Colostrum คือ น้ำนมสีเหลืองที่มีสฟิงโกไมอีลิน เสริมภูมิคุ้มกันลูก
น้ำนมแม่ไม่ได้มีแค่น้ำนมสีขาวแต่ยังมีน้ำนมสีอื่นด้วยนะ คุณแม่มือใหม่รู้หรือไม่ว่า “น้ำนมสีเหลือง (Colostrum)” ที่ไหลออกมาหลังคลอด อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีโภชนาการสูงที่สุด มีแอนติบอดีสำหรับสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อย และมี สฟิงโกไมอีลิน ช่วยสร้างไมอีลิน หนึ่งในสารอาหารสำคัญสำหรับของสมองของทารก น้ำนมส่วนนี้จึงเป็นน้ำนมที่ล้ำค่ามากที่สุด 1
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- น้ำนมเหลือง (Colostrum) คืออะไร
- ทำความรู้จักนมแม่ทั้ง 3 ระยะ
- ประโยชน์และสารอาหารในน้ำนมเหลืองที่ดีต่อลูกน้อย
- คุณแม่ควรให้น้ำนมกับลูกรักนานเท่าไหร่
น้ำนมเหลือง (Colostrum) คืออะไร?
น้ำนมเหลือง (Colostrum) คือ น้ำนมส่วนแรก หรือที่เรียกว่า “หัวน้ำนม” เริ่มก่อตัวขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 16 ของการตั้งครรภ์ แม้ว่าน้ำนมชนิดนี้จะมีปริมาณน้อยแต่อุดมไปด้วยสารอาหารทั้งโปรตีน มีแอนติบอดีที่ช่วยสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย และโกรทแฟคเตอร์ (Growth Factor) ที่มีบทบาทสำคัญต่อการกระตุ้นการเติบโตของทารก น้ำนมเหลืองจากอกแม่จึงเป็นทั้ง “อาหารมื้อแรก” ที่มีคุณค่าทางโภชนาการมากที่สุด และยังเป็น “วัคซีนหยดแรก” ที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อยได้ดีที่สุด
ทำความรู้จักนมแม่ทั้ง 3 ระยะ
เพราะนมแม่ คือ โภชนาการที่ดีที่สุดของลูกน้อยตั้งแต่แรกเกิด และยังเป็นวัคซีนธรรมชาติหยดแรกที่ทารกได้รับ ทำให้ภายในน้ำนมแม่จึงมีการปรับเปลี่ยนสารอาหารที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของลูกในแต่ละช่วงเวลาอยู่เสมอ สีของน้ำนมแม่ในแต่ระยะจึงมีสีและสารอาหารที่แตกต่างกัน โดยนมแม่ถูกแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1: น้ำนมเหลือง (Colostrum)
เป็นหัวน้ำนมที่ไหลออกมาภายใน 2-3 วันแรกหลังคลอดลูก ช่วงแรกอาจจะมีสีใสก่อนจะเป็นสีเหลือง น้ำนมช่วงนี้ถือได้ว่าอุดมไปด้วยประโยชน์ของนมแม่และเป็นแหล่งอาหารสำคัญมากกว่าน้ำนมระยะอื่น ทั้งโปรตีนที่มีมากกว่า แร่ธาตุมากกว่า และมีไขมันต่ำทำให้ย่อยได้ง่าย รวมถึง “สฟิงโกไมอีลิน” หนึ่งในสารอาหารที่สำคัญของน้ำนมเหลืองที่มีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตของสมอง
ระยะที่ 2: น้ำนมช่วงปรับเปลี่ยน (Transitional Milk)
เกิดขึ้นหลังจากวันที่ 4 หลังคลอดและกินระยะเวลาไปประมาณ 2 สัปดาห์ ในช่วงนี้สีของน้ำนมคุณแม่จะไม่มีสีเหลืองเข้มแล้วแต่จะค่อย ๆ จางลงไปจนกลายเป็นสีขาวขุ่น อุดมไปด้วยสารอาหารหลักจำพวกไขมัน วิตามินและพลังงานมากกว่าในระยะน้ำนมเหลือง
