างกัน ในการฝากครรภ์ครั้งแรกจะมีการตรวจสุขภาพและให้วิตามินที่จำเป็น ดังนี้
1. ตรวจสุขภาพ
การฝากครรภ์ครั้งแรก แพทย์จะตรวจร่างกายคุณแม่ ชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูง สอบถามประวัติสุขภาพ โรคประจำตัว ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ และอัลตราซาวด์เพื่อยืนยันอายุครรภ์
2. ตรวจทางห้องปฏิบัติการ
แพทย์จะตรวจทางห้องปฏิบัติการตั้งแต่การฝากครรภ์ครั้งแรก เพื่อตรวจหาโรคต่าง ๆ เบื้องต้น เช่นโรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น ซิฟิลิสและเชื้อเอชไอวี ในการฝากครรภ์ยังตรวจคัดกรองภาวะเบาหวาน คัดกรองพาหะธาลัสซีเมีย และตรวจการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะด้วย
3. จ่ายยาบำรุงครรภ์ และวัคซีนสำหรับหญิงตั้งครรภ์
หลังจากตรวจสุขภาพแล้ว แพทย์จะพิจารณาจ่ายยาบำรุงครรภ์ให้ในการฝากครรภ์ครั้งแรก เช่น วิตามินโฟลิก สำหรับวัคซีนที่ควรได้รับในช่วงไตรมาสแรก แพทย์อาจแนะนำให้ฉีดวัคซีนโควิด19 ตั้งแต่อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ตั้งแต่อายุครรภ์ 14 สัปดาห์
คำแนะนำการดูแลสุขภาพร่างกายสำหรับหญิงตั้งครรภ์
คุณแม่ควรดูแลสุขภาพในทุกด้าน ทั้งการเลือกรับประทานอาหารสำหรับคนท้องที่มีประโยชน์ ฝากครรภ์อย่างต่อเนื่อง และพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง เพื่อให้แพทย์ได้ดูแลอย่างใกล้ชิด หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการฝากครรภ์ ทั้งเรื่องสุขภาพและค่าใช้จ่าย ควรปรึกษาบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและแม่นยำ
ฝากครรภ์ คุณแม่ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง
- บัตรประชาชน
- ประวัติและข้อมูลสุขภาพ กรณีมีโรคประจำตัว หรือประวัติการแพ้ยา ควรเตรียมเอกสารไปด้วยในกรณีที่ฝากครรภ์ครั้งแรกในคลินิก หากไม่ใช่สถานพยาบาลที่รักษาเป็นประจำ
ฝากครรภ์ สามีต้องไปด้วยทุกครั้งไหม
การฝากครรภ์ไม่จำเป็นต้องมากับสามีทุกครั้ง แต่ในการฝากครรภ์ครั้งแรกควรมาพร้อมกับสามี เพื่อตรวจคัดกรองโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่การฝากครรภ์ที่ไม่ต้องตรวจเลือดคุณพ่อ ก็ไม่จำเป็นต้องมาด้วยกัน แต่การมาฝากครรภ์เป็นคู่ จะช่วยให้คุณแม่รู้สึกสบายใจ การมีสามีมาช่วยพยุงและให้กำลังใจ จะช่วยให้คุณแม่รู้สึกดีขึ้นได้
เลือกฝากท้องที่ไหน ให้ได้สถานพยาบาลตรงใจ
1. สถานพยาบาลต้องได้มาตรฐาน
ไม่ว่าคุณแม่จะเลือกคลินิก โรงพยาบาลรัฐ หรือโรงพยาบาลเอกชน ควรศึกษาข้อมูลของสถานพยาบาลนั้นให้ดี โดยเลือกจากมาตรฐาน และประสบการณ์ของบุคลากรทางการแพทย์
2. เดินทางได้สะดวก
หากคุณแม่ลังเลว่าจะฝากครรภ์ที่ไหนดี ลองพิจารณาเรื่องความสะดวกในการเดินทาง เพราะในการตั้งครรภ์ต้องฝากครรภ์หลายครั้ง จึงควรเลือกสถานพยาบาลใกล้บ้านที่เดินทางได้สะดวก
3. แพทย์และทีมพยาบาลมีความเชี่ยวชาญ
คุณแม่ควรเลือกสถานพยาบาลที่มีทีมแพทย์และพยาบาลที่เชี่ยวชาญเรื่องการตั้งครรภ์ ซึ่งจะสามารถให้คำแนะนำได้อย่างถูกต้อง
4. มีสิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์ทางการแพทย์ครบครัน
ในการฝากครรภ์จำเป็นต้องตรวจดูสุขภาพร่างกายของคุณแม่อย่างละเอียด หากสถานพยาบาลมีสิ่งอำนวยความสะดวก และอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างครบครัน จะช่วยให้คุณแม่รู้สึกอุ่นใจได้
5. เปรียบเทียบค่าใช้จ่าย
ก่อนตัดสินใจว่าจะฝากครรภ์ที่ไหนดี ควรเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์แต่ละครั้ง หรือค่าแพ็กเกจฝากครรภ์ ให้ได้ตัวเลขที่เหมาะสมตรงกับความต้องการของคุณแม่
6. รีวิวจากคุณแม่ด้วยกัน
