วิธีกู้น้ำนม เมื่อคุณแม่น้ำนมไม่ไหล น้ำนมหด พร้อมวิธีเพิ่มน้ำนม

วิธีกู้น้ำนม เมื่อคุณแม่น้ำนมหด น้ำนมไม่ไหล กู้น้ำนมยังไงดี

17.02.2024

คุณแม่หลายคนชอบคิดว่าน้ำนมแม่ไม่ไหลเป็นเพราะน้ำนมน้อยทำให้พลาดโอกาสในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไป ความจริงแล้วยิ่งคุณแม่ไม่ยอมให้ลูกดูดนม น้ำนมของคุณแม่ก็จะค่อย ๆ ลดน้อยลงและแห้งไปในที่สุด เนื่องจากหลักการการผลิตน้ำนมของคุณแม่เกิดจากการกระตุ้นน้ำนมโดยอาศัยการดูดนมของลูกซึ่งเป็นกลไกตามธรรมชาติ

headphones

PLAYING: วิธีกู้น้ำนม เมื่อคุณแม่น้ำนมหด น้ำนมไม่ไหล กู้น้ำนมยังไงดี

อ่าน 7 นาที

 

สรุป

  • เมื่อลูกดูดนมแม่จะช่วยกระตุ้นให้น้ำนมถูกผลิตขึ้นซึ่งเป็นกลไกตามธรรมชาติ ยิ่งลูกดูดได้เร็ว ดูดได้บ่อย และดูดได้นาน จะยิ่งช่วยเพิ่มน้ำนมแม่ขึ้นเรื่อย ๆ
  • ในระยะแรกหลังคลอดคุณแม่อาจพบปัญหาน้ำนมไม่ค่อยมี หรือน้ำนมมาน้อยเป็นเรื่องปกติ คุณแม่ต้องอาศัยการกระตุ้นน้ำนมบ่อย ๆ ไม่นานน้ำนมแม่ก็จะไหลเพียงพอต่อความต้องการของลูกน้อย
  • คุณแม่จะรู้ได้ว่าลูกน้อยได้รับนมไม่พอจากการร้องไห้งอแงหลังกินนมของลูก เสียงการกลืนนมของทารก การขับถ่าย และน้ำหนักตัวของลูกน้อย

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

การกู้น้ำนมหรือการเรียกคืนน้ำนมแม่กลับมาที่เรียกว่า “รีแลคเทชั่น (Relactation)” คือ การพยายามกระตุ้นการสร้างน้ำนมจากคุณแม่ที่เคยมีน้ำนมให้ลูกกินมาก่อน แล้วหยุดให้นมลูกไปนานแล้วพยายามเรียกน้ำนมแม่กลับมา โดยอาจใช้วิธีให้ลูกดูดนมเพื่อช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำนม เนื่องจากกลไกตามธรรมชาติของการสร้างน้ำนมที่ถูกสร้างขึ้นมาจากเซลล์เล็ก ๆ ในเต้านมจะถูกลำเลียงผ่านท่อน้ำนมออกมาทางหัวนมให้ลูกน้อยได้กิน ยิ่งลูกดูดนมแม่ได้เร็ว ดูดได้บ่อย และดูดได้นาน น้ำนมของคุณแม่จะยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากการกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง

 

น้ำนมหด นมน้อย นมไม่พอ เกิดจากอะไร

หลังจากคลอดลูก คุณแม่ทุกคนพร้อมจะให้น้ำนมลูกเสมอ คุณแม่หลายท่านหลังคลอดได้พยายามให้ลูกดูดนมหรือปั๊มนมให้ลูกกินแต่กลับประสบปัญหาน้ำนมไม่ไหลหรือน้ำนมไหลน้อย จนทำให้คุณแม่เครียดและล้มเลิกให้ลูกกินนมแม่ไปในที่สุด แต่ความจริงแล้วน้ำนมหดหรือน้ำนมน้อยอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น

