ยาประสะน้ำนม กระตุ้นน้ำนม ช่วยเพิ่มน้ำนมคุณแม่ได้จริงไหม
คุณแม่ให้นมคงกังวลใจไม่น้อย เมื่อพบว่าน้ำนมไหลน้อยกลัวลูกได้นมไม่เพียงพอ คุณแม่หลายคนจึงพยายามมองหาวิธีที่ช่วยให้น้ำนมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพนอกจากการใช้ยาประสะน้ำนม แต่จะมีวิธีอะไรบ้างที่จะช่วยให้คุณแม่เพิ่มปริมาณน้ำนมให้ลูกน้อยได้อย่างปลอดภัยและเพียงพอต่อความต้องการของทารก เรามาหาคำตอบกับบทความนี้กันเลย
สรุป
- ยาประสะน้ำนม คือ ยาตำรับสมุนไพรที่ใช้ในการบำรุงน้ำนมของคุณแม่หลังคลอด โดยมีสรรพคุณบำรุงน้ำนม เพิ่มปริมาณน้ำนม และกระตุ้นการไหลของน้ำนมแม่
- การให้ลูกดูดนมบ่อย ๆ ดูดนมนาน ๆ ครั้งละประมาณ 15 นาที จะช่วยให้คุณแม่สามารถเพิ่มน้ำนมให้ผลิตมากขึ้น
- แม่ให้นมควรเลือกทานอาหารที่ดีเพื่อเสริมสร้างการเพิ่มน้ำนม โดยกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ควรกินธัญพืชให้ได้ประมาณร้อยละ 40 ของปริมาณอาหารต่อวัน รวมถึงใช้น้ำมันพืชแทนน้ำมันสัตว์
- นมแม่สามารถสร้างขึ้นมาได้จากการทานอาหารที่อุดมไปด้วยแหล่งของสารอาหารสำคัญในการช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำนม ได้แก่ โปรตีน แคลเซียม วิตามินเอ และวิตามินบี 2
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- ยาประสะน้ำนม คืออะไร
- เคล็ดลับเพิ่มน้ำนม นอกจากการใช้ยาประสะน้ำนม
- แม่ให้นมควรกินอาหารอย่างไรให้มีน้ำนมเพียงพอ แทนการกินยากระตุ้นน้ำนม
- 4 สารอาหารเพิ่มการสร้างน้ำนม โดยไม่ต้องพึ่งยาเพิ่มน้ำนม
ยาประสะน้ำนม คืออะไร
ยาประสะน้ำนม คือ ยาตำรับสมุนไพรที่ใช้ในการบำรุงน้ำนมของคุณแม่หลังคลอด โดยมีการระบุสรรพคุณบำรุงน้ำนม เพิ่มปริมาณน้ำนม และกระตุ้นการไหลของน้ำนมแม่ ปัจจุบันยาประสระน้ำนม เป็นยาสมุนไพรที่จัดอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
อย่างไรก็ตาม แนะนำให้คุณแม่ปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และลูกน้อย
เคล็ดลับเพิ่มน้ำนม นอกจากการใช้ยาประสะน้ำนม
คุณแม่หลายคนคงมองหาวิธีการเพิ่มน้ำนมที่รวดเร็วโดยใช้ยาเพิ่มน้ำนม ไม่ว่าจะเป็นยาประสะน้ำนมที่เป็นยาแผนไทย หรือยาเพิ่มน้ำนมที่เป็นยาแผนปัจจุบัน แต่การใช้ยาเหล่านี้อาจมีความเสี่ยงทั้งต่อคุณแม่และลูกน้อย เรามาดูวิธีการเพิ่มน้ำนมที่ปลอดภัยสำหรับคุณแม่และลูกน้อยกันดีกว่า โดยมีวิธีดังนี้
1. ให้ลูกดูดนมบ่อย ๆ
แม่ควรให้ลูกดูดนมบ่อย ๆ วันละ 8-12 ครั้ง หรือตามที่ลูกน้อยต้องการ เพื่อกระตุ้นน้ำนมโดยแต่ละครั้งควรปล่อยให้ลูกดูดนานข้างละประมาณ 15 นาที หรือจนกว่าลูกน้อยจะเลิกดูดไปเอง
