พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ 6 เดือน ลูกน้อยมีพัฒนาการไปถึงไหนแล้ว
เมื่อลูกน้อยครบ 18 เดือน หรือเป็นเด็ก 1 ขวบ 6 เดือน คุณแม่และสมาชิกในครอบครัวคงเฝ้าสังเกตพัฒนาการของสมาชิกตัวน้อยอย่างตื่นเต้น กิจกรรมใหม่ ๆ ที่เจ้าตัวน้อยทำได้ดีขึ้น หรือทำได้เพิ่มมากขึ้น คงทำให้คุณแม่และทุก ๆ คนปลาบปลื้มระคนเอ็นดู และผู้ใหญ่ในบ้านก็คงเริ่มคิดถึงของเล่นหรือกิจกรรมมากมายที่เหมาะสมกับเขาอย่างอดใจไม่ได้ บทความนี้นำเสนอรายละเอียดของพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของลูกรักเพื่อเป็นประโยชน์แก่คุณแม่และทุก ๆ คนในครอบครัว เป็นแนวทางในการปฏิสัมพันธ์ และหาของเล่นที่เหมาะสมให้เจ้าตัวน้อย
สรุป
- เด็ก 1 ขวบ 6 เดือน หรืออายุ 18 เดือน สามารถคลานไปทั่วได้อย่างอิสระ และอาจเริ่มหัดเดินแล้ว มักจะปีนป่ายและใช้มือเพื่อจับ สัมผัส และเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ คุณแม่สามารถปล่อยให้ลูกน้อยลองกินอาหารด้วยตัวเอง และไม่ต้องคอยอยู่ใกล้ตลอด แค่เพียงอยู่ในระยะสายตาให้เขามีความสบายใจ
- ลูกน้อยในวัยนี้ มักจะเลียนแบบคำพูด ท่าทาง และน้ำเสียงได้ การพูดคุยด้วยคือวิธีการสอนให้เขาเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ ๆ แต่คุณแม่และสมาชิกทุกคนในบ้านก็ต้องระมัดระวัง เลือกแสดงออกเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมเชิงบวกให้กับลูกน้อย
- คุณแม่สามารถสอนมารยาทพื้นฐาน การกล่าว “ขอบคุณ” หรือ “ขอโทษ” ด้วยการกระตุ้น กล่าวนำและแสดงออกเป็นตัวอย่างให้กับลูกน้อยในวัยนี้
- ของเล่นที่หาให้เด็กในวัยนี้ ควรเน้นที่ทำการตอบสนองการเคลื่อนไหวของเขาได้ เมื่อลูกน้อยเป่า แตะ เข้าใกล้ ถ้าลูกน้อยเปรียบเทียบได้ว่าก่อนและหลังที่เขามีปฏิสัมพันธ์กับของเล่นนั้นมีความแตกต่าง เขาจะเรียนรู้วิธีการเล่นได้
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ 6 เดือน ด้านการเคลื่อนไหว
- พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ 6 เดือน ด้านการสื่อสาร
- พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ 6 เดือน ด้านการเรียนรู้
- พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ 6 เดือน ด้านอารมณ์
- เคล็ดลับเสริมสร้างพัฒนาการเด็ก 1 ขวบ 6 เดือน
- สิ่งที่พ่อแม่ควรระมัดระวัง ในการเลี้ยงลูกอายุ 1 ขวบ 6 เดือน
พัฒนาการของลูกรักเกิดขึ้นหลายด้านพร้อมกัน ถ้าคุณแม่ลองสังเกตทีละด้าน จะพบว่าสามารถแบ่งรายละเอียดออกได้ ดังนี้
พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ 6 เดือน ด้านการเคลื่อนไหว
- เคลื่อนไหวไปไหนมาไหนเองได้ด้วยการคลาน
- สามารถยืนขึ้นได้ ยืนเฉย ๆ ไม่ต้องมีคนช่วยประคอง หรือหาสิ่งจับยึดเพื่อพยุงตัว บางคนเริ่มหัดเดิน
