ท่อน้ำนมอุดตัน ภาวะท่อน้ำนมตันของคุณแม่ให้นมหลังคลอด
อาการท่อน้ำนมอุดตันมักเกิดขึ้นกับคุณแม่ให้นมบุตร ทำให้คุณแม่รู้สึกเหมือนมีก้อนแข็งเล็ก ๆ ในเต้านม เมื่อกดแล้วเจ็บปวดและอาจมีอาการปวดจี๊ดเมื่อแม่ให้นมลูกน้อย อาการท่อน้ำนมอุดตันนี้มีโอกาสหายได้ถ้าคุณแม่ดูแลอย่างถูกวิธี และสิ่งสำคัญคือต้องดูแลอาการท่อน้ำนมอุดตันโดยเร็วที่สุด เพราะหากปล่อยให้เกิดอาการท่อน้ำนมอุดตันนาน ๆ อาจนำไปสู่โรคเต้านมอักเสบและโรคอื่น ๆ ตามมาได้
สรุป
- ท่อน้ำนมอุดตันเกิดจากการที่น้ำนมไหลได้ไม่สะดวก มักแสดงอาการเจ็บบวมและมีก้อนแข็งในบริเวณเต้านม หากคุณแม่คลำที่เต้านมอาจพบก้อนแข็งและรู้สึกเจ็บเมื่อลูกน้อยกินนมแม่
- คุณแม่ควรให้ลูกน้อยดูดนมหรือปั๊มนมบ่อย ๆ เพื่อลดสาเหตุของท่อน้ำนมอุดตัน จากการที่ร่างกายผลิตน้ำนมมากเกินไปและลูกดูดไม่เกลี้ยงเต้า ดังนั้น ทุกครั้งหลังจากคุณแม่ให้ลูกกินนมให้บีบเอาน้ำนมที่ค้างอยู่ออก เพื่อป้องกันอาการท่อน้ำนมอุดตัน
- วิธีป้องกันไม่ให้คุณแม่เกิดอาการท่อน้ำนมอุดตัน คือ ดื่มน้ำให้เพียงพอ บีบระบายน้ำนม หลีกเลี่ยงเสื้อชั้นในแบบมีโครงหรือรัดแน่นจนเกินไป นวดเต้านมเป็นประจำ และให้ลูกน้อยดูดนมอย่างถูกวิธี เพื่อลดความเสี่ยงของอาการท่อน้ำนมอุดตัน
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- ท่อน้ำนมอุดตัน คืออะไร?
- คุณแม่ท่อน้ำนมอุดตัน มีลักษณะแบบไหน
- สาเหตุที่ทำให้ท่อน้ำนมอุดตัน
- คุณแม่จะดูแลตนเองอย่างไร เมื่อท่อน้ำนมอุดตัน
- ท่อน้ำนมอุดตันเกิดได้แม้ลูกดูดนมและแม่ปั๊มนมตลอด
- วิธีป้องกันไม่ให้เกิดท่อน้ำนมอุดตัน
- วิธีกายภาพบำบัดเพื่อรักษาอาการท่อน้ำนมอุดตัน
ท่อน้ำนมอุดตัน คืออะไร?
อาการของท่อน้ำนมอุดตัน เป็นอาการที่พบได้บ่อยในคุณแม่ให้นม เกิดจากที่น้ำนมไม่สามารถไหลได้สะดวก จนเกิดการอุดตันบริเวณท่อส่งน้ำนม คุณแม่จะรับรู้ได้จากการสัมผัสบริเวณเต้านม หากคลำที่เต้านมแล้วพบก้อนแข็งเป็นแผ่นหนา พอกดลงไปแล้วจะทำให้รู้สึกเจ็บมากขึ้นและเกิดอาการบวมแดงขึ้นมา แต่ไม่มีอาการไข้ บางครั้งอาจมีเส้นเลือดปูดบริเวณเต้านมอย่างเห็นได้ชัด ทำให้น้ำนมแม่ไหลได้ไม่เต็มที่ ทั้งยังรู้สึกเจ็บทุกครั้งเวลาที่ลูกน้อยกินนมแม่
คุณแม่ท่อน้ำนมอุดตัน มีลักษณะแบบไหน
คุณแม่ที่มีอาการท่อน้ำตัน จะมีลักษณะและอาการเบื้องต้น ที่สังเกตได้ชัด ดังนี้
- มีก้อนแข็งบริเวณเต้านม
- คัดเต้านม ปวดเต้านม
- เต้านมบวมแดง แต่ไม่มีไข้
- เมื่อกดแล้วจะรู้สึกเจ็บจี๊ดตรงที่เป็นก้อน
- หัวนมและลานนมผิดรูปไปจากเดิม
- บางครั้งมีเส้นเลือดปูดขึ้นชัดเจนที่บริเวณเต้านม
- อาจเกิดจุดสีขาวขึ้นที่บริเวณหัวนม (White Dot)
- น้ำนมไหลช้า หรือน้ำนมน้อยลง