  • คุณแม่เริ่มต้นให้ลูกดูดนมช้า: การเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมให้ประสบความสำเร็จ คุณแม่ต้องให้ลูกดูดนม 30 นาที หรือมากกว่านั้น พอคุณแม่ให้ลูกดูดบ่อย ๆ จะทำให้กระบวนการกระตุ้นการสร้างน้ำนมมีประสิทธิภาพมากขึ้น คุณแม่ก็จะมีน้ำนมให้ลูกกินอย่างเพียงพอ
  • ท่าอุ้มให้นมแม่: ท่าอุ้มของคุณแม่ส่งผลต่อการดูดนมของทารกด้วยเช่นกัน หากคุณแม่อุ้มลูกในท่าที่ไม่ถูกต้องอาจทำให้ลูกน้อยไม่สามารถดูดนมได้อย่างเต็มที่ น้ำนมจึงถูกกระตุ้นน้อยทำให้น้ำนมแม่ไหลน้อยตามมา
  • ลูกดูดนมผิดวิธี: ปกติแล้วทารกจะดูดนมแม่โดยการอมจากหัวนมจนลึกเข้าไปจนถึงลานนม เมื่อลูกไม่สามารถดูดนมได้ลึกตามที่ควรจะเป็น นมจึงไหลออกมาได้น้อย
  • ปัญหาหัวนมของคุณแม่: บางครั้งคุณแม่อาจมีหัวนมแบนหรือหัวนมบอดทำให้ลูกไม่สามารถดูดนมได้อย่างเต็มที่ เมื่อน้ำนมไม่ถูกกระตุ้นอย่างเหมาะสม น้ำนมแม่จึงค่อย ๆ หดลงไปเรื่อย ๆ
  • ลูกดูดนมไม่บ่อย: หัวใจหลักของการกระตุ้นน้ำนมของคุณแม่หลังคลอด คือ การให้ลูกดูดนมแม่บ่อย ๆ อย่างน้อยวันละ 8 ครั้ง หรือตามที่ลูกต้องการ หากคุณแม่สังเกตว่าลูกน้อยเริ่มร้องไห้งอแงเพราะอยากกินนมคุณแม่จะต้องให้ลูกดื่มนมจากเต้าทันที
  • ทานน้ำไม่เพียงพอ: น้ำเปล่าเป็นตัวช่วยในการเพิ่มน้ำนมของคุณแม่หลังคลอดได้เป็นอย่างดี เพียงแค่คุณแม่ดื่มน้ำให้ได้วันละประมาณ 2-3 ลิตร ก็จะช่วยเพิ่มน้ำนมให้คุณแม่ได้
  • พักผ่อนน้อย: ในช่วงแรกหลังคลอดคุณแม่อาจมีการนอนน้อย นอนไม่พอ เนื่องจากลูกมักตื่นบ่อยกลางดึกและร้องไห้งอแงไม่ทราบสาเหตุ ทำให้คุณแม่พักผ่อนได้น้อย อย่างไรก็ตามคุณแม่ควรหาเวลางีบพักผ่อนร่างกายเพื่อให้ร่างกายสามารถผลิตน้ำนมได้ดียิ่งขึ้น
  • ตกรอบปั๊มนมเป็นประจำ: คุณแม่หลายคนจำเป็นจะต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ทำให้ไม่สามารถให้นมลูกจากเต้าได้โดยตรงจึงต้องอาศัยการปั๊มนมแล้วค่อยนำไปให้ลูกกินทีหลัง ซึ่งการปั๊มนมในช่วงเวลาทำงานอาจทำให้คุณแม่ไม่สามารถปั๊มได้ตามรอบ เมื่อคุณแม่ตกรอบปั๊มนมบ่อย ๆ ก็จะทำให้น้ำนมถูกกระตุ้นน้อยลง และน้ำนมก็จะค่อยเริ่มหายไป
  • อาการเจ็บป่วย: ปัญหาสุขภาพที่เกิดจากโรคบางโรคอาจส่งผลต่อน้ำนมของคุณแม่ เช่น โรคเบาหวาน โรคต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ รวมถึงการใช้ยาบางประเภทด้วย

 

น้ำนมไม่ค่อยมี ผิดปกติหรือไม่

แม่หลังคลอดทำไมน้ำนมยังไม่มา พยายามให้ลูกดูดนมแล้วแต่น้ำนมยังไม่ค่อยไหล น้ำนมไม่ค่อยมี หรือน้ำนมมาน้อยเป็นเรื่องปกติของคุณแม่หลังจากคลอดลูก เหตุผลเพราะทารกยังดูดนมได้ไม่เต็มที่ ทำให้กระตุ้นการสร้างน้ำนมได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากกระเพาะอาหารของทารกมีขนาดเล็กอยู่ทำให้ในช่วงแรกลูกน้อยยังดูดนมได้ไม่มากนัก ทำให้น้ำนมแม่ไม่ค่อยมี แต่คุณแม่ไม่ต้องกังวล เพราะถ้าคุณแม่พยายามให้ลูกดูดนมกระตุ้นเต้านมบ่อย ๆ ไม่นานน้ำนมคุณแม่ก็จะไหลมาเอง

 