- ปีนขึ้นลงโซฟา เก้าอี้ หรือพื้นที่มีความสูงกว่าตนเองได้โดยไม่ต้องมีคนช่วย
- ยกภาชนะขึ้นดื่มน้ำ หรือเครื่องดื่มต่าง ๆ ได้เอง แต่อาจจะยังมีพลาดทำหกได้บ้าง
- ควบคุมนิ้วหยิบจับสิ่งของได้ดี แม่นยำ
- สามารถใช้ช้อนกินข้าวเองได้
- ระบายสี หรือเขียนตัวหนังสือได้ แต่เส้นลากยังไม่เรียบร้อย
คำแนะนำเพิ่มเติม
- ลูกน้อยอาจพยายามปีนออกจากเปลหรือเตียง ถ้าหากคุณแม่ให้นอนเปลควรจะมีกระดิ่งติดไว้ที่เปล เพื่อจะได้รู้เวลาที่ลูกน้อยกำลังพยายามปีนออกมา
- ที่นอนไม่ใช่เปล กระดิ่งอาจจะไม่ได้ผล คุณแม่และครอบครัวอาจลองคิดเรื่องการหาที่กั้นมาติดเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับลูกน้อย
- ตรวจสอบสิ่งของในห้อง คุณแม่ควรตรวจเช็กด้วยว่าในห้องนอนไม่มีสิ่งของที่หล่นได้หรืออาจจะเป็นอันตราย ถ้าหากลูกน้อยไปเจอเข้า
พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ 6 เดือน ด้านการสื่อสาร
- สื่อสารโดยใช้คำตั้งแต่ 3 คำขึ้นไป
- ทำตามคำบอกหรือคำสั่งที่คุ้นเคยได้ แม้ว่าผู้ใหญ่จะไม่ทำท่าทางประกอบ เช่น บอกให้หยิบของใช้ ก็จะหยิบขึ้นมาอย่างรู้ความ ไม่ต้องทำท่าทางให้ดู
คำแนะนำเพิ่มเติม
- เสริมทักษะการพูดของลูกรัก คุณแม่สามารถเริ่มอ่านหนังสือให้เขาฟังได้ คุณแม่ควรหาหนังสือที่เหมาะสมตามอายุและน่าสนใจมาเพิ่มเติมคลังคำศัพท์ของเขาอย่างค่อยเป็นค่อยไป
- ใช้เวลาในการอ่านเนื้อเรื่องช้า ๆ อาจลองพากย์เสียงต่าง ๆ ขณะเล่าเรื่องเพื่อดึงดูดความสนใจและ ชี้ให้ลูกมองภาพประกอบ
- ย้ำคำและประโยคสำคัญในเนื้อเรื่อง และถามคำถามเกี่ยวกับเรื่องในหนังสือ เน้นเรียกร้องความสนใจของลูกน้อย
- สลับหนังสือที่ใช้เพื่อความสนุกสนาน เพื่อประสบการณ์การอ่าน ควรสร้างสภาพแวดล้อมที่เปิดโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้ ความอดทนและความมุ่งมั่น ประกอบกับความรักของคุณแม่เป็นสิ่งที่สำคัญในพัฒนาการด้านการสื่อสาร
พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ 6 เดือน ด้านการเรียนรู้
- พัฒนาการของเด็ก 1 ขวบ มักจะชอบเลียนแบบท่าทางของคนรอบตัว เช่น ท่าทางตอนทำงานบ้าน คือ กวาดพื้น เช็ดโต๊ะ ซักผ้า เป็นต้น
- เริ่มเข้าใจการใช้งานสิ่งของรอบตัวขณะเลียนแบบไปด้วย เช่น ไม้กวาดไว้กวาดพื้น ผ้าไว้เช็ดโต๊ะ ช้อนไว้กินข้าว แปรงสีฟันไว้ทำความสะอาดช่องปาก หรือเก้าอี้ไว้นั่ง เป็นต้น
- เข้าใจการเล่นของเล่น หรือประยุกต์วิธีการเล่นกับของเล่น
คำแนะนำเพิ่มเติม
- ลูกน้อยของคุณแม่จะชอบของเล่นที่ “ตอบสนอง” เมื่อเล่นด้วยในช่วงวัยนี้ เขาเรียนรู้ว่าการกดจะทำให้มีเสียงเพลงออกมา หรือกดปุ่ม ใช้งานปุ่มต่างกัน หรือเคาะต่างที่กัน จะมีเสียงเพลงหรือของที่ต่างกันออกมา
- ของเล่นอย่างฟองสบู่เองก็ดึงดูดความสนใจของลูกน้อยได้ เพราะสามารถแตะและฟองสบู่แตก รวมถึงมีเงื่อนไขว่าให้เป่าเพื่อสร้างฟอง
- การเล่นทุกอย่างที่ต้องมีกระบวนการและใช้ความคิดเปรียบเทียบ ว่ามีความแตกต่างก่อนและหลังทำบางสิ่งกับของเล่น ทำให้เขาพัฒนาการเรียนรู้
- เฝ้าระวังการอยู่หน้าจอ ลูกรักที่อายุน้อยกว่า 18 เดือนมีแนวโน้มจะไม่สามารถเข้าใจได้ว่าสิ่งของที่เห็นในหน้าจอโทรทัศน์หรือหน้าจอต่าง ๆ เป็นภาพของสิ่งของในโลกความเป็นจริง แต่ถ้าอายุพ้น 18 เดือน จริง ๆ แล้วลูกน้อยสามารถเรียนรู้จากรายการสื่อที่นำเสนอในลักษณะการสอนหรือเพื่อการพัฒนาการตามวัยของเขา แต่ห้ามปล่อยลูกรักดูคนเดียว จะดูได้ต้องมีคุณแม่หรือผู้ปกครองท่านอื่นประกบ และก็คอยย้ำสอนหรือถ่ายทอด เหมือนกับที่ใช้หนังสือนิทาน
พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ 6 เดือน ด้านอารมณ์
- แสดงความสนใจด้วยการชี้ และอยากให้คุณแม่มาดูด้วย
- สบายใจแม้อยู่ห่างจากคุณแม่หรือคนดูแล ตราบใดที่คุณแม่หรือคนดูแลยังอยู่ในระยะสายตา เขาจะคอยสอดส่ายสายตามองคนที่ดูแลเขาเป็นระยะ ๆ
- เห็นดีด้วยกับการล้างมือ เห็นน้ำแล้วมักชอบยื่นมือออกไปล้าง
- สบายใจที่จะยกแขนขึ้นเพื่อให้คุณแม่หรือคนที่ดูแลช่วยในการใส่เสื้อผ้า
- สนุก หรือมีปฏิกิริยากับหน้าในหนังสือที่คุณแม่ สมาชิกในครอบครัว หรือพี่เลี้ยงอ่านให้ฟัง
คำแนะนำพิเศษ:
- ลูกรักกำลังเรียนรู้ถึงขีดจำกัดจากคนรอบตัว คุณแม่และคุณพ่ออาจได้ยินลูกรักบอกว่า “ไม่” หรือแสดงอารมณ์เกรี้ยวกราดกับสถานการณ์ที่เขาไม่คุ้นเคย หรือไม่สบายใจ เขากำลังเรียนรู้ถึงขอบเขตของอิสระที่เขามีในการทำสิ่งต่าง ๆ ขณะที่มีความกล้าที่จะลองทำหลาย ๆ อย่างในแบบของพวกเขา
- ลูกน้อยจะเริ่มแสดงออกว่าต้องการแบ่งปัน จะเสนอของที่พวกเขามีให้บางคน แต่บางทีก็จะขอคืนแทบจะทันที
- สามารถช่วยพัฒนาการด้านอารมณ์โดยใช้ความอดทนกับลูกน้อย ควรค่อย ๆ สื่อสารด้วยความใจเย็นให้เขารับรู้ว่าอารมณ์ฉุนเฉียวเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม และจะส่งผลบางอย่างตามมา แต่หลีกเลี่ยงการลงโทษด้วยการตี เขย่าตัว หรือมีผลทำให้เจ็บ
สิ่งที่พ่อแม่ควรระมัดระวัง ในการเลี้ยงลูกอายุ 1 ขวบ 6 เดือน
1. ระมัดระวังคำหยาบ คำพูดที่ไม่เหมาะสม เพราะลูกจะจดจำและพูดตาม
เด็กวัยนี้เป็นเหมือนกับฟองน้ำที่ดูดซับทุกสิ่งที่ได้ยิน ลูกน้อยอาจหยิบยกคำหรือวลีที่ได้ยินมาพูดซ้ำ เป็นไปได้ทุกคำหรือวลีที่ได้ยิน รวมถึงคำหยาบคายหรือไม่เหมาะสม ดังนั้นต้องรักษาสภาพแวดล้อมในการสื่อสารเชิงบวกไว้ พูดอย่างให้ความเคารพต่อกันและกันที่บ้าน ลูกน้อยวัยนี้ไม่แค่จดจำคำศัพท์หรือรูปแบบคำ แต่อาจจะพยายามเลียนแบบท่าทางและน้ำเสียงด้วย
2. อย่าละเลยในการสอนให้พูดขอโทษ หรือขอบคุณ
คุณแม่หมั่นสอนมารยาทขั้นพื้นฐานให้ลูกน้อย เช่น การพูดว่า "ขอโทษ" และ "ขอบคุณ" กระตุ้นให้ลูกน้อยแสดงความขอบคุณเมื่อเจอกับสถานการณ์ที่เหมาะสม และขอโทษเมื่อเห็นว่าลูกน้อยทำผิดพลาด การกระตุ้นคือการพูดนำก่อน จะทำให้ลูกน้อยเข้าใจว่าพฤติกรรมเหล่านี้ต้องแสดงออกเป็นรูปแบบ การเตือนอย่างอ่อนโยนสม่ำเสมอและอดทนจะช่วยปลูกฝังทักษะทางสังคมที่สำคัญ รวมถึงสร้างลูกน้อยให้เกิดความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่น
3. ระวังปลั๊กไฟ เครื่องใช้ไฟฟ้า และของมีคมในบ้านให้ดี
คุณแม่และผู้ใหญ่ท่านอื่น ๆ ในบ้านควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าบ้านมีการป้องกันอุบัติเหตุและการบาดเจ็บของเด็ก ควรระมัดระวังเป็นพิเศษกับปลั๊กไฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าตลอดจนวัตถุมีคมในบ้าน ปิดปลั๊กไฟด้วยกล่องปลั๊กนิรภัย ยึดเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือเฟอร์นิเจอร์ที่มีน้ำหนักมากไว้กับพื้นให้แน่นเพื่อป้องกันการล้ม และเก็บของมีคมให้พ้นมือเด็ก สมาชิกในครอบครัวควรตรวจสอบบ้านเป็นประจำ สำรวจดูว่ามีอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับลูกน้อยได้ไหม และดำเนินการเพื่อจัดการหรือกำจัดสิ่งที่เป็นอันตรายเหล่านั้น
เคล็ดลับเสริมสร้างพัฒนาการเด็ก 1 ขวบ 6 เดือน
1. หมั่นอ่านหนังสือนิทานกับลูกบ่อย ๆ
การอ่านหนังสือนิทานกับลูกเป็นประจำ เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการกระตุ้นทักษะทางภาษา จินตนาการ และพัฒนาการทางสติปัญญาของพวกเขา โดยหนังสือที่เลือกต้องเหมาะสมกับวัยพร้อมมีภาพประกอบสีสันสดใส เลือกเรื่องราวที่น่าสนใจ การอ่านร่วมกันไม่เพียงแต่ทำให้ลูกน้อยได้รู้จักคำศัพท์และแนวคิดใหม่ ๆ แต่ยังส่งเสริมความรักในหนังสือและการอ่านอีกด้วย
2. ใช้เพลงในการสอนสิ่งต่างๆ กับลูก
เพลงเป็นเครื่องมือที่ยอดเยี่ยมสำหรับการสอนและเสริมสร้างทักษะต่าง ๆ การร้องเพลงกล่อมเด็กหรือเพลงที่มีภาษาสอดคล้องกับการเรียนรู้ในช่วงวัยจะช่วยในการพัฒนาภาษา ความจำ และแม้กระทั่งทักษะการเคลื่อนไหว เพลงหลายเพลงมีการกำหนดท่าทางขยับมือหรือการเคลื่อนไหวที่ส่งเสริมการประสานงานทางกายภาพ นอกจากนี้ยังมีหลายเพลงที่มีเนื้อหาด้านการศึกษา เช่น ตัวเลข สี และรูปทรง
3. เน้นโภชนาการที่ดี ส่งเสริมอาหารที่มีประโยชน์
อาหารและนิสัยในการกินที่สร้างได้จากคุณแม่และผู้ปกครองท่านอื่น ๆ ในบ้าน เป็นพื้นฐานของการเจริญเติบโตและพัฒนาการของลูกน้อย โดยหลักการแล้วอาหารของลูกน้อยในวัยนี้ควรประกอบด้วยอาหารหลากหลายที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็น
- อาหารที่สมดุลด้วยผัก ผลไม้ โปรตีน และดูแลให้ร่างกายลูกน้อยให้ได้รับน้ำอย่างเพียงพอ