2. นวดเต้านม หรือประคบร้อนที่เต้านม
การนวดเต้านม หรือการประคบร้อนที่เต้านมเป็นอีกวิธีที่ช่วยกระตุ้นน้ำนมของคุณแม่ได้ โดยเริ่มจากใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบที่บริเวณเต้านมประมาณ 3-5 นาที จากนั้นใช้นิ้วมือ 3 นิ้ว นวดคลึงเบา ๆ บริเวณเต้านม เป็นวงกลมตั้งแต่ฐานเต้านมไปถึงตรงปลายใกล้หัวนม เพื่อให้น้ำนมไหลได้สะดวกยิ่งขึ้น
3. กระตุ้นจี๊ดเพิ่มน้ำนม
การกระตุ้นจี๊ด หรือปั่นจี๊ด เป็นวิธีการกระตุ้นน้ำนมแม่โดยใช้ปลายนิ้ว เริ่มจากให้คุณแม่ใช้หัวแม่มือ และนิ้วชี้บีบคลึงที่บริเวณหัวนมเบา ๆ เป็นรูปวงกลมประมาณ 1-2 นาที
4. ปั๊มนมให้เกลี้ยงเต้า
สำหรับคุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยวิธีปั๊มนม แนะนำให้คุณแม่ใช้เวลาปั๊มนมในแต่ละครั้งนาน 15-30 นาที หรือจนกว่านมจะเกลี้ยงเต้า และควรปั๊มนมทุก 3–4 ชั่วโมง ในช่วงเวลากลางวัน
5. ดื่มน้ำและพักผ่อนให้เพียงพอ
การดื่มน้ำและพักผ่อนให้เพียงพอ จะทำให้ร่างกายของคุณแม่พร้อมที่จะผลิตสารอาหารที่จำเป็นในน้ำนมแม่ให้แก่ลูกน้อยได้
6. กินอาหารที่ช่วยบำรุงน้ำนม
คุณแม่หลังคลอดสามารถนำผักและสมุนไพรมาทำอาหารให้หลากหลายเมนู เพื่อกระตุ้นการเพิ่มน้ำนมได้ เช่น บวบอ่อน ผลน้ำเต้าอ่อน ข้าวโพดอ่อน ใบแมงลัก หัวปลี และขิง เป็นต้น
7. ใช้ท่าให้นมที่เหมาะสม
คุณแม่ต้องอุ้มลูกน้อยเข้าเต้าให้ถูกวิธี โดยให้ลำตัวและศีรษะของลูกอยู่ในระดับเดียวกัน และประคองลูกน้อยอยู่ในอ้อมกอดชิดกับลำตัวของแม่ เพื่อให้ลูกน้อยดูดนมแม่กระตุ้นให้น้ำนมไหลออกมา
แม่ให้นมควรกินอาหารอย่างไรให้มีน้ำนมเพียงพอ แทนการกินยากระตุ้นน้ำนม
นมแม่ คือสารอาหารที่ดีที่สุดสำหรับลูกน้อย เพราะอุดมไปด้วยสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด เช่น ดีเอชเอ แคลเซียม แอลฟา-แล็คตัลบูมิน และสฟิงโกไมอีลิน รวมทั้งยังมีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์หลายสายพันธุ์ อย่างบีแล็กทิส (B. lactis) ที่ช่วยลูกน้อยเติบโตอย่างแข็งแรง หากคุณแม่กังวลว่าน้ำนมจะไม่พอ สามารถกินอาหารตามคำแนะนำ ดังต่อไปนี้
- กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ทั้งโปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุ รวมถึงต้องทานอาหารให้ได้พลังงานประมาณ 2,500 กิโลแคลอรี่ต่อวัน ถึงจะเพียงพอต่อความต้องการของแม่ให้นม
- ควรกินธัญพืชอย่างข้าวกล้อง หรือขนมปังโฮลวีตให้ได้ประมาณร้อยละ 40 ของปริมาณอาหารต่อวัน เพราะธัญพืชบางชนิดจะช่วยให้การหลั่งน้ำนมแม่เพิ่มขึ้นได้