น้ำนมน้อย ส่งผลเสียต่อลูกน้อยอย่างไร

นมแม่ เป็นโภชนาการเดียวของทารก มีสารอาหารมากมายที่ช่วยให้ลูกน้อยเจริญเติบโตแล้วยังมีประโยชน์อื่น ๆ อีกมากมาย จึงช่วยลดความเสี่ยงต่ออาการเจ็บป่วย เพราะนมแม่มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด เช่น ดีเอชเอ วิตามิน แคลเซียม และสฟิงโกไมอีลิน รวมทั้งยังมีสารภูมิคุ้มกันและจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์หลายชนิด เช่น ตระกูลบิฟิโดแบคทีเรียม บีแล็กทิส ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในลำไส้ของลูกน้อย นมแม่จึงช่วยให้ลูกน้อยเจริญเติบโตอย่างแข็งแรง อีกทั้งยังสามารถลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย ช่วยต้านทานเชื้อโรคต่าง ๆ และเสริมสร้างสติปัญญาให้กับทารก หากคุณแม่มีน้ำนมที่น้อยอาจทำให้ลูกได้รับสารอาหารจากนมแม่ได้ไม่เต็มที่ จนส่งผลให้เด็กมีขนาดตัวที่เล็ก น้ำหนักตัวน้อย และส่งผลต่อพัฒนาการของลูกน้อยในอนาคตได้

 

รู้ได้อย่างไรว่าลูกน้อยได้รับน้ำนมไม่เพียงพอ

  • ทารกร้องไห้งอแงตลอดเวลา และยังแสดงอาการหงุดหงิดหรือทำท่าไม่พอใจหลังจากดื่มนมแม่
  • ส่งเสียงดังขณะดูดนม หากลูกน้อยดูดนมอย่างถูกวิธี คุณแม่จะไม่ค่อยได้ยินเสียงการดูดนมของทารกเท่าไหร่นัก แต่ถ้าเมื่อไหร่คุณแม่ได้ยินเสียงการดูดนมของลูกที่ผิดปกติหรือมีเสียงดูดที่ดังหรือไม่ได้ยินเสียงกลืนนมของเด็ก แสดงว่าคุณแม่ให้ลูกดูดนมผิดวิธี ทำให้ลูกน้อยได้รับนมไม่เพียงพอ แม้ว่าจะใช้เวลาในการให้นมนานก็ตาม
  • ในเด็กทารกที่อายุประมาณ 4 วัน ให้สังเกตจากการขับถ่าย หากทารกได้รับนมไม่พอ อุจจาระของลูกน้อยจะไม่เปลี่ยนจากสีเทาไปเป็นสีเหลือง ถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อวัน และมีการปัสสาวะน้อยกว่า 6 ครั้งต่อวัน โดยสีปัสสาวะมีสีเหลืองเข้มหรือส้ม
  • ลูกน้อยมีน้ำหนักตัวลดไม่เป็นไปตามเกณฑ์การเจริญเติบโตของเด็ก เพราะโดยปกติแล้วทารกแรกเกิดต้องมีพัฒนาการของทั้งน้ำหนักและส่วนสูงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ถ้าเมื่อไหร่คุณแม่พบว่าลูกน้อยมีน้ำหนักตัว ที่ลดน้อยลงแทนที่จะเพิ่มขึ้น สาเหตุก็อาจมาจากเด็กได้รับนมแม่ที่ไม่เพียงพอ

 

น้ำนมไหลน้อย น้ำนมไม่ไหล คุณแม่จะมีวิธีกู้น้ำนมได้อย่างไรบ้าง?