สาเหตุที่ทำให้ท่อน้ำนมอุดตัน
น้ำนมอุดตันต้นเหตุของน้ำนมไหลน้อย หรือน้ำนมไหลช้าเกิดจากอะไรได้บ้าง
- เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน: คุณแม่มักมีการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนตลอดเวลา พอหลังคลอดกว่าฮอร์โมนจะเข้าสู่ปกติอาจใช้เวลา 2-3 วันเลยทีเดียว บางครั้งฮอร์โมนอาจกระตุ้นให้เกิดการผลิตน้ำนมในปริมาณมากเมื่อคุณแม่ระบายนมออกไม่หมดจึงเกิดภาวะท่อน้ำนมอุดตันขึ้น
- คุณแม่ให้ลูกดูดนมไม่บ่อย: แม่ให้นมบางคนอาจไม่มีเวลาให้นมลูกหรือปั๊มนมให้ลูก หรือปั๊มนมแค่ช่วงกลางวันพอตกกลางคืนไม่ได้ปั๊มนม พอคุณแม่ปล่อยให้นมค้างเต้านาน ๆ จึงเกิดท่อน้ำนมอุดตันได้
- นมค้างเต้า ถูกระบายออกไม่หมด: ปัญหานี้เป็นสาเหตุหลักที่อาจทำให้คุณแม่เกิดท่อน้ำนมอุดตันได้ ดังนั้น คุณแม่ควรให้ลูกกินนมเกลี้ยงเต้า หากลูกกินนมอิ่มก่อนเกลี้ยงเต้าให้คุณแม่พยายามบีบเอานมออกมาให้หมดทุกครั้ง
- ให้ลูกดูดนมอยู่ข้างเดียว: แม่ให้นมควรให้ลูกน้อยกินนมทั้งสองข้างให้นมระบายออกเท่า ๆ กัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการท่อน้ำนมอุดตัน
- ใส่เสื้อชั้นในรัดแน่นเกินไป: หากคุณแม่ใส่เสื้อชั้นในที่รัดแน่นเกินไปหรือสวมเสื้อชั้นในที่มีโครงอาจไปกดทับกับท่อน้ำนม ซึ่งอาจทำให้คุณแม่เกิดท่อน้ำนมอุดตันได้
- พฤติกรรมของคุณแม่: พฤติกรรมบางอย่างของคุณแม่อาจทำให้เกิดน้ำนมอุดตันได้ เช่น ชอบกินอาหารที่มีไขมันสูง ความเครียด หรือความรู้สึกเหนื่อยมากเกินไป เป็นต้น
คุณแม่จะดูแลตนเองอย่างไร เมื่อท่อน้ำนมอุดตัน
หากคุณแม่ มีอาการของท่อน้ำนมตัน ให้คุณแม่ดูแลตัวเองดังนี้
- ประคบอุ่นที่เต้านม: ให้คุณแม่ที่มีอาการใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบบริเวณเต้านม โดยใช้ความร้อนช่วยขยายท่อน้ำนมที่อุดตันให้สลายไป
- อาบน้ำด้วยน้ำอุ่น: การอาบน้ำอุ่นเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้คุณแม่สามารถบรรเทาอาการท่อน้ำนมอุดตันได้ โดยในระหว่างอาบน้ำคุณแม่อาจใช้วิธีการนวดเต้านมเพื่อสลายก้อนในบริเวณเต้านมให้น้ำนมสามารถไหลเวียนได้ง่ายขึ้น
- นวดคลายเต้านม: วิธีนี้จะช่วยเพิ่มการไหลของน้ำนมแม่ได้ดี เพราะการนวดจะทำให้หลอดเลือดบริเวณรอบเต้านมขยายตัวทำให้น้ำนมแม่ไหลได้สะดวก มีน้ำนมไหลมากพอให้ลูกน้อยกิน
- พยายามลดอาหารที่มีไขมันสูง: คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการทานอาหารที่มีไขมัน หวาน แป้ง และน้ำตาลมากเกินไปเพราะอาหารเหล่านี้อาจทำให้คุณแม่เสี่ยงต่ออาการท่อน้ำนมอุดตันได้
ท่อน้ำนมอุดตันเกิดได้แม้ลูกดูดนมและแม่ปั๊มนมตลอด
