แผลฝีเย็บหลังคลอด ดูแลแผลฝีเย็บอย่างไรให้ปลอดภัย
คุณแม่ที่คลอดธรรมชาติมักมีความกังวลเรื่องแผลฝีเย็บหลังคลอดที่เกิดขึ้นจากกระบวนการคลอด เพราะอาจทำให้การขับถ่ายที่ไม่สะดวกหรือเกิดอาการเจ็บปวดขึ้นได้ แม้ว่าแผลฝีเย็บจะหายสนิทโดยใช้เวลาไม่นานแต่เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อที่เป็นหนึ่งในสาเหตุของแผลฝีเย็บหายช้า คุณแม่หลังคลอดจะต้องให้ความสำคัญกับการทำความสะอาดและการดูแลแผลฝีเย็บหลังคลอด
สรุป
- แผลฝีเย็บเกิดจากกระบวนการคลอดธรรมชาติ โดยคุณหมอจะทำการกรีดผิวหนังบริเวณช่องคลอดเพื่อให้ลูกน้อยคลอดได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
- ปกติแผลฝีเย็บจะเริ่มหายสนิทภายใน 1 สัปดาห์ แต่คุณแม่อาจมีอาการเจ็บแผลฝีเย็บอยู่นานถึง 2-3 สัปดาห์ ในระหว่างนั้นคุณแม่สามารถทานยาตามคำแนะนำของคุณหมอได้
- คุณแม่หลังคลอดควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของคุณหมอโดยไม่แช่ในอ่างอาบน้ำ ทำความสะอาดแผลฝีเย็บหลังจากอุจจาระหรือปัสสาวะทุกครั้งโดยเช็ดทำความสะอาดจากด้านหน้าไปทางด้านหลังเสมอ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- หากคุณแม่รู้สึกว่ามีไข้ แผลฝีเย็บมีการอักเสบ ปวด บวมแดง มีน้ำหนองหรือเลือดสีแดงสดไหลมากกว่าปกติ แนะนำให้คุณแม่ไปพบแพทย์ทันที เพราะแผลฝีเย็บอาจเกิดการติดเชื้อได้
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- ผลฝีเย็บ แผลคลอดธรรมชาติ คืออะไร
- ลักษณะของแผลฝีเย็บ เป็นอย่างไร
- แผลฝีเย็บ แผลคลอดธรรมชาติ กี่วันหาย
- อาการแผลฝีเย็บแยก เป็นแบบไหน
- คุณแม่ควรดูแลแผลเย็บหลังคลอดอย่างไร
- แผลผ่าตัดปริแบบไหน ที่ควรไปพบแพทย์
- จะรู้ได้ยังไงว่าแผลฝีเย็บใกล้หายแล้ว
- ลักษณะอาการของแผลฝีเย็บติดเชื้อ
- วิธีช่วยบรรเทาอาการปวดแผลฝีเย็บ
- คันแผลฝีเย็บ คุณแม่ควรทำยังไงดี
- ไขข้อข้องใจ การดูแลแผลฝีเย็บคุณแม่หลังคลอด
แผลฝีเย็บ แผลคลอดธรรมชาติ คืออะไร
แผลฝีเย็บ เป็นแผลที่เกิดจากการคลอดลูกธรรมชาติบริเวณช่องคลอด โดยคุณหมอจะทำการกรีดผิวหนังที่อยู่ระหว่างอวัยวะเพศกับทวารหนักเพื่อให้สะดวกต่อการคลอดลูกจากนั้นคุณหมอจะเย็บติดฝีเย็บไว้
ลักษณะของแผลฝีเย็บ เป็นอย่างไร
แผลฝีเย็บเกิดขึ้นได้ทั้งจากการกระบวนการคลอดตามธรรมชาติและการตัดฝีเย็บเพื่อให้คุณแม่สามารถคลอดลูกน้อยได้สะดวกยิ่งขึ้น ทำให้ลักษณะของแผลฝีเย็บมีระดับการฉีกขาดที่แตกต่างกัน โดยแบ่งออกเป็น 4 ระดับ คือ
- ระดับ 1 : เป็นการฉีกขาดที่เล็กน้อยไม่เกิน 1 เซนติเมตร และไม่มีเลือดออก
- ระดับ 2 : เป็นการฉีกขาดบริเวณผิวผนังช่องคลอดและกล้ามเนื้อฝีเย็บ
- ระดับ 3 : เป็นการฉีกขาดตั้งแต่ผิวผนังช่องคลอดไปจนถึงกล้ามเนื้อหูรูดของทวารหนัก
- ระดับ 4 : เป็นการฉีกขาดตั้งแต่ผิวผนังช่องคลอดไปไปจนถึงเยื่อบุทวารหนักด้านใน ซึ่งเป็นการฉีกขาดที่รุนแรงมากที่สุด