หากคุณแม่หลังคลอดน้ำนมไหลน้อย มีวิธีการกระตุ้นน้ำนมดังนี้

  1. ให้ลูกดูดนมเร็ว: การกระตุ้นน้ำนมได้ผลดีที่สุด คือ คุณแม่จะต้องให้ลูกดูดนมหลังคลอดโดยเร็วที่สุดภายในระยะเวลา 15-30 นาที
  2. ให้ลูกดูดนมบ่อย: คุณแม่ต้องพยายามให้ลูกดูดนมแม่บ่อย ๆ ทุก 2-3 ชั่วโมง หรือวันละ 8-12 ครั้ง หรือมากกว่านั้นตามที่ลูกต้องการ พยายามสลับข้างให้ลูกดูดเพื่อกระตุ้นการไหลของน้ำนมทั้งสองข้าง
  3. ให้ลูกดูดนมนาน: ในแต่ละครั้งที่ลูกดูดนมคุณแม่ควรให้ลูกดูดนานอย่างน้อยข้างละ 15 นาที หรือปล่อยให้ลูกดูดนมไปจนกว่าลูกจะเลิกดูดนมไปเอง
  4. หลีกเลี่ยงการสวมใส่ยกทรงที่รัดแน่นเกินไป: ปัญหาส่วนใหญ่ของคุณแม่หลังคลอดในช่วงสัปดาห์แรกมักจะเป็นเรื่องของอาการคัดเต้านมทำให้น้ำนมไม่ไหล หรือไหลได้น้อย รวมถึงการที่คุณแม่ใส่ยกทรงรัดแน่นมากเกินไปทำให้น้ำนมไหลไม่สะดวก
  5. ใช้น้ำอุ่นประคบเต้านม: ในกรณีที่คุณแม่คลำเจอก้อนในเต้านมซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากอาการคัดเต้านม คุณแม่สามารถใช้น้ำอุ่นมาประคบบริเวณก้อนที่พบเพื่อให้ความร้อนช่วยสลายก้อนแข็งและช่วยให้น้ำนมไหลเวียนได้ดียิ่งขึ้น
  6. นวดเต้านม: หลังจากที่ให้ลูกดูดนมแล้วคุณแม่ควรนวดคลึงเต้านมเพื่อช่วยให้น้ำนมไหลได้สะดวกมากยิ่งขึ้น โดยเริ่มจากนำผ้าชุบน้ำอุ่นก่อน แล้วประคบท้องไว้ประมาณ 3-5 นาที จากนั้นนวดเป็นวงกลมโดยใช้นิ้วโป้ง นิ้วชี้ และนิ้วกลางไล่ตั้งแต่ฐานเต้านมไปจนถึงหัวนม
  7. ระบายน้ำนมออก: วิธีการนี้จะช่วยเพิ่มน้ำนมให้คุณแม่ง่าย ๆ เพียงเริ่มจากให้คุณแม่ล้างมือให้สะอาดก่อน จากนั้นค่อย ๆ บีบระบายน้ำนมออกโดยใช้นิ้วมือจับเต้าเป็นรูปตัว C หรือตัว U ในระยะห่างจากฐานเต้านม 3-4 เซนติเมตร อย่างเบามือในลักษณะบีบแล้วคลาย ทำแบบนี้จนรอบเต้า

 

ถ้าผ่านไป 2-3 วันหลังคลอดแล้วคุณแม่ยังรู้สึกว่าน้ำนมยังไหลน้อยอยู่ น้ำนมไหลช้า คุณแม่ไม่ต้องกังวลไปเพราะว่าทารกยังดูดนมได้น้อยอยู่ แต่เมื่อกระเพาะอาหารของลูกน้อยใหญ่ขึ้นลูกจะค่อย ๆ ดูดนมเพิ่มมากขึ้น ทำให้น้ำนมคุณแม่ถูกกระตุ้นมากขึ้น ไม่นานน้ำนมของคุณแม่ก็จะไหลพุ่งปรี๊ดออกมาให้ลูกน้อยได้กินไปอีกนาน นอกจากนี้ คุณแม่ควรใส่ใจเรื่องอาหารเพิ่มน้ำนม และพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำให้มาก ๆ และพยายามให้ลูกเข้าเต้า หรือปั๊มนมเป็นประจำ เพื่อเพิ่มน้ำนมคุณแม่ และเร่งการกระตุ้นน้ำนมให้กลับมาไหลมากเหมือนเดิม

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ให้นม

 

 

อ้างอิง:

  1. เทคนิคจัดการน้ำนมแม่ ให้ลูกอิ่มหนำสำราญ, โรงพยาบาลเวชธานี
  2. Q&A การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่, โรงพยาบาล บี.แคร์ เมดิคอลเซนเตอร์
  3. การเรียกน้ำนมแม่กลับคืน (Relactation), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
  4. น้ำนมน้อย อยากเพิ่มน้ำนมแม่ สาเหตุ และวิธีแก้ไข, โรงพยาบาลบีเอ็นเอช
  5. ปัญหาและวิธีแก้ กับเรื่อง “นมแม่” ที่ต้องอ่าน, โรงพยาบาลสมิติเวช
  6. มารดามักมีความเชื่อเรื่องน้ำนมไม่เพียงพอ1, ศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยศรีนครทรวิโรฒ
  7. ลูกได้น้ำนมแม่เพียงพอหรือไม่, ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
  8. คู่มือมารดาหลังคลอด และการดูแลทารก สำหรับคุณแม่, กรมอนามัย
  9. คุณแม่หลังคลอดรับมือให้ถูก อะไรควรเพิ่ม อะไรต้องลด, โรงพยาบาลกรุงเทพ
  10. 3 เทคนิคดูแลภาวะน้ำนมน้อยในคุณแม่, ศูนย์กายภาพบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล
  11. แพทย์ชี้ โภชนาการเด็กขวบปีแรกสำคัญ, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