หากมีเพื่อนหรือคนใกล้ตัวเคยตั้งครรภ์ สามารถขอคำแนะนำและสอบถามถึงสถานพยาบาลที่รับฝากครรภ์ เพราะคุณแม่ด้วยกันจะเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน รวมทั้งช่วยกันวิเคราะห์หาสถานที่ที่ตรงใจคุณแม่ที่สุด
7. เลือกสถานพยาบาลที่มีบริการฝากครรภ์เสี่ยง
ควรเลือกสถานพยาบาลที่มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย ดูแลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ กรณีเกิดภาวะครรภ์เสี่ยงสามารถดูแลคุณแม่ พร้อมทั้งให้คำปรึกษาที่เหมาะสมได้
8. ตรวจสิทธิประกันสุขภาพ
คุณแม่ควรตรวจสิทธิประกันสุขภาพหรือสิทธิประกันสังคม เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์ เช่น สถานพยาบาลที่ไม่ต้องสำรองจ่ายค่าฝากครรภ์
9. ความสบายใจของคุณแม่เอง
หากพิจารณาครบถ้วนทุกข้อแล้ว ให้เลือกตามความสบายใจของคุณแม่ อาจเลือกสถานพยาบาลใกล้บ้านเดินทางสะดวก หรือเลือกโรงพยาบาลรัฐที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พิจารณาจากความต้องการของคุณแม่เองจะดีที่สุด
6 สถานพยาบาลรับฝากครรภ์ สำหรับคุณแม่ท้อง
ตัวอย่างโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ในกรุงเทพ ฯ ซึ่งน่าจะเป็นสถานพยาบาลที่คุณแม่หลายคนไว้วางใจในการฝากครรภ์ เนื่องจากทีมแพทย์มากด้วยประสบการณ์ มีเครื่องมือทางการแพทย์และอุปกรณ์ทันสมัย สามารถตรวจวิเคราะห์ครรภ์เสี่ยง และช่วยดูแลสุขภาพร่างกายคุณแม่ได้อย่างดี เช่น
- โรงพยาบาลรามาธิบดี
- โรงพยาบาลศิริราช
- โรงพยาบาลวชิรพยาบาล
- โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
- โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
- โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
การเลือกสถานพยาบาลในการฝากครรภ์ที่ไหนดี ควรพิจารณาค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์ ความสะดวกสบายในการเดินทางไปฝากครรภ์ เลือกสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐาน มีทีมแพทย์พยาบาลผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้คุณแม่รู้สึกอุ่นใจและเชื่อมั่นในการฝากครรภ์
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่
- Health check แบบประเมินสุขภาพของคุณแม่และพัฒนาการของลูกน้อย
- ไอเดียตั้งชื่อมงคล ตั้งชื่อลูกตามวันเกิด เสริมความเป็นสิริมงคล
- ไอเดียชื่อจริง ชื่อเล่นภาษาอังกฤษลูกสาว อัพเดทล่าสุด
- โปรแกรมคำนวณวันไข่ตก เช็กวันไข่ตกคุณแม่มือใหม่
- โปรแกรมคํานวณอายุครรภ์คุณแม่ คำนวณวันครบกำหนดคลอด
- โปรแกรมคำนวณน้ำหนักคนท้อง แต่ละไตรมาสน้ำหนักควรเพิ่มเท่าไหร่
- คุณแม่ตั้งครรภ์เบิกค่าฝากครรภ์ได้กี่บาท มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง
- วิธีเช็คผลอนุมัติเงินค่าคลอดบุตร สมทบบุตร สิทธิประกันสังคมมาตรา 33
- เบิกค่าคลอดประกันสังคมได้เท่าไหร่ คุณแม่ท้องมีสิทธิเบิกอะไรได้บ้าง
- แจ้งเกิดภายในกี่วัน เอกสารแจ้งเกิดมีอะไรบ้าง รวมทุกคำตอบที่ควรรู้
- ผ่าคลอดโรงพยาบาลรัฐดีไหม แพงหรือเปล่า คุณแม่ใช้สิทธิอะไรได้บ้าง
อ้างอิง:
- ฝากครรภ์เร็ว ฝากครรภ์คุณภาพ ฝากก่อน 12 สัปดาห์, กรมอนามัย
- กรมอนามัย ย้ำแม่ท้องต้องฝากครรภ์ ชี้ ฝากช้าเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต, กรมอนามัย
- ฝากครรภ์ที่ไหนดี 2567, โรงพยาบาลเพชรเวช
- ฝากครรภ์: เตรียมความพร้อมเพื่อสุขภาพที่ดีของทารก, โรงพยาบาลศิครินทร์
- การดูแลสุขภาพระหว่างตั้งครรภ์ สุขภาพดีทั้งคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์, โรงพยาบาลศิครินทร์
- “วัคซีนจำเป็น” สำหรับผู้หญิงวางแผนก่อนตั้งครรภ์ และขณะตั้งครรภ์, โรงพยาบาลนครธน
- โรงเรียนแพทย์ในประเทศที่แพทยสภารับรอง ทั้งหมด 28 แห่ง, แพทยสภา
อ้างอิง ณ วันที่ 13 ตุลาคม 2567
บทความที่เกี่ยวข้อง