เทคนิคการปั๊มให้เกลี้ยงเต้า พร้อมตารางปั๊มนมและวิธีปั๊มนมให้ลูก
น้ำนมแม่คือสุดยอดอาหารที่ดีที่สุดสำหรับลูกน้อยตั้งแต่แรกเกิด น้ำนมแม่มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด เช่น ดีเอชเอ วิตามิน แคลเซียม และสฟิงโกไมอีลิน รวมทั้งยังมีสารภูมิคุ้มกันและจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์หลายชนิดที่ลูกน้อยจำเป็นต้องได้รับตั้งแต่แรกเกิด ดังนั้นเพื่อทำให้น้ำนมแม่เกลี้ยงเต้ามากที่สุดเท่าที่จะทำได้ มีเทคนิคการปั๊มให้เกลี้ยงเต้า มาแนะนำให้ค่ะ
สรุป
- เทคนิคการปั๊มให้เกลี้ยงเต้า สามารถปั๊มนมได้ด้วยมือ และด้วยการใช้เครื่องปั๊มนม
- การปั๊มนมสามารถปั๊มได้ทันทีหลังคลอดลูก โดยที่คุณแม่ต้องปั๊มนมต่อวันให้ได้วันละ 8-10 ครั้ง หรือทุก 3 ชั่วโมง
- Power pumping คือวิธีปั๊มนมที่เลียนแบบการดูดนมของเด็กทารก ช่วยกระตุ้นเพิ่มน้ำนมให้มีต่อเนื่อง การปั๊มนมด้วยวิธี Power pumping ควรปั๊มให้ได้อย่างน้อยวันละ 1 รอบ ช่วงเวลาที่เหมาะกับการทำ Power pumping คือช่วง 02:00 -06.00 น.
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- การปั๊มนม ควรเริ่มทำเมื่อไหร่
- ข้อดีของการปั๊มนม
- ทารกต้องกินนมแม่ปริมาณเท่าไหร่
- แจกตารางปั๊มนม สำหรับทารกแต่ละช่วงวัย
- รวมเทคนิคการปั๊มให้เกลี้ยงเต้า
- วิธีปั๊มนมแบบ Power pumping คืออะไร
- การปั๊มนมแต่ละครั้ง ใช้เวลานานไหม
ช่วงแรกเกิดถึง 6 เดือน ควรให้ลูกได้กินนมแม่อย่างเดียว ในน้ำนมแม่จะมีสารอาหารที่สำคัญต่อพัฒนาการการเจริญเติบโตของร่างกาย พัฒนาการด้านสมองการเรียนรู้และจอประสาทตาของลูกน้อย ซึ่งการจะกระตุ้นให้ร่างกายของคุณแม่มีการผลิตน้ำนมได้อย่างเต็มที่ แนะนำกระตุ้นด้วยการให้ลูกเข้าเต้า และควบคู่ไปกับการปั๊มนม โดยเฉพาะการปั๊มนมในคุณแม่มือใหม่อาจพบว่าปั๊มนมได้ไม่เกลี้ยงเต้า ซึ่งปัญหานี้จะหมดไป และจัดการได้อย่างคุณแม่มือโปร ด้วยเทคนิคการปั๊มให้เกลี้ยงเต้าค่ะ
การปั๊มนม ควรเริ่มทำเมื่อไหร่
คุณแม่สามารถปั๊มนมได้ทันทีตั้งแต่หลังคลอดลูก โดยที่คุณแม่ต้องปั๊มนมต่อวันให้ได้วันละ 8-10 ครั้ง หรือทุก 3 ชั่วโมง การปั๊มนมก็เพื่อเป็นการช่วยกระตุ้นให้ร่างกายของคุณแม่มีการผลิตน้ำนมออกมามีปริมาณเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
หลากข้อดีของการปั๊มนม
- สำหรับคุณลูก: ช่วยให้ลูกได้กินนมแม่อิ่ม นอกจากนี้ยังให้ประโยชน์กับร่างกายของลูก ดังนี้
- นมแม่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัว สายโมเลกุลยาว ช่วยเรื่องการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อประสาทและจอประสาทตา
- ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับลูกในอนาคตได้ เช่น โรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง และโรคเบาหวาน เป็นต้น
- ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรคบนผิวหนังของลูกน้อยได้ (Microbial colonization)
- สำหรับคุณแม่: ช่วยให้แม่มีน้ำนมแม่เก็บสต็อกไว้ให้ลูกกินได้นานที่สุด
- ช่วยให้หลังคลอดมดลูกคุณแม่เข้าอู่เร็ว
- ช่วยเผาพลาญไขมัน น้ำหนักลดเร็ว
- ช่วยเพิ่มการผลิตน้ำนมให้กับร่างกาย
- ช่วยป้องกันอาการเต้านมคัด ตึง เจ็บ หรือการเกิดภาวะท่อน้ำนมอุดตัน
ทารกต้องกินนมแม่ปริมาณเท่าไหร่
อายุ | ปริมาณน้ำนมแม่ | จำนวนครั้งต่อวัน |
วันแรกคลอด | 5 CC. | 8-10 |
วันที่ 2 | 5 CC. | 8-10 |
วันที่ 3 ถึงอายุ 1 เดือน | 1-1.5 ออนซ์ | 8-10 |
อายุ 1 เดือน | 2-4 ออนซ์ | 7-8 |
อายุ 2-6 เดือน | 4-6 ออนซ์ | 5-6 |
อายุ 6-12 เดือน | 6-8 ออนซ์ | 4-5 |
อายุ 1 ปีขึ้นไป | 6-8 ออนซ์ | 3-4 (หลังมื้ออาหาร) |
แจกตารางปั๊มนม สำหรับทารกแต่ละช่วงวัย
การเริ่มเวลาของรอบปั๊มนมในแต่ละวัน คุณแม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความสะดวก แต่ให้มีรอบปั๊มนมให้ได้ตามจำนวนที่แนะนำให้ในแต่ละช่วงวัยของลูกค่ะ
ช่วงวัย | รอบปั๊ม | เวลาปั๊ม |
ทารกแรกเกิด (0 - 3 เดือน) | 8 ถึง 9 ครั้ง ในระยะเวลา 24 ชั่วโมง | เริ่มปั๊มตอนตี 05.00 น. 7.00 น. |
ทารกอายุ 3 เดือน | 5 ถึง 6 ครั้งต่อวัน | เริ่มปั๊มตอนเช้าเวลา 6.00 น. 10.00 น. 14.00 น. 20.00 น. และจบที่เวลา 23.00 น. |
ทารกอายุ 6 เดือน | 4 ครั้งต่อวัน | เริ่มปั๊มตอนเช้าเวลา 6.00 น. 10.00 น. 14.00 น. และจบที่เวลา 22.00 น. |
รวมเทคนิคการปั๊มให้เกลี้ยงเต้า
เพื่อให้ได้ปริมาณน้ำนมในแต่ละรอบปั๊มแบบไม่หลงเหลือค้างเต้า คุณแม่สามารถทำตามเทคนิคการปั๊มให้เกลี้ยงเต้าที่ถูกต้อง ได้ดังนี้ค่ะ
- เทคนิคการปั๊มให้เกลี้ยงเต้า (ปั๊มนมด้วยมือ)
- คุณแม่ล้างมือ และขวดนมให้สะอาดก่อนปั๊มนมทุกครั้ง
- นวดหน้าอก หรือประคบเต้านมด้วยผ้าชุบน้ำอุ่น ๆ จะช่วยให้น้ำนมไหลได้ดีขึ้นขณะปั๊ม
- จากนั้นให้คุณแม่นั่งลงแล้วเอนตัวไปด้านหน้า
- แล้ววางนิ้วโป้งไว้ให้เหนือหัวนม ส่วนนิ้วชี้จะวางอยู่ด้านใต้หัวนม กะระยะของนิ้วโป้งและนิ้วชี้ห่างจากลานหัวนมประมาณ 1 นิ้ว มือคุณแม่จะต้องอยู่ในลักษณะเหมือนตัว C
- จากนั้นให้กดนิ้วโป้งและนิ้วชี้ลงไปพร้อมกันช้า ๆ เป็นการบีบน้ำนมออกมา