- ผลิตภัณฑ์จากนม นมวัว 100 เปอร์เซ็นต์ มีโปรตีนและแคลเซียมสูง ช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโตสมวัย ส่วนนม UHT สำหรับเด็ก ที่พัฒนาขึ้นสำหรับเด็กวัย 1 ปีขึ้นไปโดยเฉพาะ ช่วยให้ลูกน้อยได้รับสารอาหารหลากหลาย เช่น สฟิงโกไมอีลิน สารอาหารสำคัญที่ช่วยสร้างไมอีลินในสมองซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองและสติปัญญาของลูกน้อย
- หลีกเลี่ยงของว่างและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากเกินไป ส่งเสริมนิสัยการกินเพื่อสุขภาพตั้งแต่อายุยังน้อย
- คำนึงถึงปริมาณอาหารที่เตรียมให้ลูกกิน ไม่ใช่เรื่องใหญ่ถ้าลูกจะพูดว่า “ไม่” คุณแม่ควรให้เขาได้กำหนดเองว่าจะกินอะไร มากน้อยแค่ไหน ถ้าคิดว่าไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกายลูกน้อย เอาไว้ถามเขาอีกครั้งเมื่อสบโอกาสว่า “กินไหม”
การติดตามและดูแลพัฒนาการของลูกในวัย 1 ปี 6 เดือน เป็นบทบาทที่สำคัญของคุณแม่และผู้ใหญ่ในครอบครัว คุณแม่และทุก ๆ คนควรมีส่วนร่วมช่วยกันสอนมารยาทพื้นฐาน เช่น การขอโทษและขอบคุณ และดูแลรักษาความปลอดภัยในบ้านเพื่อสวัสดิภาพของลูกน้อย เคล็ดลับในการเสริมพัฒนาการของลูก คือ อ่านหนังสือนิทานร่วมกัน การใช้เพลงเป็นเครื่องมือในการสอน และการให้ความสำคัญกับอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ จะช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตทั้งทางร่างกายและอารมณ์ของลูกน้อยผู้เป็นขวัญใจของคุณแม่และทุกคนในครอบครัว
บทความแนะนำสำหรับพัฒนาการลูกน้อย
- โภชนาการสำหรับเด็ก 1-2 ขวบ กินอะไรให้ฉลาดและแข็งแรง
- โภชนาการสำหรับเด็ก 2-3 ขวบ กินอะไรให้ฉลาดและแข็งแรง
- พัฒนาการเด็ก 1-4 ปีแรก พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 2 ขวบ พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 3 ขวบ พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- นม UHT สำหรับเด็ก ช่วยเสริมพัฒนาการทางสมองลูก
- นมสำหรับเด็ก 1 ขวบขึ้นไป แบบไหนดีกับลูกในแต่ละช่วงวัย
- นมสูตร 3 เพื่อการเจริญเติบโต นมสำหรับเด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป
อ้างอิง:
- Your Child's Development: 1.5 Years (18 Months), Nemours Children's Health
- Your Child at 18 Months: Milestones, WebMD
- Is Your Toddler Being Disrespectful? Here's Why and What to Do, What To Expect
- Toddlers (1-2 years of age), CDC
- Your Ultimate Baby Proofing Checklist, The Bump
- Age-by-Age Guide to Reading to Your Baby, Parents
- Musical Play for Babies and Toddlers, What to Expect
- Toddler Parenting Tips (1- and 2-Year-Olds), Verywell Family
อ้างอิง ณ วันที่ 21 มกราคม 2567
บทความที่เกี่ยวข้อง