ลูกท้องเสีย เกิดจากอะไร พร้อมวิธีดูแลลูกน้อย
อาการท้องเสีย เป็นอาการที่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก คุณแม่จึงต้องระวังเป็นพิเศษโดยเฉพาะในเด็กที่กินนมแม่ เพราะลูกน้อยมักถ่ายเหลวเป็นประจำทำให้คุณแม่ไม่แน่ใจว่าทารกมีอาการท้องเสีย หรือว่าแค่อาการถ่ายอุจจาระเป็นปกติ สำหรับวิธีที่คุณแม่จะทราบได้ว่าลูกน้อยมีอาการท้องเสียหรือไม่คุณแม่ต้องอาศัยการสังเกตการขับถ่ายและลักษณะอุจจาระของลูกน้อย หากคุณแม่พบว่าลูกน้อยมีอาการท้องเสียควรปฏิบัติอย่างไร ลูกท้องเสียให้กินอะไรได้บ้าง มาดูเคล็ดลับดี ๆ สำหรับคุณพ่อคุณแม่กันค่ะ
สรุป
- อาการท้องเสีย เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุทั้งเชื้อไวรัส แบคทีเรีย การแพ้อาหาร และภาวะแพ้โปรตีนนมวัว ซึ่งอาการท้องเสียจะทำให้เด็กถ่ายเหลวเป็นน้ำ หรือเกิดการถ่ายแล้วมีมูกเลือดปน
- เมื่อลูกน้อยท้องเสียคุณแม่สามารถให้นมแม่ได้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม คุณแม่สามารถขอคำปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับนมสูตรปราศจากแลตโตส (lactose free) ได้ โดยคุณหมออาจพิจารณาให้การดูแลตามความเหมาะสมหากมีความจำเป็น
- หากลูกน้อยมีอาการถ่ายเหลวมากกว่า 10 ครั้ง มีไข้ อาเจียน ปวดท้อง อุจจาระเป็นมูกเลือด ไม่ยอมกินนมหรืออาหาร หอบลึก ปากแห้ง ร้องไห้งอแง แนะนำให้คุณแม่พาลูกน้อยไปพบหมอทันที เพราะอาจทำให้ลูกเกิดภาวะขาดน้ำ หรืออาจเป็นสัญญาณของโรคติดเชื้อที่รุนแรงได้
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- ลูกท้องเสีย จะมีอาการแบบไหน
- ลูกท้องเสียกินอะไรได้บ้าง ที่ไม่อันตราย
- ลูกท้องเสีย ยังดื่มนมได้เหมือนเดิมหรือไม่
- วิธีดูแลลูกน้อย เมื่อมีอาการท้องเสีย
- อาการท้องร่วง ต่างกับท้องเสียอย่างไร
- ลูกท้องเสียแบบไหน ควรรีบไปพบแพทย์
อาการท้องเสียในเด็กส่วนใหญ่เป็นการท้องเสียแบบเฉียบพลัน อาการท้องเสียในเด็กเกิดจากหลายสาเหตุ คือ การติดเชื้อทางเดินอาหารจากเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสโรต้า ไวรัสโนโร ลำไส้อักเสบติดเชื้อ ส่วนการติดเชื้อจากแบคทีเรีย เช่น อีคีไล, ชิเกลลา ซึ่งพบได้น้อยกว่า รวมถึงการแพ้อาหารบางชนิด หรือภาวะเด็กแพ้โปรตีนนมวัว
ลูกท้องเสีย จะมีอาการแบบไหน
อาการท้องเสีย คือ อาการทารกถ่ายเหลว โดยปกติทารกที่กินนมแม่จะถ่ายอุจจาระเหลวและบ่อยอยู่แล้วทำให้คุณแม่ไม่แน่ใจว่าลูกถ่ายปกติหรือท้องเสีย วิธีสังเกตว่าลูกน้อยท้องเสียหรือไม่ให้ใช้การเปรียบเทียบลักษณะของการถ่ายอุจจาระในครั้งก่อน ๆ หากทารกมีการถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำมากกว่าทุกครั้งที่เคยถ่าย หรือมีมูกเลือดปน แสดงว่า “ลูกท้องเสีย” และให้รีบไปหาหมอ แต่ถ้าทารกถ่ายบ่อย ถ่ายเป็นเนื้อดี และน้ำหนักตัวขึ้นดี แสดงว่าลูกน้อยถ่ายปกติคุณแม่ไม่ต้องเป็นกังวล อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่พบว่าลูกน้อยมีอาการต่อไปนี้ ให้รีบพาลูกไปพบคุณหมอ
- ถ่ายเหลว พร้อมมีไข้
- ถ่ายเหลวเกิน 3 ครั้งต่อวัน
- ถ่ายเหลวมีมูกเลือดปน
ลูกท้องเสียกินอะไรได้บ้าง ที่ไม่อันตราย
1. เด็กวัยทารก