- คุณแม่สามารถเปลี่ยนบริเวณที่บีบน้ำนมได้ทั้งรอบลานนม
- น้ำนมแม่ที่บีบได้ให้เก็บไว้ในถุงเก็บน้ำนมหรือภาชนะที่สะอาด แล้วจัดเก็บในตู้เย็น เพื่อรักษาคุณภาพของน้ำนม
- เทคนิคการปั๊มให้เกลี้ยงเต้า (ปั๊มนมด้วยเครื่องปั๊ม)
- คุณแม่ล้างมือ อุปกรณ์ปั๊มนม และภาชนะให้สะอาดก่อนปั๊มนมทุกครั้ง
- จากนั้นให้วางกรวยเต้าสำหรับปั๊มนมบนหัวนมทั้งสองข้าง จัดให้กรวยอยู่ตรงกลางหัวนม
- ประคองเต้านมด้วยมือข้างที่ถนัด ให้นิ้วโป้งอยู่ด้านบน ส่วนนิ้วที่เหลือประคองอยู่ใต้เต้านม
- การปรับความเร็วและอัตราการปั๊มนมให้เริ่มต้นจากอัตราการปั๊มที่ต่ำและเร็ว เมื่อน้ำนมไหลออกมาคงที่สม่ำเสม อจากนั้นค่อยปรับความเร็วให้ช้าลงและเพิ่มอัตราการปั๊มขึ้น
- การปั๊มนมแต่ละรอบจะอยู่ที่ 15-20 นาที เมื่อปั๊มจนน้ำนมเกลี้ยงเต้าเแล้ว ให้นำกรวยสำหรับปั๊มนมออกจากเต้านม
- จากนั้นนำน้ำนมที่ได้ใส่ในถุงเก็บนมแม่ หรือภาชนะที่สะอาด แล้วนำเข้าตู้เย็น เพื่อรักษาคุณภาพของน้ำนม
วิธีปั๊มนมแบบ Power pumping คืออะไร
หลังคลอดลูกมาในช่วงแรก คุณแม่จะมีความเหนื่อยล้าจากการเลี้ยงลูก นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ อาจจะให้ลูกเข้าเต้า หรือปั๊มนมได้ไม่สม่ำเสมอ ซึ่งก็จะทำให้น้ำนมของคุณแม่ลดลง น้ำนมหด น้ำนมมีปริมาณน้อยลงได้ ดังนั้นแนะนำให้คุณแม่ปั๊มนมด้วยวิธีที่เรียกว่า Power pumping คือการปั๊มนมที่เลียนแบบการดูดนมของเด็กทารก ช่วยกระตุ้นเพิ่มน้ำนมให้ไหลออกมาอย่างต่อเนื่อง การปั๊มนมด้วยวิธี Power pumping ควรปั๊มให้ได้อย่างน้อยวันละ 1 รอบ ช่วงเวลาที่เหมาะกับการทำ Power pumping คือเวลา 02:00 – 06.00 น. จะเป็นช่วงที่ระดับฮอร์โมนโปรแลคตินสูง สำหรับเทคนิคการปั๊มให้เกลี้ยงเต้าด้วยวิธี Power pumping มีดังนี้ค่ะ
- ปั๊มนมทั้ง 2 ข้างพร้อมกัน
- เริ่มปั๊มที่ 20 นาที พัก 10 นาที
- ปั๊ม 10 นาที พัก 10 นาที ปั๊ม 10 นาที รวม 60 นาที จะเท่ากับ Power pumping 1 รอบ
- ควรปั๊มนมให้เกลี้ยงเต้า เพื่อป้องกันไม่ให้ท่อน้ำนมอุดตัน
การปั๊มนมแต่ละครั้ง ใช้เวลานานไหม
คุณแม่หลังคลอดที่อยากปั๊มนมเก็บทำสต็อก จะใช้เวลาในการปั๊มนมดังนี้ค่ะ
- ให้ปั๊มทันทีหลังจากลูกดูดนมอิ่มแล้ว 10-15 นาที
- ให้ปั๊มระหว่างมื้อนม โดยการปั๊มนมหลังจากลูกเข้าเต้าไปแล้ว 1 ชั่วโมง คุณแม่ต้องปั๊มพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง ปั๊มนาน 10-15 นาที
นอกจากนี้ยังสามารถแบ่งการปั๊มนมออกได้เป็น 3 ช่วง ซึ่งจะขึ้นอยู่กับความพร้อมของคุณแม่ จะใช้เวลาในการปั๊มนานประมาณ 10-15 นาที คือ