คุณแม่ที่ให้นมลูกน้อยเป็นประจำหรือปั๊มนมบ่อย ๆ สามารถเป็นท่อน้ำนมอุดตันได้ เนื่องจากทุกครั้งที่ลูกดูดนมจะไปกระตุ้นให้ร่างกายของคุณแม่ผลิตน้ำนมมากขึ้นจนทำให้คุณแม่มีน้ำนมในเต้ามากเกินไป เมื่อลูกดูดนมแม่ไม่หมดจึงมีน้ำนมค้างอยู่บริเวณรอบลานนมซึ่งเป็นต้นเหตุของอาการท่อน้ำอุดตันนั่นเอง ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการท่อน้ำนมอุดตันคุณแม่ควรใช้นิ้วรีดนมออกให้เกลี้ยงเต้าหลังจากให้ลูกกินนมแม่หรือปั๊มนมให้เกลี้ยงเต้าทุกครั้ง
วิธีป้องกันไม่ให้เกิดท่อน้ำนมอุดตัน
วิธีป้องกันไม่ให้คุณแม่เกิดอาการท่อน้ำนมอุดตัน มีดังนี้
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ: เนื่องจากน้ำมีส่วนช่วยในการผลิตน้ำนมของคุณแม่เป็นอย่างมาก หากคุณแม่ดื่มน้ำน้อยเวลาที่ปั๊มนมออกมาจะเห็นตะกอนตกอยู่ในน้ำนมแม่ด้วย ซึ่งตะกอนเหล่านี้จะทำให้เกิดอาการท่อน้ำนมอุดตันขึ้น ดังนั้นเมื่อคุณแม่เห็นตะกอนออกมาจากน้ำนมเมื่อไหร่ให้รีบดื่มน้ำเยอะ ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดท่อน้ำนมอุดตัน
- บีบระบายน้ำนม: เมื่อคุณแม่เกิดอาการคัดเต้าให้รีบบีบเอาน้ำนมที่ค้างอยู่ออกมา อย่าปล่อยทิ้งไว้เพราะจะทำให้เกิดอาการท่อน้ำนมอุดตันขึ้น
- หลีกเลี่ยงเสื้อชั้นในแบบมีโครง: คุณแม่อาจคิดว่าการใส่เสื้อชั้นในแบบมีโครงจะช่วยให้หน้าอกกระชับไม่หย่อนคล้อย แต่รู้หรือไม่ว่าเสื้อชั้นในแบบมีโครงจะทำให้เกิดอาการรัดใต้ราวนมขึ้น ซึ่งนำไปสู่อาการท่อน้ำอุดตันได้
- นวดเต้านมบ่อย ๆ: คุณแม่อาจจะใช้วิธีนวดเปิดเต้านมในระหว่างที่อาบน้ำได้ เพราะการนวดจะช่วยสลายก้อนที่อาจเกิดขึ้นในเต้านม อีกทั้งยังเป็นการช่วยระบายเอาน้ำนมแม่ที่ค้างเต้าออกมาได้
- ให้ลูกน้อยดูดนมอย่างถูกวิธี: ควรให้ลูกดูดนมตั้งแต่หัวนมจนถึงลานนม เพื่อให้ลูกสามารถดูดนมได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นต่อมน้ำนมให้กระจายไปทั่วเต้านมจะได้ไม่มีน้ำนมค้างเต้า
- อย่าปล่อยให้นมค้างเต้า: ควรให้ลูกดูดหรือปั๊มนมจนกลี้ยงเต้า และพยายามระบายน้ำนมออกจากเต้าให้หมดอย่าปล่อยให้นมค้างเต้านาน ๆ
- พยายามให้ลูกดูดนมบ่อย ๆ: คุณแม่ควรให้นมลูกหรือปั๊มนมทุก 2-3 ชั่วโมง เพื่อระบายน้ำนมออกมาให้มาก ๆ อย่าทิ้งนมค้างเต้าไว้เป็นเวลานาน
- ปรึกษาแพทย์: เพื่อรับการรักษาในกรณีที่จำเป็น และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
วิธีกายภาพบำบัดเพื่อรักษาอาการท่อน้ำนมอุดตัน
การรักษาท่อน้ำนมอุดตัน สามารถทำได้ 2 วิธี คือ
- อัลตราซาวด์: การใช้คลื่นอัลตราซาวด์ ซึ่งเป็นคลื่นเสียงความถี่สูงจึงทำให้ความร้อนสามารถลงไปได้ลึก เมื่อคลื่นอัลตราซาวด์ทำให้ท่อน้ำนมสั่นสะเทือน หลอดเลือดขยายตัว เลือดไหลเวียนได้ดี ก้อนแข็ง ๆ จึงสลายได้ง่ายขึ้น ทำให้น้ำนมไหลได้สะดวก
- นวดคลึงเต้านมโดยนักกายภาพบำบัด: คุณแม่หลายคนอาจนวดเต้านมเองแต่อาจนวดไม่ถูกวิธี วิธีนี้จึงเป็นอีกวิธีสำหรับคุณแม่ที่อยากนวดสลายเต้านมอุดตันเพื่อลดอาการปวด และกระตุ้นฮอร์โมนให้ผลิตน้ำนมให้มากขึ้น
อาการท่อน้ำนมอุดตันมักสร้างความเจ็บปวดให้คุณแม่ และทำให้น้ำนมไหลน้อยจนอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารก ทำให้คุณแม่รู้สึกว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นเรื่องที่ยาก หากคุณแม่รู้สึกว่าตัวเองมีน้ำนมไหลช้า รู้สึกปวดทุกครั้งที่ลูกกินนมหรือมีก้อนแข็งที่เต้านมให้รีบดูแลตัวเองก่อนถ้าไม่ดีขึ้นแนะนำให้เข้ารับการบำบัด หรือปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษา อย่าปล่อยทิ้งไว้นานเพราะอาจทำให้พัฒนาไปเป็นเต้านมอักเสบได้ ประโยชน์ของนมแม่มีอยู่มากมาย อุดมไปด้วยสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด เช่น ดีเอชเอ วิตามิน แคลเซียม และสฟิงโกไมอีลิน S-Mom Club ขอเป็นกำลังใจให้กับคุณแม่ให้นมทุกคนนะคะ
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ให้นม
- สฟิงโกไมอีลิน คืออะไร สำคัญต่ออย่างไรต่อสมองของลูกน้อย
- DHA สารอาหารสำคัญ ช่วยพัฒนาสมองของลูกน้อย
- 2’-FL คืออะไร ? รู้จัก 2’-FL โอลิโกแซคคาไรด์ในนมแม่ (HMOs)
- โพรไบโอติก (Probiotics) จุลินทรีย์ที่พบได้ในนมแม่ มีประโยชน์กับลูก
- พรีไบโอติก มีส่วนช่วยพัฒนาสมองในเด็กทารก
- น้ำนมเหลือง ที่มีสฟิงโกไมอีลิน สารอาหารสำคัญ ช่วยพัฒนาสมองจากแม่สู่ลูก
- เทคนิคเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สุดยอดสารอาหารจากแม่สู่ลูก
- เพิ่มน้ำนมคุณแม่ ด้วยการกระตุ้นน้ำนม จากธรรมชาติ ดีกับคุณแม่และลูก
- นมแม่อยู่ได้กี่ชม น้ำนมแม่เก็บได้นานแค่ไหน เก็บรักษาอย่างไรให้ถูกวิธี
- อาการทารกหิวนม สัญญาณจากลูกน้อย ที่คุณแม่สังเกตเองได้
- เด็กแรกเกิดกินนมกี่ออนซ์ ถึงจะดีที่สุด ปริมาณเท่าไหร่ถึงเรียกว่าพอดี
- วิธีจับลูกเรอ ท่าอุ้มเรอช่วยให้ลูกสบายท้อง หลังลูกอิ่มนม
- คัดเต้านมทำยังไงดี คัดเต้ากี่วันหาย พร้อมวิธีบรรเทาอาการนมคัด
- เจ็บหัวนม หัวนมแตก อาการเจ็บหัวนม ต้องรักษาอย่างไร ให้นมลูกต่อได้ไหม
อ้างอิง:
- ท่อน้ำนมอุดตัน – สาเหตุและการรักษา, โรงพยาบาลศิครินทร์
- กายภาพบำบัดในท่อน้ำนมอุดตัน, โรงพยาบาลบางปะกอก 9
- การรักษาภาวะคัดตึงเต้านมและภาวะท่อน้ำนมอุดตัน, โรงพยาบาลรามคำแหง
- ดูแลอย่างเข้าใจภาวะท่อน้ำนมอุดตัน, โรงพยาบาลบางปะกอก 9
- อัลตราซาวนด์เปิดท่อน้ำนม คุณแม่หมดกังวลท่อน้ำนมอุดตัน, โรงพยาบาลกรุงเทพ
อ้างอิง ณ วันที่ 4 มกราคม 2567