แผลฝีเย็บ แผลคลอดธรรมชาติ กี่วันหาย
โดยปกติแล้วแผลฝีเย็บจะเริ่มหายหลังจากคุณแม่คลอดลูกใน 3 วัน หลังจากนั้นอีก 5-7 วันแผลฝีเย็บจะเริ่มติดสนิท และจะหายสนิทภายใน 2 สัปดาห์ ซึ่งคุณแม่จะมีอาการปวดแผลฝีเย็บประมาณ 2-3 สัปดาห์ โดยที่ไหมฝีเย็บจะละลายหายไปประมาณ 3 สัปดาห์
อาการแผลฝีเย็บแยก เป็นแบบไหน
อาการของแผลฝีเย็บแยกหรือปริ คือ อาการที่มีเลือดไหลหรือหนองไหลออกมาจากบริเวณแผลฝีเย็บ พร้อมกับอาการเจ็บปวดบริเวณแผลฝีเย็บ บางครั้งคุณแม่อาจเห็นเป็นไหมเย็บหลุดออกมาจากบริเวณแผลฝีเย็บด้วย ทำให้คุณแม่ทราบทันทีว่าแผลเปิดหรือแผลฝีเย็บแยกออกแล้ว เมื่อคุณแม่พบว่าแผลฝีเย็บปริหรือแยกออกให้รีบไปพบแพทย์ทันที
คุณแม่ควรดูแลแผลเย็บหลังคลอดอย่างไร
การดูแลแผลฝีเย็บหลังคลอด คุณแม่สามารถดูแลตัวเองได้ ดังต่อไปนี้
- ทำความสะอาดแผลฝีเย็บ: ล้างด้วยสบู่หรือน้ำสะอาด โดยล้างจากด้านหน้าไปด้านหลัง เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคจากบริเวณทวารหนักเข้าสู่แผลฝีเย็บและช่องคลอด จากนั้นซับให้แห้งอย่างนุ่มนวล
- การอาบน้ำ: แนะนำให้ใช้น้ำที่ตักหรือฝักบัว แทนการแช่ในอ่างน้ำหรือลำคลอง ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อเข้าสู่มดลูกเพราะปากมดลูกยังไม่ปิดสนิท
- เปลี่ยนผ้าอนามัยเป็นประจำ: เปลี่ยนทุก 3 ชั่วโมงหรือเมื่อรู้สึกว่าผ้าอนามัยชุ่ม และควรดึงออกจากด้านหน้ามาทางด้านหลัง หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าอนามัยแบบสอด
- งดเว้นการมีเพศสัมพันธ์และการสวนล้างช่องคลอด: โดยเฉพาะในช่วง 6 สัปดาห์แรกหลังคลอด เนื่องจากปากมดลูกยังไม่ปิดสนิท อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
- เลี่ยงการยกของหนักและออกแรงมาก: ในช่วง 2 สัปดาห์แรก ควรหลีกเลี่ยงการเดินขึ้นลงบันไดบ่อย ๆ เพื่อลดความเสี่ยงการกระทบกระเทือนต่ออวัยวะช่วงอุ้งเชิงกราน
แผลผ่าตัดปริแบบไหน ที่ควรไปพบแพทย์
คุณแม่หลังคลอดธรรมชาติ ควรมาพบแพทย์ทันทีเมื่อคุณแม่มีอาการเหล่านี้
- แผลฝีเย็บมีหนองหรือเลือดไหล: หากแผลฝีเย็บมีน้ำหนองหรือเลือดซึมออกจากแผล ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจเช็ค
- อาการแสบขัดเมื่อปัสสาวะ: หากปัสสาวะแล้วรู้สึกแสบหรือขัด อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ
- มีเลือดก้อนใหญ่หรือผ้าอนามัยชุ่มเร็ว: หากมีเลือดก้อนใหญ่ไหลออกทางช่องคลอด หรือผ้าอนามัยเปียกชุ่มภายใน 1 ชั่วโมง ควรรีบไปพบแพทย์
- น้ำคาวปลามีกลิ่นหรือสีแดงจัดนานเกิน 3 สัปดาห์: โดยปกติ น้ำคาวปลาจะมีสีแดงในช่วง 3 วันแรก หลังจากนั้นจะเปลี่ยนเป็นสีชมพู สีน้ำตาล และค่อย ๆ จางลงภายใน 10 วันหลังคลอด
- ไข้สูงและมีอาการอักเสบ: หากมีไข้สูงพร้อมอาการอักเสบ บ่งบอกถึงการติดเชื้อที่ต้องรีบรักษา
- มดลูกยังคลำเจอที่หน้าท้องหลัง 2 สัปดาห์: หากผ่านไป 2 สัปดาห์หลังคลอดแล้วยังคงคลำเจอมดลูกบริเวณหน้าท้อง ควรปรึกษาแพทย์
จะรู้ได้ยังไงว่าแผลฝีเย็บใกล้หายแล้ว
ในช่วง 1-3 วันแรกหลังจากคลอดลูกธรรมชาติ คุณแม่จะรู้สึกเจ็บปวดบริเวณแผลฝีเย็บ ส่วนบริเวณแผลจะมีอาการบวมพร้อมมีเลือดซึมออกมา หลังจากนั้นคุณแม่จะรู้สึกตึง ๆ ในช่วง 3-4 วันแรก และจะหายสนิทภายใน 1 สัปดาห์หรือภายใน 7-10 วัน โดยไม่ต้องตัดไหมออก หากเลย 7 วันไปแล้วแผลฝีเย็บยังไม่แห้งแสดงว่าแผลฝีเย็บอาจเกิดการติดเชื้อและอักเสบได้
ลักษณะอาการของแผลฝีเย็บติดเชื้อ
หากแผลฝีเย็บเกิดการติดเชื้อ ร่างกายจะเริ่มแสดงอาการผิดปกติ คือ เป็นไข้ แผลฝีเย็บจะอักเสบ บวมแดง บางครั้งอาจเป็นหนองไหลซึมออกมา เวลาปัสสาวะจะลำบากหรือปัสสาวะไม่ออก และอาจเกิดแผลปริหรือแยกออกจากกันได้
วิธีช่วยบรรเทาอาการปวดแผลฝีเย็บ
หลังคลอดธรรมชาติใหม่ ๆ คุณแม่จะรู้สึกปวดแผลฝีเย็บได้ หากมีอาการปวดมาก ๆ คุณแม่สามารถบรรเทาอาการปวดแผลฝีเย็บได้ดังนี้
- ประคบเย็น: ในช่วงวันแรก ๆ หลังคลอด ใช้การประคบเย็นประมาณ 15 นาที เพื่อลดอาการปวดและบวมบริเวณแผลฝีเย็บ
- แช่น้ำอุ่นผสมเกร็ดด่างทับทิม: หลังจากผ่านไป 3 วัน คุณแม่สามารถแช่แผลในน้ำอุ่นที่ผสมเกร็ดด่างทับทิมประมาณ 15 นาที ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดและลดความปวด
- การนั่ง: เมื่อต้องการนั่ง แนะนำให้นั่งที่แก้มก้นข้างใดข้างหนึ่ง หรือใช้ห่วงยางเล็ก ๆ หรือหมอนกลมที่มีรูตรงกลางเพื่อรองนั่ง ป้องกันไม่ให้แผลฝีเย็บถูกกดทับโดยตรง
หากคุณแม่พบว่ายังรู้สึกปวดแผลฝีเย็บมาก ๆ แผลฝีเย็บบวม และไม่สามารถนั่งนาน ๆ ได้ แนะนำให้คุณแม่ไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป
คันแผลฝีเย็บ คุณแม่ควรทำยังไงดี
หากคุณแม่หลังคลอดมีอาการคันที่แผลฝีเย็บหรือบริเวณอวัยวะเพศ แนะนำให้คุณแม่ปฏิบัติตามนี้
- เช็ดทำความสะอาดจากด้านหน้าไปด้านหลัง: หลังการถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระ ควรเช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลังเพื่อป้องกันเชื้อโรคจากทวารหนักเข้าสู่ช่องคลอด
- หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์สวนล้างช่องคลอด: เพื่อไม่ให้รบกวนสภาวะธรรมชาติของช่องคลอดที่อาจทำให้เกิดการระคายเคืองหรือการติดเชื้อ
- หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าอนามัยหรือสบู่ที่มีกลิ่นหอม: การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีกลิ่นอาจทำให้ผิวหนังบริเวณแผลระคายเคือง ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีน้ำหอมหรือสารเคมีเพิ่มเติม
ไขข้อข้องใจ การดูแลแผลฝีเย็บคุณแม่หลังคลอด
1. ครบเดือนแล้ว แผลฝีเย็บยังไม่หาย คุณแม่ควรทำอย่างไร
ปกติแผลฝีเย็บจะหายภายใน 1 สัปดาห์หลังจากคลอด ถ้าคุณแม่พบว่าแผลฝีเย็บยังไม่หาย ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำทันที
2. แผลฝีเย็บปริ หรือฉีกขาด ทำยังไงดี
แผลผ่าคลอดเป็นหนองเกิดจากการที่แผลฝีเย็บปริและติดเชื้อ ถ้าคุณแม่พบว่าแผลฝีเย็บมีการปริ หรือแยกออกให้รีบไปพบแพทย์ เพราะอาจทำให้เกิดแผลฝีเย็บอักเสบหรือติดเชื้อได้
3. แผลฝีเย็บยังไม่สมาน ควรนอนท่าไหน
หลังคลอดธรรมชาตินอนท่าไหน ในช่วงแรกหลังคลอดคุณแม่อาจรู้สึกนอนได้ลำบากเพราะฝีเย็บยังไม่สมาน สำหรับท่านอน ของคุณแม่หลังคลอดที่แนะนำ คือ ให้คุณแม่นอนตะแคงด้านใดด้านหนึ่งแล้วให้ยกช่วงก้นขึ้นเล็กน้อยเพื่อให้นอนได้สบายยิ่งขึ้น
4. ดูแลแผลฝีเย็บอย่างไรให้หายดี
แผลฝีเย็บ ปกติแล้วคุณหมอจะเย็บด้วยไหมละลาย ซึ่งหลังคลอดประมาณ 7 วันแผลก็จะหาย แต่อาจจะรู้สึกเจ็บนานประมาณ 2 สัปดาห์ การทำความสะอาดสามารถใช้น้ำและสบู่ล้างจากด้านหน้าไปด้านหลัง และซับให้แห้งทันที
5. แสบแผลฝีเย็บเวลาฉี่ แบบนี้ปกติหรือไม่
ในช่วงวันแรก ๆ ของการคลอดคุณแม่จะรู้สึกเจ็บตึง ปวดระบมแผล และแสบบริเวณแผลฝีเย็บ พอเข้าสู่วันที่ 3 แผลฝีเย็บจะค่อย ๆ ดีขึ้น หากคุณแม่พบว่ายังมีอาการแสบแผล ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะไม่ออกรวมถึงมีไข้ด้วยแสดงว่าเป็นอาการที่ผิดปกติแนะนำให้คุณแม่ไปพบคุณหมอเพื่อตรวจและทำการรักษา
สำหรับคุณแม่มือใหม่ที่ไม่สามารถคลอดธรรมชาติเองได้และมีแพลนจะผ่าคลอดเจ้าตัวเล็ก คุณแม่สามารถเข้าไปศึกษาและอ่านบทความ การเตรียมตัวผ่าคลอดและการดูแลแผลหลังผ่าคลอดที่ถูกต้องสำหรับคุณแม่มือใหม่ได้เลย
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่
- Health check แบบประเมินสุขภาพของคุณแม่และพัฒนาการของลูกน้อย
- หัวนมบอด คืออะไร ปัญหาหัวนมบอดของคุณแม่ให้นมที่แก้ไขได้
- หัวนมคนท้อง การเปลี่ยนแปลงของเต้านมคนท้องระหว่างตั้งครรภ์
- หัวนมแตก อาการเจ็บหัวนมดูแลอย่างไร คุณแม่ให้นมลูกต่อได้ไหม
- วิธีให้นมลูกสำหรับคุณแม่มือใหม่ การให้นมลูกหลังคลอดที่ถูกต้อง
- วิธีให้ลูกดูดขวด เมื่อลูกติดเต้าไม่ดูดขวดนม พร้อมวิธีรับมือลูกน้อย
- วิธีกู้น้ำนม เมื่อคุณแม่น้ำนมไม่ไหล น้ำนมหด พร้อมวิธีเพิ่มน้ำนม
- วิธีจับลูกเรอ ท่าอุ้มเรอเมื่อลูกไม่เรอ ช่วยให้ลูกสบายท้องหลังอิ่มนม
- ท่าให้นมลูก ท่านอนให้นม พร้อมท่าจับเรอ ป้องกันลูกน้อยท้องอืด
- ท่อน้ำนมอุดตัน ภาวะท่อน้ำนมตันของคุณแม่ให้นมหลังคลอด
- วิธีนวดเปิดท่อน้ำนม นวดเต้าหลังคลอด แก้ไขปัญหาคุณแม่น้ำนมน้อย
อ้างอิง:
- เช็คหน่อยไหม? สุขภาพหลังคลอด...มีปัญหาอะไรหรือเปล่า, โรงพยาบาลพญาไท
- การดูแลตัวเองหลังคลอดที่คุณแม่ต้องรู้, โรงพยาบาลเปาโล
- 10 ความเชื่อ...จริง และ ไม่จริง กับคุณแม่หลังคลอด, โรงพยาบาลขอนแก่นราม
อ้างอิง ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566