- ปั๊มนมระหว่างสัปดาห์แรกหลังคลอด โดยปั๊มต่อจากที่ลูกกินนมอิ่มแล้ว
- ปั๊มนมหลังจากสัปดาห์แรก ถึง 30-45 วันหลังคลอด โดยปั๊มขณะที่ลูกกำลังเข้าเต้า ด้วยการใช้กรวยสูญญากาศ
- ปั๊มนมหลัง 30 หรือ 45 วันหลังคลอด โดยปั๊มในช่วงที่ลูกหลับนาน 2-3 ชั่วโมง จะทำให้คุณแม่มีเวลาในการปั๊มนมมากขึ้น
เพื่อให้คุณแม่มีน้ำนมปริมาณที่มากตลอดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ วิธีเพิ่มน้ำนมอย่างง่ายคือให้คุณแม่ดื่มน้ำวันละ 3-4 ลิตร รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ได้พลังงานต่อวันเพิ่มขึ้น 500 กิโลแคลอรี โดยเน้นอาหารกลุ่มโปรตีน และอาหารที่ช่วยเพิ่มน้ำนม เช่น หัวปลี กะเพรา ฟักทอง เป็นต้น ที่สำคัญต้องปั๊ม หรือให้ลูกเข้าเต้าเพื่อระบายน้ำนมออกทุก 3-4 ชั่วโมง นมแม่ดีที่สุดสำหรับลูกน้อยตั้งแต่แรกเกิด นอกจากจะมีสารอาหารที่หลากหลายครบถ้วนแล้ว ก็ยังมีจุลินทรีย์สุขภาพ บีแล็กทิส (B. lactis) หนึ่งในจุลินทรีย์สุขภาพในกลุ่มบิฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) และยังเป็นโพรไบโอติกส์ ที่สามารถส่งต่อเพื่อสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อยได้อีกด้วย
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ให้นม
- เพิ่มน้ำนมคุณแม่ ด้วยการกระตุ้นน้ำนม จากธรรมชาติ ดีกับคุณแม่และลูก
- น้ำนมเหลือง ที่มีสฟิงโกไมอีลิน สารอาหารสำคัญ ช่วยพัฒนาสมองจากแม่สู่ลูก
- นมแม่อยู่ได้กี่ชม น้ำนมแม่เก็บได้นานแค่ไหน เก็บรักษาอย่างไรให้ถูกวิธี
- คัดเต้านมทำยังไงดี คัดเต้ากี่วันหาย พร้อมวิธีบรรเทาอาการนมคัด
- เจ็บหัวนม หัวนมแตก อาการเจ็บหัวนม ต้องรักษาอย่างไร ให้นมลูกต่อได้ไหม
- อาการทารกหิวนม สัญญาณจากลูกน้อย ที่คุณแม่สังเกตเองได้
อ้างอิง:
- 11 เหตุผลที่ลูกควรได้กินนมแม่, โรงพยาบาลพญาไท
- ปั๊มนมอย่างไรให้ถูกต้อง, POBPAD
- เทคนิคการทำ Power pumping (PP) ให้ได้ประสิทธิภาพ, PERMIERE HOME HEALTH CARE
- เคล็ดลับการบีบหรือปั๊มนมแม่ การเก็บรักษาน้ำนม, โรงพยาบาลศิครินทร์
- ลูกกินนมแบบไหนเรียก Over breastfeeding, โรงพยาบาลสมิติเวช
- How to Exclusively Breast Pump, healthline
- เทคนิคการเริ่มต้นปั๊มนม สำหรับคุณแม่มือใหม่ (Guide to Pumping Breast Milk), แพทย์หญิงทานตะวัน พระโสภา แพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ฉุกเฉิน
- วิธีเก็บสต็อกนมแม่ ต้องทำอย่างไร, โรงพยาบาลวิชัยเวช
อ้างอิง ณ วันที่ 7 มีนาคม 2567
บทความที่เกี่ยวข้อง