อายุครรภ์ 32 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 32 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
การผจญภัยครั้งยิ่งใหญ่ของคุณแม่ดำเนินมาแล้วถึงสัปดาห์ที่ 32 ช่วงนี้ให้คุณแม่ลูบท้องและคุยกับน้องบ่อย ๆ คุณแม่คงอยากเจอน้องเร็ว ๆ และอาจกังวลอยู่กับหลาย ๆ เรื่องไปพร้อม ๆ กันด้วย ในตอนอายุครรภ์ 32 สัปดาห์ ลูกน้อยในท้องของคุณแม่จะได้ยินทุกอย่างที่คุณแม่คุยกับเขา เหตุผลที่คุณแม่จะมั่นใจแบบนั้นได้ อธิบายอยู่ในบทความนี้แล้วค่ะ เช่นเดียวกับเรื่องการเจริญเติบโตและขนาดของลูกน้อย สัญญาณเตือนที่คุณแม่ต้องเฝ้าระวัง และเรื่องน่ารู้มีประโยชน์เพื่อสุขภาพและความสบายใจของคุณแม่
สรุป
- พัฒนาการลูกน้อยที่อายุครรภ์ 32 สัปดาห์ ปอดพัฒนาเพื่อการหายใจหลังคลอด ระบบสืบพันธุ์เกือบสมบูรณ์แล้วผิวพรรณมีความทึบแสง ระบบหูและการได้ยินเตรียมพร้อมใช้งานจริง ในช่วงนี้สมองของลูกน้อยสามารถรับรู้และเกิดความทรงจำจากเสียงและรสชาติที่ได้รับ
- สัญญาณเตือนการคลอดก่อนกำหนดที่ควรเฝ้าระวังในช่วงท้อง 32 สัปดาห์ เช่น ท้องแข็ง ปวดอวัยวะเพศ ปวดหัวหน่าว เลือดออกผิดปกติ ร่วมกับการบีบตัวของมดลูก หากมีอาการหรือกังวลใจ ควรรีบปรึกษาแพทย์
- อาการที่พบบ่อยในคุณแม่ตั้งครรภ์ 32 สัปดาห์ คือ ปวดหลัง กรดไหลย้อน บวม ปวดเกร็งหน้าท้อง ผิวบริเวณที่ให้นมเปลี่ยนสี และอาจมีน้ำนมไหลออกมา เป็นอาการปกติ แสดงว่าคุณแม่พร้อมเป็นคุณแม่เต็มตัวแล้ว
- การรักษาสุขภาพในระยะนี้ คุณแม่เน้นใส่ใจอาหารการกิน ไม่กินรสจัดหรือของหมักดอง รักษาระดับน้ำในร่างกายและรับประทานอาหารที่มีกากใยเพื่อช่วยในการขับถ่าย จะได้ลดหรือป้องกันอาการกรดไหลย้อน หรือความไม่สบายทางร่างกายอื่น ๆ อาจจะใช้อุปกรณ์สนับสนุน และทำกิจกรรม เช่น โยคะ ก็สามารถช่วยได้ดี
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- การเจริญเติบโตในร่างกายของลูกน้อย
- สัญญาณเตือน คุณแม่อายุครรภ์ 32 สัปดาห์
- อาการคนท้อง 32 สัปดาห์ ที่พบได้ทั่วไป
- ท้อง 32 สัปดาห์ ท้องจะใหญ่ขึ้นแค่ไหน
- ท้อง 32 สัปดาห์ ลูกในครรภ์จะตัวใหญ่แค่ไหน
- การดูแลตัวเอง สำหรับคุณแม่ท้อง 32 สัปดาห์
การเจริญเติบโตในร่างกายของลูกน้อย
- ปอด พัฒนาจนอยู่ในระดับที่สามารถทำงานนอกมดลูกได้แล้ว การพัฒนานี้ใกล้จะสมบูรณ์ และลูกน้อยของคุณแม่กำลังฝึกการหายใจอยู่ เป็นเรื่องที่คุณแม่อาจจะประหลาดใจ แต่การฝึกหายใจของลูกน้อยนั้นเป็นการหายใจเข้าและออกเป็นน้ำคร่ำ
- ระบบสืบพันธุ์ มีการพัฒนาเกือบสมบูรณ์แล้ว เด็กผู้ชายจะมีอวัยวะเพศและถุงอัณฑะ ลูกอัณฑะของน้องเริ่มเคลื่อนลงมา กรณีเด็กผู้หญิง มดลูกและรังไข่เติบโตอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องแล้ว
- ผิว ในช่วงนี้ผิวของทารกเริ่มทึบมากขึ้น ไม่โปร่งแสง