หนูน้อยวัยนี้สามารถกินนมได้ตามปกติ คุณแม่ไม่จำเป็นต้องงดนมสำหรับทารกแต่อย่างใด
2. ในเด็กเล็กที่เริ่มเพิ่มอาหารเสริม
คุณแม่สามารถให้ลูกทานอาหารอ่อนที่ย่อยง่าย เช่น น้ำแกงจืด น้ำซุป โจ๊กในปริมาณที่น้อยไปก่อน เพื่อให้ลำไส้ของลูกน้อยค่อย ๆ ได้ดูดซึมสารอาหารเข้าไป ในช่วงที่เด็กมีอาการท้องเสียคุณแม่ควรงดให้ลูกดื่มน้ำผลไม้หรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลไปก่อน เพื่อรอให้ลำไส้ค่อย ๆ ปรับตัว
3. สำหรับเด็กโต
เด็กวัยนี้จำเป็นต้องได้รับอาหารเพิ่มโดยคุณแม่ควรเริ่มให้อาหารอ่อนที่ย่อยง่ายแก่ลูกน้อย เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม น้ำเต้าหู้ น้ำชา น้ำแกงจืด เป็นต้น และควรให้ลูกทานบ่อยกว่าปกติเพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวจากอาการท้องเสียได้อย่างรวดเร็ว
ลูกท้องเสีย ยังดื่มนมได้เหมือนเดิมหรือไม่
เมื่อลูกน้อยท้องเสียคุณแม่สามารถให้ลูกกินนมได้ตามปกติ คือ
1. ทารกที่กินนมแม่
คุณแม่สามารถให้นมลูกและให้ลูกกินนมแม่ได้ตามปกติ แต่อาจต้องเพิ่มความถี่โดยการให้บ่อยขึ้นกว่าปกติ เพื่อให้ลูกได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ
2. เด็กที่กินนมผสม
คุณแม่สามารถให้ลูกน้อยกินนมผงเด็กได้ตามสัดส่วนเดิม แต่อาจให้ในปริมาณต่อมื้อลดลงแล้วเพิ่มความถี่ต่อมื้อมากขึ้น เพื่อให้ลำไส้ของลูกน้อยค่อย ๆ ดูดซึมสารอาหารอย่างเพียงพอ
3. ลูกท้องเสียเกิน 3 วัน
ในกรณีนี้คุณแม่สามารถขอคำปรึกษาจากคุณหมอเกี่ยวกับนมสูตรปราศจากแลคโตส (lactose free) นอกจากนี้คุณหมออาจพิจารณาให้การดูแลลูกน้อยที่เหมาะสมตามความจำเป็น
วิธีดูแลลูกน้อย เมื่อมีอาการท้องเสีย
เมื่อลูกมีอาการ ท้องเสีย หรือ ไข้ถ่ายเหลว คุณแม่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะร่างกายของลูกอาจเสี่ยงต่อการขาดน้ำได้ง่าย ควรปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรก่อนให้สารละลายเกลือแร่หรือผงเกลือแร่โออาร์เอส เพื่อช่วยชดเชยน้ำและเกลือแร่ที่ร่างกายสูญเสีย หลีกเลี่ยงการให้ยาเองโดยไม่ได้รับคำแนะนำ และสังเกตอาการอื่นๆ เช่น ซึม หรือตาโหล หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์ทันที นอกจากนี้ คุณแม่ควรให้ลูกดื่มน้ำหรือกินนมแม่ต่อไปตามปกติ เพื่อช่วยบรรเทาอาการ ท้องเสียในเด็ก และช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
อาการท้องร่วง ต่างกับท้องเสียอย่างไร
ลูกท้องเสียหรืออาการท้องร่วง เป็นอาการที่เหมือนกันแต่อาจมีความแตกต่างกันเล็กน้อย คือ คำว่า “ท้องเสีย” คือ อาการถ่ายอุจจาระเหลวมักใช้เป็นภาษาพูดมากกว่า ส่วนทางการแพทย์จะใช้คำว่า “อุจจาระร่วง” หรือท้องร่วง คือ อาการที่ถ่ายอุจจาระเหลวมากเกิน 3 ครั้งขึ้นไปใน 1 วัน หรือการถ่ายอุจจาระเป็นน้ำหรือลูกท้องเสียถ่ายมีมูกเลือดเพียงครั้งเดียวใน 1 วัน โดยโรคอุจจาระร่วงหรือท้องร่วง จะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ
- อาการท้องร่วงแบบเฉียบพลัน เป็นอาการท้องร่วงที่มีระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน
- อาการท้องร่วงแบบยืดเยื้อหรือเรื้อรัง เป็นอาการท้องร่วงที่มีระยะเวลามากกว่า 7 วันขึ้นไป
ลูกท้องเสียแบบไหน ควรรีบไปพบแพทย์
- ปัสสาวะน้อย มีสีเหลืองเข้ม หรือไม่ปัสสาวะ
- มีภาวะขาดน้ำ คือ ปากแห้ง ลิ้นแห้ง ผิวแห้ง
- ร้องไห้งอแง กระสับกระส่าย
- อ่อนเพลีย และเซื่องซึม
- กระหม่อมบุ๋มลึกในเด็กเล็ก
- อาเจียนบ่อย
- ปวดท้องมาก ท้องอืด
- มีไข้สูง มีอาการชัก
- ถ่ายเป็นมูกเลือด หรือถ่ายเป็นสีดำเหนียว
- หอบลึก
- ถ่ายอุจจาระบ่อยมากกว่า 10 ครั้งต่อวัน
- ไม่ยอมกินข้าวหรือนม
เมื่อลูกน้อยมีอาการท้องเสีย ลูกเป็นไข้ถ่ายเหลว สิ่งสำคัญคือคุณพ่อคุณแม่ต้องให้ลูกได้รับสารน้ำทดแทนของเหลวที่เสียไปให้เพียงพอ เพื่อป้องกันร่างกายของเด็กเกิดภาวะขาดน้ำ และก่อนจะให้นมลูก ป้อนอาหาร หรือหลังเปลี่ยนผ้าอ้อม พ่อแม่ควรล้างมือทำความสะอาดด้วยสบู่ทุกครั้งเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อโรคให้มากขึ้น เมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกน้อยมีอาการปวดท้องที่รุนแรงขึ้น เช่น ถ่ายอุจจาระเหลวมากกว่า 10 ครั้ง ปากแห้ง มีไข้สูง หอบ ถ่ายเป็นมูกเลือด ลูกไม่ยอมกินนมหรือกินข้าว อาเจียน หรืออ่อนเพลีย ให้คุณแม่รีบพาลูกน้อยไปพบแพทย์ทันที
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่
- Health check แบบประเมินสุขภาพของคุณแม่และพัฒนาการของลูกน้อย
- จุกหลอก ดีกับลูกน้อยจริงไหม จุกนมหลอก ข้อดีข้อเสียมีอะไรบ้าง
- ทารกตัวเหลือง เกิดจากอะไร พร้อมวิธีดูแลทารกตัวเหลือง
- สายสะดือทารก สะดือใกล้หลุดเป็นแบบไหน พร้อมวิธีทำความสะอาด
- วิธีห่อตัวทารกที่ถูกต้อง ให้ลูกน้อยสบายตัว เหมือนอยู่ในท้องแม่
- เด็กทารกสะอึก เกิดจากอะไร วิธีไหนที่ช่วยบรรเทาอาการลูกสะอึก
- ทารกไม่ยอมนอน ลูกร้องไห้งอแง นอนหลับยาก พร้อมวิธีรับมือ
- ตารางการนอนของทารก 0-1 ปี ทารกควรนอนวันละกี่ชั่วโมง
- ทารกนอนสะดุ้ง เกิดจากอะไร พร้อมวิธีแก้ลูกนอนสะดุ้งและวิธีรับมือ
- ลูกหัวแบน ทารกหัวแบน คุณแม่ทำอย่างไรได้บ้าง พร้อมวิธีแก้ไขเบื้องต้น
- วิธีลดไข้ทารกแรกเกิด อาการทารกเป็นไข้ ทารกตัวร้อน พร้อมวิธีวัดไข้
อ้างอิง:
- ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องเสียบ่อยๆ ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น เสี่ยงระบบย่อยอาหารพัง !, โรงพยาบาลนครธน
- ปัญหาทางเดินอาหารที่พบบ่อยในทารก, สมาคมกุมารเวชศาสตร์ทางเดินอาหารและตับแห่งประเทศไทย
- ท้องเสีย ดูแลอย่างไร, โรงพยาบาลสินแพทย์
- โรงท้องเสียในเด็ก, ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย
- ลูกน้อยท้องเสียบ่อย ส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก, โรงพยาบาลบางปะกอก 3
- ท้องเสีย..ซ่อมได้รึเปล่า, โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน
อ้างอิง ณ วันที่ 24 ธันวาคม 2566
ภูมิแพ้ในเด็ก
ข้อมูลผลิตภัณฑ์
คุณแม่ให้นมบุตร
0-12 เดือน
12-24 เดือน
รวมบทความ การดูแลทารกแรกเกิด สำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่
รวมบทความการตั้งครรภ์ ตั้งแต่สัญญาณการตั้งครรภ์ ไปจนก่อนคลอด
รวมบทความ แม่ตั้งครรภ์ไตรมาส 1 พัฒนาการลูกในครรภ์ 1-3 เดือน
รวมบทความ แนะนำอาหารที่ควรทานของเด็กตามช่วงวัย
รวมบทความอาหารสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 1-3
บทความที่เกี่ยวข้อง