ระยะที่ 3: น้ำนมสีขาวปกติ (Mature Milk)
สีของน้ำนมแม่ จะเป็นน้ำนมสีขาวขุ่นปกติที่เกิดขึ้นหลังจากคลอดลูกได้ 2 สัปดาห์แล้ว น้ำนมในส่วนนี้ยังคงมีสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตและเพิ่มภูมิคุ้มกันเช่นเดียวกันทั้งไขมัน วิตามิน แร่ธาตุ คาร์โบไฮเดรต และโปรตีน แต่มีน้ำเป็นส่วนประกอบมากถึง 87% เลยทีเดียว
ประโยชน์และสารอาหารในน้ำนมเหลืองที่ดีต่อลูกน้อย
1. ช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน
ในน้ำนมเหลืองมีเซลล์เม็ดเลือดขาวจำนวนมากที่ช่วยผลิตแอนติบอดีที่สำคัญในการต่อต้านเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส จึงเกิดการกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันของทารก ทั้งยังช่วยป้องกันการติดเชื้อในลำไส้และระบบทางเดินหายใจของลูกน้อย และยังลดอาการเจ็บป่วยที่รุนแรงลงได้ดี โดยภูมิคุ้มกันเหล่านีจากแม่ได้ส่งผ่านโดยตรงไปยังลูกน้อยผ่านทางน้ำนมแม่
2. ช่วยระบบย่อยอาหาร
น้ำนมเหลืองมีทั้งเวย์โปรตีน และไขมันที่ต่ำที่ช่วยให้ลูกน้อยย่อยได้ง่ายขึ้น และมีระดับแร่ธาตุที่น้อย ทำให้ไม่ต้องขับถ่ายของเสียมากนัก และมักจะมีกลิ่นที่ไม่เหม็นมาก
3. ช่วยเรื่องการขับถ่าย
น้ำนมเหลือง อุดมไปด้วยสารที่ช่วยทำให้ลำไส้แข็งแรง เมื่อลูกน้อยกินนมแม่ที่เป็นน้ำนมเหลืองเข้าไปจะช่วยให้ภายในลำไส้เกิดการกระตุ้นการเพิ่มจุลินทรีย์สุขภาพ ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่ดีในลำไส้ ลูกน้อยจึงถ่ายง่าย แถมยังช่วยป้องกันอาการไม่สบายท้อง และมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ ที่ช่วยขับขี้เทา (อุจจาระครั้งแรกของทารก) ของลูกน้อย
4. มีแร่ธาตุที่สำคัญ
น้ำนมเหลืองเต็มไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นต่อพัฒนาการแรกเริ่มของทารกที่สุด และยังเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันธรรมชาติที่ดีที่สุด นอกจากโปรตีน ไขมันแล้ว ยังมีวิตามินเอที่มีส่วนสำคัญต่อการมองเห็นของทารกและผิวหนัง รวมทั้งยังมีแร่ธาตุอย่างแมกนีเซียมที่ช่วยบำรุงหัวใจและกระดูก มีทองแดงกับสังกะสีที่ช่วยพัฒนาระบบภูมิคุ้มกัน มีสารอาหารที่ช่วยเรื่องการเติบโตของกระดูกและกล้ามเนื้ออีกด้วย
5. มีส่วนช่วยในการพัฒนาสมอง
ภายในสมองประกอบด้วยเซลล์ประสาทจำนวนมากที่เชื่อมต่อกันส่งผลให้เกิดการเรียนรู้และความเข้าใจ ในนมแม่ มีทอรีนและสังกะสีที่มีส่งผลต่อพัฒนาการทางสมอง รวมถึงสฟิงโกไมอีลิน ไขมันที่พบมากในน้ำนมเหลืองที่ช่วยสร้างการเจริญเติบโตของสมองและพัฒนาการด้านความรู้ความเข้าใจของทารก
คุณแม่ควรให้น้ำนมกับลูกรักนานเท่าไหร่