- เปลี่ยนจากไขมันสัตว์เป็นไขมันพืชอย่างน้ำมันถั่วเหลือง เพราะมีกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย ทั้งยังมีส่วนช่วยให้ร่างกายของคุณแม่ดูดซึมวิตามินได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย
- หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด อาหารหมักดอง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาดอง รวมถึงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน
- ดื่มนมให้ได้วันละประมาณ 2-3 แก้ว เพราะจะทำใหคุณแม่ได้รับสารอาหารที่ดีจากนม อีกทั้งยังดูดซึมได้ง่ายด้วย
นอกจากนี้ แม่ให้นมควรงดสูบบุหรี่เพื่อสุขภาพที่ดีของคุณแม่และลูกน้อย หากคุณแม่อยากกินยาเพิ่มน้ำนม หรือยาบำรุงน้ำนมอื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง
4 สารอาหารเพิ่มการสร้างน้ำนม โดยไม่ต้องพึ่งยาเพิ่มน้ำนม
แม่ให้นมสามารถเพิ่มน้ำนมได้ โดยไม่ต้องเพิ่งยาเพิ่มน้ำนม เพราะนมแม่สามารถสร้างขึ้นมาได้จากการทานอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารสำคัญซึ่งจะช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำนมให้กับแม่หลังคลอด ได้แก่
1. โปรตีน
แม่ให้นมจำเป็นต้องได้รับโปรตีนให้เพียงพอเพื่อใช้ในการสร้างน้ำนม และซ่อมแซมเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกายระหว่างการคลอด อีกทั้งการขาดโปรตีนมาก ๆ อาจทำให้คุณแม่มีภาวะบวมโลหิตจาง และภูมิคุ้มกันที่ต่ำอีกด้วย
2. แคลเซียม
แคลเซียม เป็นอีกหนึ่งสารอาหารที่ช่วยเพิ่มการสร้างน้ำนมให้กับคุณแม่ รวมถึงยังช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและฟันสำหรับคุณแม่และลูกน้อยด้วย คุณแม่จึงควรเสริมแคลเซียมด้วยนมหรือผลิตภัณฑ์จากนมเป็นประจำ
3. วิตามินเอ
หลังคลอดแม่ให้นมจะต้องการวิตามมินเอเพื่อใช้ในการสร้างน้ำนม ซึ่งคุณแม่จะได้รับวิตามินเอได้จากอาหาร ไม่ว่าจะจากสัตว์หรือพืช เช่น ไข่แดง ตับ ผักกาดเขียว แครอท ฟักทอง และมะละกอสุก เป็นต้น
4. วิตามินบี 2
สำหรับวิตามินบี 2 เป็นวิตามินที่สำคัญกับการสร้างน้ำนมให้กับแม่ให้นมเช่นกัน พบมากในอาหารจำพวก นม เนย ไข่ เครื่องในสัตว์ ผักใบเขียว และถั่วเมล็ดแห้ง
น้ำนมแม่สร้างได้ ด้วยการเลือกทานอาหารที่ช่วยเสริมสร้างน้ำนมอย่างโปรตีน แคลเซียม วิตามินเอ และวิตามินบี 2 อยู่เสมอ และควรทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อสุขภาพที่ดีและส่งต่อภูมิต้านทานที่ดีไปสู่ลูกน้อยในอนาคตด้วย