อ้างอิง ณ วันที่ 4 มกราคม 2567

บทความแนะนำ

Overfeeding คืออะไร ให้ลูกกินนมเยอะเกินไป อันตรายแค่ไหน

Overfeeding คืออะไร ให้ลูกกินนมเยอะเกินไป อันตรายแค่ไหน

Overfeeding คืออะไร คุณแม่ให้ลูกกินนมเยอะเกินไป จะเป็นอันตรายกับลูกน้อยไหม ลูกน้อยจะมีอาการอย่างไร เมื่อให้นมลูกเยอะเกิน พร้อมวิธีให้นมลูกน้อยที่ถูกต้อง

ประจำเดือนหลังคลอดจะเริ่มมาเมื่อไหร่ ประจำเดือนหลังคลอดมากี่วัน

ประจำเดือนหลังคลอดจะเริ่มมาเมื่อไหร่ ประจำเดือนหลังคลอดมากี่วัน

ประจำเดือนหลังคลอดจะกลับมาตอนไหน ประจําเดือนหลังคลอดมากี่วัน แบบไหนเรียกผิดปกติ คุณแม่หลังคลอดดูแลตัวเองยังไงให้ร่างกายกลับมาปกติเร็วที่สุด

แม่หลังคลอดกินผลไม้อะไรได้บ้าง ผลไม้ชนิดไหนช่วยฟื้นฟูร่างกาย ดีต่อสุขภาพ

แม่หลังคลอดกินผลไม้อะไรได้บ้าง ผลไม้ชนิดไหนช่วยฟื้นฟูร่างกาย ดีต่อสุขภาพ

แม่หลังคลอดกินผลไม้อะไรได้บ้าง ผลไม้ชนิดไหนช่วยให้ร่างกายของคุณแม่แข็งแรงและกระตุ้นน้ำนมให้ไหลดี มีคุณภาพ ช่วยให้สารอาหารส่งถึงลูกโดยตรง ไปดูกัน

ไขบนหัวทารก เกิดจากอะไร คุณแม่ดูแลไขที่หัวทารกได้อย่างไรบ้าง

ไขบนหัวทารก เกิดจากอะไร คุณแม่ดูแลไขที่หัวทารกได้อย่างไรบ้าง

ไขบนหัวทารก เกิดจากสาเหตุอะไร ไขที่หัวทารกอันตรายไหมกับลูกน้อยไหม ไขที่หัวทารกกี่วันถึงหายไป ต้องพาลูกน้อยไปพบแพทย์ไหม พร้อมวิธีดูแลและทำความสะอาดไขบนหัวลูก

ลูกกัดเต้าเป็นแผลมีหนอง ลูกกัดหัวนมทำยังไงดี พร้อมวิธีดูแลตัวเอง

ลูกกัดเต้าเป็นแผลมีหนอง ลูกกัดหัวนมทำยังไงดี พร้อมวิธีดูแลตัวเอง

ลูกกัดเต้าเป็นแผลมีหนอง ทำยังไงดี ลูกกัดเต้าจนหัวนมแม่เป็นแผล คุณแม่ให้นมลูกต่อได้ไหม ทำไมลูกถึงชอบกัดหัวนมแม่ พร้อมวิธีรับมือเมื่อลูกกัดเต้าเป็นแผล

คุณแม่เจ็บแผลทำหมันกี่วัน พร้อมวิธีดูแลตัวเองหลังทำหมัน

คุณแม่เจ็บแผลทำหมันกี่วัน พร้อมวิธีดูแลตัวเองหลังทำหมัน

คุณแม่เจ็บแผลทำหมันกี่วัน ใช้เวลานานแค่ไหนกว่าแผลทำหมันจะหายดี เจ็บแผลทำหมัน พร้อมวิธีดูแลตัวเองหลังทำหมันที่ถูกต้อง ช่วยให้แผลหายเร็วและปลอดภัย

ประจำเดือนหลังคลอด จะกลับมาเมื่อไหร่ พร้อมวิธีดูแลตัวเอง

ประจำเดือนหลังคลอด จะกลับมาเมื่อไหร่ พร้อมวิธีดูแลตัวเอง

ประจำเดือนหลังคลอดจะกลับมาเมื่อไหร่ ประจำเดือนครั้งแรกหลังคลอดเป็นแบบไหน คุณแม่มีอาการประจำเดือนหลังคลอดมา ๆ หาย ๆ อันตรายไหม พร้อมวิธีดูแลตัวเองหลังคลอด

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก