ลูกหัวแบน ทำยังไงดี พร้อมวิธีแก้ไขเมื่อทารกหัวแบน
คุณแม่มือใหม่ มักมีความกังวลเรื่องลูก หัวแบน หรือ หัวเบี้ยว อาการเหมือนทรงหัวไม่เท่ากัน กังวลว่าลูกโตมาจะมีปัญหาหรือเปล่า แม้ส่วนใหญ่แล้ว ภาวะลูกหัวแบนจะมักไม่ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของสมอง และพัฒนาการด้านสติปัญญาของเด็ก แต่เด็กที่มีภาวะหัวแบนมักมีภาวะคอเอียงร่วมด้วย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการเจริญเติบโตของเด็กได้ คุณพ่อคุณแม่ที่พบว่าลูกหัวแบนที่ค่อนข้างรุนแรง ควรพาลูกไปปรึกษาแพทย์ ลูกหัวแบนอาจเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น การนอนอยู่ท่าเดียวหรือหันข้างเดียวนาน ๆ หรืออาจจะเพราะสาเหตุอื่น ๆ
สรุป
- อาการหัวแบนไม่ใช่ความผิดปกติที่จะมีผลต่อการพัฒนาสมอง อาศัยขยันจัดท่าทางของลูกทั้งยามนอนและพาไปไหนด้วย สามารถป้องกันหรือแก้ไขได้
- ภาวะลูกหัวแบนนั้น มีปัญหามาจากกระดูกที่มาประกอบกันเป็นกะโหลกศีรษะของทารกมีการเชื่อมติดกันผิดปกติก่อนวัย จึงส่งผลให้กระดูกกะโหลกศีรษะของทารกเกิดการผิดรูป ในทางการแพทย์เรียกภาวะนี้ว่า ภาวะกะโหลกศีรษะเชื่อมติดผิดปกติ (Craniosynostosis) ซึ่งเป็นภาวะที่ควรได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรง หากคุณแม่นั้นมีความกังวลในเรื่องสุขภาพของลูก อาจพาลูกน้อยไปให้คุณหมอช่วยยืนยันว่าอาการหัวแบนที่เห็น ว่ามีผลกระทบ หรือเป็นอันตรายหรือเปล่า
- หากพบว่าลูกหัวแบน คุณพ่อคุณแม่อาจลองเปลี่ยนทิศ เปลี่ยนท่าทางการหันศีรษะของลูกในขณะที่ลูกนอนหลับอยู่ ด้วยการจัดท่าให้ศีรษะฝั่งที่ไม่แบนแนบลงกับหมอนแทน แต่ต้องระวัดระวังไม่ให้ลูกนอนหลับในท่าคว่ำ เพราะท่านอนคว่ำอาจส่งผลให้ทารกเสี่ยงต่อภาวะ Sudden Infant Death Syndrome หรือเกิดโรคไหลตายได้ ส่วนระหว่างวันในขณะที่ลูกยังตื่นอยู่ ควรช่วยให้ลูกได้เปลี่ยนท่าทางการนอนบ่อย ๆ อาจจะให้เด็กอยู่ในท่านอนคว่ำตัวลง ท้องสัมผัสกับพื้น เพื่อเป็นการฝึกการชันคอของลูกด้วย หรืออุ้มลูกบ่อย ๆ และควรเปลี่ยนท่าให้นมลูกสลับกันไป เพื่อไม่ให้ลูกต้องอยู่ในท่าเดิม ๆ การจัดท่านอนที่เหมาะสมกับทารกนี้ สามารถช่วยป้องกันแก้ไขรูปทรงของศีรษะที่แบนได้
- หมอนที่สื่อโฆษณาว่าดูแลจัดการเรื่องลูกหัวแบนได้ ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ เพราะท่านอนที่ปลอดภัยสำหรับทารกแรกเกิดนั้น คือท่านอนหงายโดยไม่ต้องมีหมอนหนุนเลยนะคะ และช่วงอายุที่แนะนำให้ใช้หมอนอยู่ที่ 1 ปีครึ่ง หรือ 2 ปีขึ้นไปค่ะ
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- วิธีสังเกตว่าลูกหัวแบนหรือเปล่า
- ลูกหัวแบน เป็นอันตรายไหม
- ลูกหัวแบน เกิดจากการให้ลูกนอนท่าเดิมจริงไหม
- หัวแบน เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง
- ไม่อยากให้ลูกน้อยหัวแบน ป้องกันไว้ก่อนได้ไหม
- รวมเคล็ดลับและวิธีแก้ไข เมื่อลูกหัวแบน
- ทารกหัวแบนแบบไหน ต้องพาไปพบแพทย์
- ลูกหัวแบน ควรใช้หมอนแบบไหน
วิธีสังเกตว่าลูกหัวแบนหรือเปล่า
อาการหัวแบนในทางการแพทย์ สังเกตได้จาก
- จุดที่แบนบนหัว ด้านหลังหรือด้านข้าง
- มีขนบริเวณหนึ่งบนหัวที่น้อยลง เป็นสัญญาณเตือนถึงการกดแรง ๆ หรือทิ้งน้ำหนักบ่อยครั้งในจุดดังกล่าว
- หูหรือหน้าผาก ด้านหนึ่งของหัวมีการเติบโตยื่นออกมาเล็กน้อยด้านหน้า
ลูกหัวแบน เป็นอันตรายไหม
ลูกน้อยที่มีหัวแบนอาจไม่เป็นอันตราย อาการนี้โดยมากมีผลแค่กับรูปร่างของหัวเด็กค่ะ
ลูกหัวแบน เกิดจากการให้ลูกนอนท่าเดิมจริงไหม
- นั่นเป็น ‘ความจริง’ การวางลูกน้อยในท่าเดียวกันทุกวัน เช่น นอนหงายหลังหรือหันหัวไปทางขวาหรือซ้าย จะทำให้เกิดแรงกดต่อส่วนเดียวกันของกะโหลกอยู่เรื่อย ๆ ลูกน้อยมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอาการหัวแบน โดยในช่วงเริ่มแรกสี่เดือน ลูกน้อยยังไม่มีความสามารถในการพลิกตัวด้วยตัวเอง
- อย่างไรก็ตาม ก็ยังแนะนำให้คุณแม่วางลูกน้อยนอนหงายหลังเสมอเพื่อลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตที่เกิดจากการขาดอาการหายใจ
- อาจลองเปลี่ยนทิศทางการหันศีรษะของลูกในขณะที่ลูกนอนหลับ โดยการจัดท่าทางให้ศีรษะฝั่งที่ไม่แบนแนบกับหมอน แต่ไม่ควรให้ลูกนอนหลับในท่าคว่ำ เนื่องจากท่านอนคว่ำอาจส่งผลให้ทารกเสี่ยงที่จะหายใจไม่ออก หรือเสี่ยงต่อการเกิดโรคไหลตายได้
หัวแบน เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง
- ท่านอนที่ไม่มีการจัดเปลี่ยน นอนท่าเดียวเป็นเวลานาน
- ขนาดหัวของลูกน้อยขณะอยู่ในมดลูกมีขนาดใหญ่เลยโดนกล้ามเนื้อมดลูกบีบตัว
- ลูกน้อยที่คลอดก่อนกำหนดหรือผ่าคลอด มีกระดูกกะโหลกที่บางและนุ่มกว่าเด็กแรกเกิดที่คลอดตามกำหนด ดังนั้นจึงมีโอกาสเกิดหัวแบนสูงกว่า
- เครื่องมือที่ใช้ในการช่วยทำคลอด ออกแรงกดที่ส่งผลถึงรูปหัวของลูกน้อยของคุณแม่
- กล้ามเนื้อที่คอตึง อาจจะทำให้ยกคอลำบาก และนำไปสู่การหันด้านใดด้านหนึ่งอยู่เป็นปกติ ทำให้เกิดอาการหัวแบนได้
ไม่อยากให้ลูกน้อยหัวแบน ป้องกันไว้ก่อนได้ไหม
คุณแม่ไม่สามารถป้องกันการเกิดอาการหัวแบนจากทุกสาเหตุได้ แต่อย่างน้อยที่สุดคุณแม่สามารถจัดการกับท่านอนของลูกน้อยได้ เป็นวิธีป้องกันหัวแบนที่คุณแม่ทุกคนทำได้แน่นอนค่ะ
- เปลี่ยนด้านที่วางหน้าของลูกน้อยแนบในแต่ละวัน ทำสลับกันซ้ายบ้างขวาบ้าง
- หากไม่ได้รับคำแนะนำจากคุณหมอ ไม่ควรวางลูกน้อยในตอนหลับแบบคว่ำหน้า
- ภายใน 2-3 วันหลังคลอดสามารถจับลูกน้อยนอนคว่ำหน้าตอนที่ลูกน้อยตื่นได้ โดยจับลูกนอนคว่ำหน้า 3-5 นาทีต่อครั้ง แล้วสลับมานอนหงาย สลับไปสลับมาเป็นเวลา 40-60 นาทีต่อวันค่ะ
- เปลี่ยนท่าในการป้อนนมลูกจากที่ให้นอนบนแขนขวา ก็ให้สลับ ไปนอนบนแขนซ้ายแทนด้วยค่ะ
รวมเคล็ดลับและวิธีแก้ไข เมื่อลูกหัวแบน
ถ้าหัวแบนไปแล้วหรือดูทรงว่ากำลังจะมีลักษณะเช่นนั้น ก็ยังพึ่งพาการจัดท่าทางได้อยู่นะคะ แต่มีรายละเอียดเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
1. วิธีการปรับท่านอนของลูก
วางลูกน้อยให้หันศีรษะไปที่ด้านตรงข้ามของศีรษะที่แบนลง วางผ้าเช็ดหน้าหรือผ้าพันรอบไหล่รองตัวลูกด้านหลังและสะโพก วางลูกน้อยเอียงทำมุม 45 องศาเพื่อให้มองไปที่ของเล่นหรือวัตถุที่น่าสนใจด้านตรงข้ามเตียงซึ่งวางไว้เพื่อดึงดูดความสนใจ อย่าวางผ้าใต้ศีรษะรองศีรษะทั้งหมดของลูกรัก เพราะอาจทำให้หายใจไม่ออกได้
2. วิธีการป้องกันการกดแรงที่ศีรษะของลูก
เมื่อป้อนอาหารตามวัย หรืออุ้มพาเคลื่อนที่ ตรวจสอบให้แน่ใจว่าไม่มีการกดแรงโดยไม่จำเป็นที่ด้านที่แบนของศีรษะ ปรับเปลี่ยนท่าและด้านที่ลูกน้อยมีการพิงตัวอยู่ตลอดค่ะ
ทารกหัวแบนแบบไหน ต้องพาไปพบแพทย์