แม้ว่ายาประสะน้ำนมสามารถใช้เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำนมได้ แต่เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่ แม่ให้นมอาจใช้วิธีอื่น ๆ ในการช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำนม เช่น ให้ลูกดูดนมบ่อย ๆ หรือปั๊มนมเป็นประจำ รวมถึงการเลือกทานอาหารที่ช่วยเพิ่มน้ำนมมากขึ้น เพื่อให้คุณแม่สามารถให้นมลูกน้อยได้นานที่สุด เพราะในนมแม่มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด เช่น ดีเอชเอ โคลีนและลูทีน แอลฟา-แล็คตัลบูมิน และสฟิงโกไมอีลิน ที่ช่วยพัฒนาสมอง รวมทั้งยังมีบีแล็กทิส (B. lactis) หนึ่งในจุลินทรีย์สุขภาพในกลุ่มบิฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) ที่ช่วยให้สร้างระบบภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อยเจริญเติบโตอย่างแข็งแรง และยังลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยอีกด้วย
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่
- Health check แบบประเมินสุขภาพของคุณแม่และพัฒนาการของลูกน้อย
- หัวนมบอด คืออะไร ปัญหาหัวนมบอดของคุณแม่ให้นมที่แก้ไขได้
- หัวนมคนท้อง การเปลี่ยนแปลงของเต้านมคนท้องระหว่างตั้งครรภ์
- หัวนมแตก อาการเจ็บหัวนมดูแลอย่างไร คุณแม่ให้นมลูกต่อได้ไหม
- วิธีให้นมลูกสำหรับคุณแม่มือใหม่ การให้นมลูกหลังคลอดที่ถูกต้อง
- วิธีให้ลูกดูดขวด เมื่อลูกติดเต้าไม่ดูดขวดนม พร้อมวิธีรับมือลูกน้อย
- วิธีกู้น้ำนม เมื่อคุณแม่น้ำนมไม่ไหล น้ำนมหด พร้อมวิธีเพิ่มน้ำนม
- วิธีจับลูกเรอ ท่าอุ้มเรอเมื่อลูกไม่เรอ ช่วยให้ลูกสบายท้องหลังอิ่มนม
- ท่าให้นมลูก ท่านอนให้นม พร้อมท่าจับเรอ ป้องกันลูกน้อยท้องอืด
- ท่อน้ำนมอุดตัน ภาวะท่อน้ำนมตันของคุณแม่ให้นมหลังคลอด
- วิธีนวดเปิดท่อน้ำนม นวดเต้าหลังคลอด แก้ไขปัญหาคุณแม่น้ำนมน้อย
อ้างอิง:
- แพทย์แผนไทยฯ เผยตำรับยาประสะน้ำนม ช่วยเพิ่มน้ำนมมารดาหลังคลอดให้เพียงพอสำหรับเลี้ยงลูก พร้อมแนะสมุนไพรพื้นบ้านที่มีสรรพคุณช่วยบำรุงน้ำนม เนื่องในวันแม่แห่งชาติ, กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
- ยาดอมเพอริโดน (Domperidone) กับการกระตุ้นน้ำนม, กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค
- การเรียกน้ำนมแม่กลับคืน (Relactation), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
- เทคนิคจัดการน้ำนมแม่ ให้ลูกอิ่มหนำสำราญ, โรงพยาบาลเวชธานี
- นวดเปิดท่อน้ำนม และอัลตราซาวด์, โรงพยาบาลนนทเวช
- เคล็ดลับการบีบหรือปั๊มนมแม่ การเก็บรักษาน้ำนม, โรงพยาบาลศิครินทร์
- โภชนาการแม่หลังคลอดระยะให้นมลูก, โรงพยาบาลนครธน
- โภชนาการหญิงให้นมบุตร, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
อ้างอิง ณ วันที่ 7 ตุลาคม 2567
บทความที่เกี่ยวข้อง