- หูและการได้ยิน ช่องหูชั้นกลาง ช่องหูชั้นนอก และส่วนนอกของหู ถูกสร้างขึ้นอย่างสมบูรณ์ ลูกน้อยของคุณแม่ได้ยินทุกอย่างที่พูดกับเขา และพร้อมที่จะตอบสนองต่อเสียงเร้าด้วย
- สมอง คลื่นสมองของลูกน้อยในอายุครรภ์ 32 สัปดาห์ แทบจะไม่แตกต่างจากคลื่นสมองของผู้ใหญ่ในขณะนอนหลับ และลูกน้อยในสัปดาห์นี้สามารถมีความทรงจำเรื่องเสียงและความรู้สึกของรสชาติได้ โดยฟังเสียงของคุณแม่เวลาที่พูดกับเขา จำได้ด้วยว่าเป็นเสียงของคุณแม่ ส่วนเรื่องรสชาติ อย่างรสของกระเทียมและโหระพาที่กลิ่นชัดเจนจะสามารถส่งผ่านมาจากระบบทางเดินอาหารของคุณแม่ เลือดของคุณแม่ ไปยังน้ำคร่ำที่ลูกน้อยแหวกว่ายอยู่ ยิ่งไปกว่านั้นลูกน้อยยังฝันได้อีกด้วยค่ะ เพราะมีรูปแบบการนอนหลับแบบ REM (Rapid Eye Movement) บางทีคุณแม่อาจจะอยากถามลูกน้อยว่าเขาฝันอะไรอยู่นะ หรือฉวยโอกาสนี้ร้องเพลง เล่นดนตรี หรือเล่านิทานให้ฟัง
สัญญาณเตือน คุณแม่อายุครรภ์ 32 สัปดาห์
การที่อวัยวะต่าง ๆ พัฒนาไปมากจนคุณแม่สื่อสารกับลูกน้อยได้อย่างตั้งใจ ชวนฟัง ชวนคุยได้ คุณแม่คงรู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างมาก และมองหาสัญญาณถึงการรับรู้หรือการเรียนรู้ของลูกน้อยในท้อง แต่ก็มีสัญญาณบางอย่างส่งจากร่างกายของคุณแม่เป็นการเตือนที่ต้องเฝ้าระวัง ในสัปดาห์ที่ 32 เป็นช่วงเวลาที่พบกับความเสี่ยงการคลอดก่อนกำหนด สัญญาณที่เกิดขึ้นก่อน มีดังต่อไปนี้ค่ะ
1. ท้องแข็ง
อาการปวดเกร็งที่ท้องหรืออาการท้องแข็ง โดยทั่วไปจะเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน ไม่บ่อยนัก แต่ละครั้งกินเวลา 30 วินาทีถึง 2 นาทีเท่านั้นเอง และไม่เป็นจังหวะ วิธีการบรรเทาอาการเจ็บนี้คือให้เปลี่ยนอิริยาบถ จากที่ยืนอยู่ก็ให้ลงไปนอนราบ หรือถ้านั่งอยู่เฉย ๆ ก็ลุกขึ้นยืดเส้นยืดสาย การดื่มน้ำเพื่อลดอาการขาดน้ำก็ช่วยบรรเทาอาการปวดนี้ได้ด้วย แต่ถ้ารู้สึกว่าปวดซ้ำ ๆ ถี่ ๆ เป็นรูปแบบหรือจังหวะ เป็นสัญญาณเตือนให้รีบไปโรงพยาบาลหรือติดต่อคุณหมอที่ดูแลทันที
2. ปวดอวัยวะเพศ
เมื่อมดลูกโตขึ้น ก็จะกดดันร่างกายส่วนล่างมากขึ้นเรื่อย ๆ จนรู้สึกปวดที่อวัยวะเพศได้ อาการนี้มักเป็นร่วมกับการปวดหัวหน่าว
3. ปวดหัวหน่าว (กระดูกเชิงกราน)
หัวหน่าว คือ ข้อต่อที่อยู่ตรงกลางระหว่างกระดูกเชิงกราน อยู่เหนือช่องคลอด เมื่อคุณแม่ตั้งท้อง 32 สัปดาห์ เอ็นรอบข้อต่อหรือหัวหน่าวจะยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อให้ลูกน้อยของคุณแม่สามารถลอดผ่านได้ระหว่างการคลอด เมื่อเส้นเอ็นผ่อนคลายเกินไป ก็อาจทำให้รู้สึกไวและเจ็บปวดได้ ถ้าหากว่ารู้สึกเจ็บเป็นเวลานานนับชั่วโมงอาจเป็นสัญญาณเตือนก็ได้
4. มีเลือดออกผิดปกติ
หลังอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ เลือดที่ไหลออกทางช่องคลอดจะมากหรือน้อยเป็นสัญญาณที่ไม่ดี อาจเกิดจากภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด ทำให้ลูกน้อยเกิดสภาวะขาดออกซินเจนได้ หรือบางทีเลือดที่ออกหากมีลักษณะเป็นมูกเลือด อาจเป็นสัญญาณของการคลอดก่อนกำหนด ควรรีบติดต่อขอพบแพทย์ทันที อาการอื่น ๆ ที่อาจเกิดร่วมกัน ได้แก่
- มีสารคัดหลั่งไหลออกมา
- ปริมาณมูกเลือดเพิ่มขึ้น
- ปวดหน่วงที่เชิงกราน
- ปวดหลัง
- ปวดท้อง และในคุณแม่บางรายพบว่ามีท้องเสียเกิดขึ้นพร้อมกัน แต่บางรายอาจจะแค่ปวดท้องเฉย ๆ
- รู้สึกได้ว่ามดลูกบีบตัวต่อเนื่อง
อาการคนท้อง 32 สัปดาห์ ที่พบได้ทั่วไป
1. ปวดหลัง
เป็นหนึ่งอาการที่คุณแม่คงอยากบ่นถึง ที่อายุครรภ์ 32 สัปดาห์ ถ้าคุณแม่หาสิ่งที่ช่วยรับน้ำหนักได้อย่างเหมาะสม แนะนำให้หามาใช้เพื่อบรรเทาอาการปวด อาจจะหาซื้อเข็มขัดพยุงครรภ์ หรืออุปกรณ์พยุงหลังมาไว้ช่วยในการเคลื่อนไหวด้วยก็ได้ หรือหันไปเล่นโยคะ ยืดกล้ามเนื้อในท่วงท่าที่คุณหมอแนะนำว่าเหมาะสมกับช่วงก่อนคลอดได้ และควรหลีกเลี่ยงการยืนเป็นเวลานาน ๆ
2. แสบร้อนกลางอก และอาหารไม่ย่อย
ในช่วงสัปดาห์ที่ 32 ฮอร์โมนของคุณแม่ทำให้กระบวนการย่อยอาหารทำงานช้าลง กรดในกระเพาะอาหารจึงไหลกลับเข้าสู่หลอดอาหารได้ง่าย และมดลูกที่มีขนาดใหญ่ยังไปดันเบียดกระเพาะอาหารด้วย พบว่าคุณแม่ 72 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงที่อายุครรภ์ 32 สัปดาห์มีอาการนี้ร่วมด้วย ดังนั้นคุณแม่ไม่ควรทานอาหารมื้อละมาก ๆ แต่ให้เปลี่ยนเป็นมื้อละน้อย ๆ แต่บ่อยแทนจะดีกว่า ซึ่งวิธีนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดกรดไหลย้อนได้ด้วย
3. บวมตามบริเวณต่าง ๆ
อาการบวมเล็กน้อยถึงปานกลางหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ว่าคุณแม่สามารถจัดการลดบวมได้ด้วยการออกกำลังกาย และใช้ถุงน่องแบบรัดกล้ามเนื้อ เพราะจะช่วยกดดันไม่ให้มีการกักเก็บของเหลวเกิดขึ้นในส่วนต่าง ๆ ในขณะพักผ่อนก็ควรยกขาไว้ที่สูง
4. อาการปวดเกร็งที่หน้าท้อง
มีลักษณะเหมือนกับสัญญาณเตือน แต่เกิดขึ้นชั่วครู่ในเวลาสั้น ๆ เป็นอยู่เรื่อย ๆ แต่ไม่มีจังหวะ และอาการจะทุเลาหรือหายไปเมื่อเปลี่ยนอิริยาบถ
5. ผิวบริเวณที่ให้นมเปลี่ยนสี
หัวนมของคุณแม่เปลี่ยนสีเป็นเข้มขึ้นเพราะฮอร์โมน ไม่ใช่เรื่องน่าตกใจหรือกังวล เพราะเป็นลักษณะของคุณแม่ที่พร้อมให้นมลูก
6. น้ำนมไหลออกมา
หน้าอกอาจจะใหญ่ขึ้นด้วย น้ำนมที่ไหลออกมาจะเป็นสีเหลืองข้น หรือที่เรียกว่า ‘น้ำนมสีเหลือง’ (โคลอสตรัม) เป็นข้อบ่งชี้ว่าร่างกายเตรียมพร้อมกับการทำหน้าที่คุณแม่
ท้อง 32 สัปดาห์ ท้องจะใหญ่ขึ้นแค่ไหน
- วัดจากด้านบนของมดลูกถึงกระดูกเชิงกรานได้ประมาณ 30-34 เซนติเมตร
- มดลูกดันหน้าท้องตึงจนคุณแม่รู้สึกได้เลย ดูแล้วรู้สึกได้เหมือนแผ่นหนังหน้ากลองตึง ๆ
