ฮอร์โมน hCG คืออะไร อาการแพ้ท้องที่เกิดจาก hCG ที่คุณแม่ควรรู้
คุณแม่ที่อยากตั้งครรภ์ อาจเคยได้ยินชื่อ ฮอร์โมน hCG มาบ้าง แต่ทราบไหมว่า ฮอร์โมน HCG คืออะไร ท้องหรือไม่ท้องตรวจ hCG Test บอกได้จริงไหม แล้วคุณแม่สามารถตรวจเองได้หรือเปล่า มาหาคำตอบไปด้วยกัน ว่าแท้จริงแล้ว ฮอร์โมน hCG คืออะไร สำคัญกับการตั้งครรภ์อย่างไร พร้อมคำถามอื่น ๆ ที่พบบ่อยของ ฮอร์โมน hCG
สรุป
- ฮอร์โมน hCG หรือ ฮอร์โมนการตั้งครรภ์ เป็นฮอร์โมนที่ร่างกายผลิตขึ้นเฉพาะเมื่อมีการตั้งครรภ์เท่านั้น การตรวจระดับ ฮอร์โมน hCG จึงถูกนำมาใช้ในการตรวจเพื่อยืนยันการตั้งครรภ์ของคุณแม่
- ฮอร์โมน hCG สามารถตรวจพบได้จากปัสสาวะและเลือดของคุณแม่ การตรวจเลือดจะพบฮอร์โมน hCG ได้หลังจากปฏิสนธิ 11 วัน ส่วนการตรวจปัสสาวะจะพบฮอร์โมน hCG ได้หลังจากปฏิสนธิประมาณ 12-14 วัน
- โดยทั่วไปแล้ว ชุดตรวจการตั้งครรภ์จากปัสสาวะจะมีค่า Sensitivity หรือความไวของการตรวจที่แตกต่างกัน ยิ่งค่า Sensitivity ตัวเลขต่ำ ยิ่งตรวจเจอเร็ว ดังนั้น คุณแม่ควรอ่านฉลากให้ละเอียดเพื่อเปรียบเทียบค่า Sensitivity ของแต่ละยี่ห้อก่อนซื้อ
- ค่า hCG ของคนที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ คือ น้อยกว่าหรือเท่ากับ 5 mIU/ml ส่วนค่า hCG ของคุณแม่ตั้งครรภ์ คือตั้งแต่ 25 mIU/mL ขึ้นไป
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- ฮอร์โมน hCG คืออะไร
- ประโยชน์ของฮอร์โมน hCG
- ฮอร์โมน hCG จะตรวจพบตอนไหน
- hCG Test คุณแม่ตรวจเองได้ไหม
- ทำไมตรวจการตั้งครรภ์ขึ้น 2 ขีด แต่ไม่ท้อง
- ปริมาณค่าฮอร์โมน hCG ในแต่ละช่วงของการตั้งครรภ์
- ค่า hCG ของคนทั่วไปและคุณแม่ตั้งครรภ์
- คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับฮอร์โมน hCG
ฮอร์โมน hCG คืออะไร
ฮอร์โมน hCG ย่อมาจาก human chorionic gonadotropin หรือเรียกง่าย ๆ ว่า "ฮอร์โมนการตั้งครรภ์" ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ร่างกายผลิตขึ้นเฉพาะเมื่อมีการตั้งครรภ์เท่านั้น โดยหลังจากที่ไข่ได้รับการปฏิสนธิและฝังตัวลงที่ผนังมดลูก เซลล์จากรกจะเริ่มผลิตฮอร์โมน hCG ขึ้นมาหลังจากการปฏิสนธิประมาณ 11-14 วัน
โดยทั่วไป ในช่วง 8-11 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ ระดับฮอร์โมน hCG จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าประมาณทุก ๆ 72 ชั่วโมง หลังจากนั้น ระดับฮอร์โมนจะค่อย ๆ ลดลงและคงที่ตลอดระยะเวลาที่เหลือของการตั้งครรภ์
ประโยชน์ของฮอร์โมน hCG
ฮอร์โมน hCG มีบทบาทสำคัญต่อการตั้งครรภ์ ช่วยให้ตัวอ่อนฝังตัวที่ผนังมดลูก กระตุ้นให้รังไข่ผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่จำเป็นสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ และเนื่องจากเป็นฮอร์โมนที่ร่างกายผลิตขึ้นในช่วงตั้งครรภ์เท่านั้น การตรวจระดับ ฮอร์โมน hCG จึงถูกนำมาใช้ในการตรวจเพื่อยืนยันการตั้งครรภ์ของคุณแม่นั่นเอง
ฮอร์โมน hCG จะตรวจพบตอนไหน
ฮอร์โมน hCG สามารถตรวจพบได้จากปัสสาวะและเลือดของคุณแม่ ซึ่งหากใช้วิธีการตรวจเลือด จะสามารถตรวจพบ ฮอร์โมน hCG ได้ครั้งแรกประมาณ 11 วันหลังการปฏิสนธิ และหากใช้วิธีการตรวจปัสสาวะจะสามารถตรวจพบได้ครั้งแรกประมาณ 12-14 วันหลังการปฏิสนธิ
hCG Test คุณแม่ตรวจเองได้ไหม
คุณแม่สามารถหาซื้อชุดตรวจการตั้งครรภ์โดยการตรวจปัสสาวะได้เองจากร้านสะดวกซื้อหรือร้านขายยา ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ชุดตรวจเหล่านี้จะมีความแม่นยำสูงถึงประมาณ 97% เลยทีเดียว อย่างไรก็ตามชุดตรวจการตั้งครรภ์แต่ละแบบจะมีค่า Sensitivity หรือความไวของการตรวจที่แตกต่างกัน โดยมักจะระบุเป็นหน่วย mIU/ml เช่น 20 mIU/ml, 50 mIU/ml หรือ 100 mIU/ml ยิ่งค่า Sensitivity ตัวเลขต่ำ ยิ่งตรวจเจอเร็ว หมายความว่า จะสามารถตรวจพบฮอร์โมน hCG ในระดับที่ต่ำมากได้ ทำให้สามารถตรวจพบการตั้งครรภ์ได้เร็วขึ้น ตั้งแต่ประมาณ 7-10 วันหลังจากไข่ตก ดังนั้น คุณแม่ควรอ่านฉลากให้ละเอียดเพื่อเปรียบเทียบค่า Sensitivity ของแต่ละยี่ห้อก่อนซื้อ
ทำไมตรวจการตั้งครรภ์ขึ้น 2 ขีด แต่ไม่ท้อง
การตรวจการตั้งครรภ์ด้วยตัวเองนั้นมีโอกาสได้ผลลัพธ์ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ซึ่งเรียกว่า "ผลบวกลวง" หรือผลตรวจขึ้น 2 ขีด แต่จริง ๆ แล้วไม่ได้ตั้งครรภ์ สาเหตุที่ทำให้เกิดผลบวกลวงมีหลายปัจจัย ดังนี้
- ชุดตรวจเสื่อมสภาพ อาจทำให้ผลตรวจไม่แม่นยำ
- ดื่มน้ำมากก่อนตรวจอาจทำให้ปัสสาวะเจือจาง จนตรวจไม่พบฮอร์โมน hCG
- กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ทำให้ปัสสาวะมีเลือดหรือไข่ขาวปน
- ภาวะฮอร์โมนผิดปกติ ในผู้ที่เป็นโรคอ้วน หรือเป็นโรคไทรอยด์
- โรคมะเร็งที่มดลูก อาจทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมน hCG ออกมา
- การใช้ยาบางชนิด อาจส่งผลต่อผลการตรวจที่คลาดเคลื่อน
ปริมาณค่าฮอร์โมน hCG ในแต่ละช่วงของการตั้งครรภ์
การตรวจเลือดเพื่อวัดระดับฮอร์โมน hCG ถือเป็นวิธีการตรวจสอบการตั้งครรภ์ที่แม่นยำที่สุดในปัจจุบัน เนื่องจากสามารถตรวจพบการตั้งครรภ์ได้เร็วที่สุดตั้งแต่ 7-12 วันหลังจากการปฏิสนธิ หรือประมาณ 3 สัปดาห์นับจากวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย (Last Menstrual Period: LMP)
ค่า hCG ของคนทั่วไปและคุณแม่ตั้งครรภ์ ควรอยู่ที่เท่าไหร่
ค่า hCG คนที่ไม่ได้ตั้งครรภ์
หากค่า hCG น้อยกว่าหรือเท่ากับ 5 mIU/ml หมายความว่า ตรวจไม่พบการตั้งครรภ์ หากค่า hCG อยู่ในระดับ 6-24 mIU/ml หมายความว่า ยังไม่สามารถยืนยันการตั้งครรภ์ได้ชัดเจน ควรตรวจซ้ำในอีก 48 ชั่วโมง และหากค่า hCG เพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่า หมายความว่า สามารถยืนยันได้ว่ามีการตั้งครรภ์จริง
ค่า hCG ของคุณแม่ตั้งครรภ์
หากค่า hCG 25 mIU/mL ขึ้นไป หมายความว่า ระดับฮอร์โมนสูงพอที่จะยืนยันได้ว่ามีการตั้งครรภ์จริง
ระดับค่า hCG ของการตั้งครรภ์แต่ละสัปดาห์
ระดับฮอร์โมนนี้จะเปลี่ยนแปลงไปตามระยะเวลาของการตั้งครรภ์ ซึ่งนับจากวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย (Last Menstrual Period: LMP) โดยระดับ hCG จะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าประมาณทุก ๆ 72 ชั่วโมง และฮอร์โมน hCG จะมีปริมาณสูงสุดในช่วงอายุครรภ์ 8-11 สัปดาห์ หลังจากนั้น ระดับ hCG จะค่อย ๆ ลดลงและคงที่ตลอดระยะเวลาที่เหลือของการตั้งครรภ์ สามารถดูรายละเอียดได้จากตารางด้านล่างนี้
ระดับค่า hCG ของการตั้งครรภ์แต่ละสัปดาห์ | |
อายุครรภ์ | ระดับค่า hCG |
อายุครรภ์ 3 สัปดาห์ | 5-50 mIU/ml |
อายุครรภ์ 4 สัปดาห์ | 5-426 mIU/ml |
อายุครรภ์ 5 สัปดาห์ | 18-7,340 mIU/ml |
อายุครรภ์ 6 สัปดาห์ | 1,080-56,500 mIU/ml |
อายุครรภ์ 7-8 สัปดาห์ | 7,650-229,000 mIU/ml |
อายุครรภ์ 9-12 สัปดาห์ | 25,700-288,000 mIU/ml |
อายุครรภ์ 13-16 สัปดาห์ | 13,300-254,000 mIU/ml |
อายุครรภ์ 17-24 สัปดาห์ | 4,060-165,400 mIU/ml |
อายุครรภ์ 25-40 สัปดาห์ | 3,640-117,000 mIU/ml |
ค่า hCG ท้องลม
คุณแม่ที่มีภาวะท้องลม แม้ว่าตัวอ่อนอาจฝ่อไปแล้ว แต่รกที่เริ่มพัฒนาขึ้นมาจะยังคงสร้างฮอร์โมน hCG ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่บ่งบอกการตั้งครรภ์อยู่ ทำให้เมื่อตรวจครรภ์ ผลที่ได้อาจเป็นบวก แต่ระดับของฮอร์โมน hCG จะต่ำกว่าผู้ที่ตั้งครรภ์ปกติ โดยในระยะแรก คุณแม่ที่มีภาวะท้องลมจะมีอาการคนท้องตามปกติ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เต้านมคัดตึง แพ้ท้อง เมื่อเวลาผ่านไป อาจพบว่า ท้องไม่โต ปวดท้องน้อย อาจมีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ หรือประจำเดือนผิดปกติ เมื่อตรวจอัลตราซาวด์พบเพียงถุงการตั้งครรภ์ ที่ไม่มีตัวอ่อนเจริญเติบโตอยู่ภายใน
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับฮอร์โมน hCG
นอกจากนี้ เรายังได้รวบรวมคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ ฮอร์โมน hCG เพื่อคลายทุกข้อสงสัยให้กับคุณแม่ ดังนี้
1. ตรวจครรภ์ด้วย hCG Test เชื่อได้แค่ไหน
การตรวจครรภ์ด้วย hCG Test สามารถทำได้ 2 แบบคือ ตรวจปัสสาวะ โดยทั่วไปมีความแม่นยำประมาณ 97% และการตรวจเลือด ซึ่งสามารถยืนยันผลการตั้งครรภ์ได้ถึง 100%
2. ฮอร์โมน hCG ทำให้คุณแม่แพ้ท้องได้ไหม
ฮอร์โมน hCG มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาการแพ้ท้องในคุณแม่ตั้งครรภ์ การเพิ่มขึ้นของฮอร์โมน hCG อาจส่งผลให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และอาการแพ้ท้องไตรมาสแรก แม้จะต้องทนกับอาการแพ้ท้อง แต่ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจาก หากฮอร์โมน hCG ยิ่งมีปริมาณสูง ก็ยิ่งหมายความว่า ลูกน้อยในครรภ์มีความแข็งแรงมากเช่นกัน
3. ฮอร์โมน hCG เท่าไหร่ถึงเป็นท้องแฝด
คุณแม่ท้องแฝด มักจะมีระดับฮอร์โมน hCG สูงกว่าคุณแม่ที่ตั้งครรภ์เดี่ยว 30% ถึง 50% ในช่วงเวลาเดียวกัน เนื่องจากรกของทารกแฝดจะมีขนาดใหญ่กว่า ทำให้ผลิตฮอร์โมน hCG ออกมามากกว่า ซึ่งทำให้อาการแพ้ท้องของคุณแม่ท้องแฝดอาจยาวนานกว่าปกติด้วย
4. ฮอร์โมน hCG สูงผิดปกติบ่งบอกอะไร
เมื่อพบว่าระดับฮอร์โมน hCG สูงกว่าปกติ อาจมาจากหลายสาเหตุ ได้แก่ การคำนวณอายุครรภ์ผิดพลาด การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก หรือ ตั้งครรภ์แฝด เมื่อพบค่า hCG สูงผิดปกติ แพทย์จะตรวจวัดระดับฮอร์โมน hCG ซ้ำอีกครั้งภายใน 48-72 ชั่วโมง เพื่อดูอัตราการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
คุณแม่ได้ทราบแล้วว่า ระดับฮอร์โมน hCG มีความสำคัญต่อการตั้งครรภ์อย่างมาก เพราะเป็นค่าที่ใช้เพื่อยืนยันการตั้งครรภ์ของคุณแม่ เมื่อตรวจการตั้งครรภ์ผลเป็นบวกแล้ว คุณแม่ควรไปฝากครรภ์แต่เนิ่น ๆ เพื่อให้มั่นใจว่าคุณแม่และลูกน้อยอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างปลอดภัย
หากคุณแม่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับสุขภาพคุณแม่และพัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์ สามารถคุยกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และติดตามพัฒนาการของลูกน้อยได้ง่าย ๆ ผ่านโปรแกรม Womb development ตามติด 9 เดือนในครรภ์ของลูกน้อย พร้อมบทความพัฒนาการต่าง ๆ ที่น่าสนใจ คลิกเลย
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่
- Health check แบบประเมินสุขภาพของคุณแม่และพัฒนาการของลูกน้อย
- อาการคนแพ้ท้องครั้งแรก พร้อมวิธีรับมืออาการแพ้ท้อง
- อาการมโนว่าท้อง กังวลไปเองว่าท้อง พร้อมวิธีเช็กอาการตัวเอง
- คนท้องฉี่สีอะไร สีปัสสาวะคนท้องบอกอะไรคุณแม่ได้บ้าง
- อาการคันของคนท้อง เกิดจากอะไร พร้อมวิธีแก้คันท้องคนท้อง
- ท้องกระตุกเหมือนลูกดิ้น อาการท้องกระตุก บอกอะไรคุณแม่ได้บ้าง
- อารมณ์คนท้องขึ้น ๆ ลงๆ รับมืออารมณ์คนท้องระยะแรกยังไงดี
- คนท้องไอบ่อย ไอขณะตั้งครรภ์ อันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า
- การทำหมันหญิงอันตรายไหม ทำหมันหลังคลอดทันทีได้หรือเปล่า
- ทําหมันเจ็บไหม ผู้หญิงผ่าคลอดทำหมันกี่วันหาย เตรียมตัวแบบไหนดี
- อาการหมันหลุดเป็นอย่างไร ทำหมันแต่ยังท้อง เป็นไปได้แค่ไหน
- ผ่าคลอดประกันสังคมจ่ายเท่าไหร่ คุณพ่อคุณแม่มีสิทธิเบิกอะไรบ้าง
อ้างอิง:
- ค่า hCG คืออะไร สำคัญกับการตั้งครรภ์อย่างไร, Worldwide IVF
- ท้องไม่ท้อง รู้ให้แน่ ด้วยการตรวจครรภ์หาค่าเอชซีจี (hCG), โรงพยาบาลนครธน
- 4 วิธีตรวจการตั้งครรภ์ ที่ผู้หญิงควรรู้, โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต
- What are HCG Levels?, American Pregnancy Association
- ตรวจการตั้งครรภ์หรือตรวจท้อง มีกี่แบบ รู้ผลเร็วสุดกี่วัน?, อินทัช เมดิแคร์
- ภาวะท้องลม โครโมโซมที่ผิดปกติ, โรงพยาบาลเพชรเวช
- ท้องลม (Blighted Ovum) คืออะไร?, โรงพยาบาลพระราม 9
- เคล็ด(ไม่)ลับสำหรับคนอยากมีลูก, โรงพยาบาลสมิติเวช
- อาการที่บอกว่า คุณอาจจะมีลูกแฝด อาการของท้องแฝด, Dr.Noi The family (พญ. ทานตะวัน พระโสภา)
- Do High HCG Levels Mean You're Having Twins?, Parents
อ้างอิง ณ วันที่ 26 ตุลาคม 2567
บทความที่เกี่ยวข้อง