อาการหัวแบนตามที่กล่าวไปแล้ว แม้อาจไม่มีอันตราย แต่ถ้าคุณแม่กังวล ก็ไม่เสียหายที่จะพาลูกน้อยไปปรึกษากับคุณหมอโดยเฉพาะถ้าอาการหัวแบนไม่คุ้นตาหรือกังวลจริง ๆ เพราะยังมีความผิดปกติที่เรียกว่า Craniosynostosis ที่เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นตั้งแต่เกิดที่จะทำให้เกิดอาการหัวแบนได้ แต่ว่าศีรษะเบี้ยว หรือสภาพหัวเบี้ยว อาจพบได้ ในเด็กทุก ๆ 2,000 ถึง 2,500 คน จะมีโอกาสที่เด็กเกิดมาพร้อมกับอาการนี้หนึ่งคนค่ะ
ลูกหัวแบน ควรใช้หมอนแบบไหน
- ไม่มีหมอนที่ปลอดภัยจริง ๆ สำหรับลูกน้อย
- อายุที่เหมาะสำหรับการใช้หมอนจริง ๆ คือเมื่ออายุมากกว่า 2 ปี เมื่อลูกน้อยสามารถเคลื่อนที่ไปมา พลิกตัวเองได้โดยไม่จำเป็นต้องให้ผู้ใหญ่ช่วย
- คุณหมอแนะนำว่าให้วางลูกน้อยบนฟูกที่มีความแข็งอยู่ตัวโดยไม่มีหมอน
- ไม่มีหมอนที่ได้รับการยอมรับทางการแพทย์ว่าสามารถดูแลอาการหัวแบนได้จริง ๆ
- อาการหัวแบนเกิดขึ้นได้ และไม่มีความผิดปกติหลงเหลือให้เห็นในกรณีทั่วไปเมื่อโตขึ้น คุณแม่ไม่ต้องกังวลใจ เมื่อลูกน้อยโตพอแล้ว ค่อยหาหมอนที่เหมาะสมให้ลูก เน้นที่ขนาดเล็กพอเหมาะและมีความแน่น นอนได้สบาย
คุณแม่มั่นใจได้เลยนะคะว่าอาการหัวแบนไม่เกินกว่ากำลังคุณแม่จะจัดการดูแลเบื้องต้นด้วยตัวเอง โดยลงมือได้เลย เริ่มใส่ใจกับท่าทางของลูกน้อยระหว่างการนอนหลับ ส่งเสริมพัฒนาการความแข็งแรงของคอให้เจ้าตัวเล็ก ด้วยการปล่อยให้เขานอนคว่ำตัวลงตอนตื่นบ่อย ๆ แต่ถ้าสังเกตดูแล้วยังกังวลอยู่จริง ๆ ควรปรึกษาคุณหมอ ยิ่งเริ่มเร็วในการดูแลจัดท่าทางการนอนให้ก็จะยิ่งดี และหลีกเลี่ยงการใช้หมอนที่โฆษณาเกินจริง ก็จะทำให้สบายใจในทุก ๆ วันที่ใช้เวลาด้วยกันกับลูกค่ะ
บทความแนะนำสำหรับพัฒนาการลูกน้อย
- พัฒนาการเด็ก 1 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 2 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 3 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 4 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 5 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 6 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 7 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 8 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 9 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 10 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 11 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
อ้างอิง:
- An Overview of Flat Head Syndrome, Verywell Health
- Understanding Flat Head Syndrome (Plagiocephaly) in Babies, Healthline
- If Your Baby's Head Looks Flat, It Could Be A Treatable Condition Called Positional Plagiocephaly, ScienceDaily
- Is it safe to let a baby sleep with a pillow?, WebMD
- Do Not Use Infant Head Shaping Pillows to Prevent or Treat Any Medical, FDA
- ทำไมลูกหัวแบน ทำอย่างไรให้ลูกหัวสวย, pobpad
- กะโหลกศีรษะเชื่อมติดผิดปกติ (CRANIOSYNOSTOSIS), pobpad
- ความหมาย โรคไหลตายในเด็ก, pobpad
- ท่าให้นมลูกสำหรับคุณแม่มือใหม่, pobpad
- ควรเริ่มฝึกให้ ลูกนอนหนุนหมอน เมื่อไหร่ดี, hellokhunmor
อ้างอิง ณ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567
บทความที่เกี่ยวข้อง