คุณแม่ควรให้ลูกน้อยได้รับนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก และสามารถให้ต่อเนื่องได้นานถึงอายุ 2 ปี หรือนานกว่านั้น เพราะนมแม่มีสารอาหารกว่า 200 ชนิด อุดมไปด้วยแหล่งอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย พัฒนาการของระบบต่าง ๆ ทั้งการสร้างระบบภูมิคุ้มกัน และพัฒนาการทางสมอง
ในช่วง 3 วันแรกหลังคลอดลูก เป็นช่วงเวลาทองของน้ำนมแม่ คุณแม่ต้องไม่พลาดให้ลูกน้อยได้ทาน “น้ำนมเหลือง (Colostrum)” เพราะเป็นโอกาสเดียวที่คุณแม่ได้มอบคุณค่าทางโภชนาการสูงที่สุดให้ลูกแล้ว ยังเป็นช่วงเวลาเดียวที่ได้ส่งมอบวัคซีนธรรมชาติหยดแรกจากอกแม่สู่ลูกน้อย ทำให้หนูน้อยได้รับสารอาหารและวิตามินเพื่อสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ต้านการอักเสบ ควบคุมการเจริญเติบโต และยังมีสฟิงโกไมอีลิน สารอาหารสำคัญในน้ำนมเหลืองที่ช่วยในการทำงานของสมองอีกด้วย เพื่อที่ลูกจะได้มีพัฒนาการอย่างสมวัย และมีภูมิคุ้มกันที่ดี
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ให้นม
- สฟิงโกไมอีลิน คืออะไร สำคัญต่ออย่างไรต่อสมองของลูกน้อย
- DHA สารอาหารสำคัญ ช่วยพัฒนาสมองของลูกน้อย
- 2’-FL คืออะไร ? รู้จัก 2’-FL โอลิโกแซคคาไรด์ในนมแม่ (HMOs)
- โพรไบโอติก (Probiotics) จุลินทรีย์ที่พบได้ในนมแม่ มีประโยชน์กับลูก
- พรีไบโอติก มีส่วนช่วยพัฒนาสมองในเด็กทารก
- น้ำนมเหลือง ที่มีสฟิงโกไมอีลิน สารอาหารสำคัญ ช่วยพัฒนาสมองจากแม่สู่ลูก
- เทคนิคเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สุดยอดสารอาหารจากแม่สู่ลูก
- เพิ่มน้ำนมคุณแม่ ด้วยการกระตุ้นน้ำนม จากธรรมชาติ ดีกับคุณแม่และลูก
- นมแม่อยู่ได้กี่ชม น้ำนมแม่เก็บได้นานแค่ไหน เก็บรักษาอย่างไรให้ถูกวิธี
- อาการทารกหิวนม สัญญาณจากลูกน้อย ที่คุณแม่สังเกตเองได้
- เด็กแรกเกิดกินนมกี่ออนซ์ ถึงจะดีที่สุด ปริมาณเท่าไหร่ถึงเรียกว่าพอดี
- วิธีจับลูกเรอ ท่าอุ้มเรอช่วยให้ลูกสบายท้อง หลังลูกอิ่มนม
- คัดเต้านมทำยังไงดี คัดเต้ากี่วันหาย พร้อมวิธีบรรเทาอาการนมคัด
- เจ็บหัวนม หัวนมแตก อาการเจ็บหัวนม ต้องรักษาอย่างไร ให้นมลูกต่อได้ไหม
- ทารกไม่ยอมนอน ลูกงอแงไม่ยอมนอนไม่มีสาเหตุ พร้อมวิธีรับมือ
- วิธีชงนมที่ถูกต้อง พร้อมขั้นตอนการเตรียมน้ำชงนม สำหรับแม่มือใหม่
อ้างอิง:
- น้ำนมแม่ ‘โคลอสตรัม’ ดีที่สุด, โรงพยาบาลราชวิถี
- Breastfeeding Makes a Difference, Department of Health, State of New Jersey
- Colostrum (Liquid Gold), El paso Children’s Hospital
- สารอาหารในน้ำนมแม่, กรมอนามัย
- คู่มือมารดาหลังคลอดและการดูแลทารก, กรมอนามัย
- Lindahl IEI, et al. Nutrients. 2019 Feb; 11(2): 222.
อ้างอิง ณ วันที่ 12 ส.ค. 2566
บทความที่เกี่ยวข้อง