- รูปร่างท้องแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับขนาดรูปร่างเดิมของคุณแม่ด้วย เมื่อเปรียบเทียบกับคุณแม่ท่านอื่นไม่ต้องกังวลไป เพราะลักษณะหน้าท้องไม่เหมือนกัน แตกต่างทั้งขนาดและรูปร่างจึงนำมาเปรียบเทียบกันไม่ได้
ท้อง 32 สัปดาห์ ลูกในครรภ์จะตัวใหญ่แค่ไหน
ทารกในครรภ์อายุ 32 สัปดาห์ จะมีความยาวประมาณ 41.6 เซนติเมตร เมื่อวัดจากศีรษะไปสิ้นสุดที่ปลายเท้า และอาจหนักอยู่ราว ๆ 1.9 กิโลกรัม ในท้องคุณแม่ ในผู้หญิงท้อง 32 สัปดาห์ พบว่าในจำนวน 100 คนที่มีการสำรวจ เด็ก ๆ ในท้องของคุณแม่จำนวน 85 คน กลับหัวลง ถ้าหากว่าไปตรวจแล้วพบว่าลูกน้อยไม่อยู่ในท่านี้ ไม่ต้องตกใจ อาจจะต้องรออีกหน่อย เพราะจากการสำรวจ ในสัปดาห์ที่ 37 เด็กถึงร้อยละ 97 จะอยู่ในท่ากลับหัวลงในมดลูกของคุณแม่
พัฒนาการของทารกในครรภ์อายุ 32 สัปดาห์
- ลูกเริ่มฝึกหายใจ แต่การฝึกหายใจของลูกน้อยนั้นเป็นการหายใจเข้าและออกเป็นน้ำคร่ำ
- ระบบสืบพันธุ์ มีการพัฒนาเกือบสมบูรณ์แล้ว และเคลื่อนลงมาอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องแล้ว
- ผิวเริ่มทึบแสงมากขึ้น
- ลูกน้อยสามารถได้ยินเสียงเป็นอย่างดี
- มีความทรงจำเรื่องเสียงและความรู้สึกของรสชาติได้
การดูแลตัวเอง สำหรับคุณแม่ท้อง 32 สัปดาห์
1. หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ของหมักของดอง
เบื้องต้นเพราะอาหารรสจัดจะไปกระตุ้นอาการกรดไหลย้อนหรืออาการแสบร้อนกลางอกได้ จะสร้างความไม่สบายตัวให้กับคุณแม่ อีกทั้งยังอาจทำให้เกิดอาการท้องอืดท้องเฟ้อได้ ขณะที่ของหมักดองหากเค็มมากอาจจะทำให้เสี่ยงต่อครรภ์เป็นพิษได้ค่ะ
2. เคี้ยวอาหารช้า ๆ ให้ละเอียด
เพราะถ้าเคี้ยวไม่ละเอียด อาหารที่ไม่ย่อยจะทำให้เกิดแก๊สกระเพาะอาหารกับมดลูกเบียดกัน ท้องจะตึงหรือแน่นท้องได้ แต่อาการนี้เป็นคนละลักษณะกับอาการท้องแข็งที่เป็นความเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด แต่ถ้ากังวลปรึกษาคุณหมอจะดีที่สุด
3. รับประทานอาหารที่มีกากใย
เป็นการป้องกันอาการท้องผูก ช่วยในเรื่องการขับถ่าย กากใยมาจากผลไม้ ผัก หรือธัญพืช ผลไม้มีกากใยที่แนะนำเบื้องต้น คือ ลูกพรุน ผักโขม ฝรั่ง อัลมอนด์
- ดื่มน้ำเยอะ ๆ นอกจากสามารถลดอาการขาดน้ำ และบรรเทาอาการท้องเกร็งแข็งได้แล้ว น้ำยังเป็นของเหลวที่ช่วยในการไหลเวียนของเลือด หากเลือดไหลเวียนได้ดีก็จะมีอาการบวมน้อยลง สารอาหารส่งไปถึงลูก การดื่มน้ำอย่างเพียงพอนั้นจะช่วยสนับสนุนในกระบวนการขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย ทำงานร่วมกับกากใยอาหาร ป้องกันอาการท้องผูก
- เน้นกินถี่ ไม่กินเยอะ ในช่วงนี้ลูกน้อยต้องการสารอาหารเยอะมากขึ้น เตรียมตัวจะออกมาท่องโลกแล้ว แต่ในหนึ่งมื้อคุณแม่ไม่ควรกินอาหารเยอะจนเกินไปจนแน่นหรือจุกท้อง เพราะอาจไปกระตุ้นอาการกรดไหลย้อนได้ แต่ในช่วงนี้คุณแม่มักมีอาการอยากอาหารลดลง แต่เพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานเพิ่มเติมประมาณ 300 กิโลแคลอรีในแต่ละวัน ให้เน้นกินบ่อยระหว่างวัน กินสิ่งดี ๆ มีประโยชน์
คุณแม่ท้อง 32 สัปดาห์ แข็งแกร่งมาก ต้องเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ ทั้งน้ำหนักของลูกน้อยที่เพิ่มขึ้นและอาการทางกายของคุณแม่เอง ให้คุณแม่ลูบท้องบอกเล่าเรื่องราวให้ลูกน้อยฟังบ่อย ๆ ใช้เสียงเพื่อปลอบประโลมลูกน้อย และลูกน้อยปลอบประโลมคุณแม่กลับด้วยการรับฟัง ผูกพันต่อกันและกัน ในส่วนสัญญาณการเฝ้าระวัง ก็เพื่อความมั่นใจว่าจะดูแลลูกน้อยให้ปลอดภัย การปกป้องลูกน้อย คุณแม่คือผู้ปกป้องที่ดีที่สุด ควรดูแลตัวเองเรื่องอาหารการกิน รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และดื่มน้ำเยอะ ๆ
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
- อายุครรภ์ 33 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 33 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
- อายุครรภ์ 34 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 34 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
- อายุครรภ์ 35 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 35 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
- อายุครรภ์ 36 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 36 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
- อายุครรภ์ 37 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 37 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
อ้างอิง:
- 32 weeks pregnant, BabyCenter
- Week 32 of Your Pregnancy, Parents
- When can your baby hear you?, BabyCenter
- 32 Weeks Pregnant: Your Dreaming Baby, Happiest Baby
- 32 Weeks Pregnant: Symptoms, Tips, and More, Healthline
- Is having vaginal pressure during pregnancy normal?, Medical News Today
- Pubic symphysis dysfunction (SPD) in pregnancy, BabyCenter
- ภาวะเลือดออกในช่วงท้ายของการตั้งครรภ์, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
- Week 32 of Your Pregnancy, Verywell Family
- Pregnancy Week by Week, The Bump
- How Can I Deal With Heartburn During Pregnancy?, Nemours Children's Health
- คนท้องห้ามกินอะไรบ้าง ?, โรงพยาบาลเพชรเวช
- ท้องแข็งขณะตั้งครรภ์ เสี่ยงอันตรายแค่ไหน, โรงพยาบาลพญาไท
- วิธีรับมืออาการท้องผูก ที่คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องรู้, โรงพยาบาลบางปะกอก
- ไม่ดีแน่… ถ้าปล่อยให้คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องสู้กับ “กรดไหลย้อน”, โรงพยาบาลเปาโล
อ้างอิง ณ วันที่ 15 มกราคม 2567
บทความที่เกี่ยวข้อง