น้ำนมใส คืออะไร สีน้ำนมแม่และประโยชน์ของน้ำนมส่วนหน้า
นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก เพราะนมแม่อุดมไปด้วยสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด เช่น ดีเอชเอ แคลเซียม วิตามิน และสฟิงโกไมอีลิน สำหรับคุณแม่ที่คลอดลูกน้อยใหม่อาจสงสัยว่าทำไมนมของแม่มีหลายสีมาก ช่วงแรก ๆ ทำไมถึงมีสีเหลือง หลัง ๆ มาถึงเป็นสีขาวข้นบ้าง น้ำนมใสบ้าง น้ำนมแม่แต่ละสีต่างกันอย่างไร วันนี้อยากจะชวนคุณแม่มาทำความรู้จักกับน้ำนมสีต่าง ๆ ของคุณแม่ และคุณประโยชน์ของน้ำนมแต่ละสี
สรุป
- น้ำนมแม่ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ น้ำนมส่วนหน้าและน้ำนมส่วนหลัง ซึ่งในแต่ละส่วนประกอบด้วยสารอาหารที่ต่างกัน เพื่อการเติบโตที่แข็งแรง ภูมิคุ้มกันที่ดี และพัฒนาทางสมองอย่างต่อเนื่องคุณแม่ควรให้ลูกน้อยกินนมแม่ทั้งสองส่วน
- วิธีที่จะทำให้ลูกน้อยสามารถกินนมแม่ได้ครบส่วน คือ การให้ลูกน้อยได้กินนมให้เกลี้ยงเต้าโดยการให้ลูกกินนมแม่นานครั้งละ 10-15 นาที หรือปั๊มนมบ่อย ๆ เพื่อให้ลูกน้อยได้ทั้งนมส่วนหน้าและส่วนหลังอย่างครบถ้วน
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- ความแตกต่างของน้ำนมส่วนหน้า และน้ำนมส่วนหลัง
- ทำไมน้ำนมใส ถึงมีปริมาณไขมันต่ำ
- ประโยชน์ของน้ำนมใสสำหรับลูกน้อย
- ลูกกินแต่น้ำนมส่วนหน้าไป จะเกิดอะไรขึ้น
- ลูกน้อยจะได้รับสารอาหารครบถ้วนจากน้ำนมแม่
- ทำความเข้าใจเกี่ยวกับสีน้ำนมแม่
น้ำนมใสที่คุณแม่เห็นเรียกว่า “น้ำนมส่วนหน้า” น้ำนมส่วนนี้มีน้ำเป็นองค์ประกอบมาก อุดมไปด้วยสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด เช่น ดีเอชเอ แคลเซียม วิตามินและสฟิงโกไมอีลิน ที่ช่วยให้ลูกน้อยมีพัฒนาการทางสมองที่ดี และช่วยกระตุ้นการขับถ่าย เพียงแต่มีปริมาณไขมันที่ต่ำกว่า “น้ำนมส่วนหลัง”
ความแตกต่างของน้ำนมส่วนหน้า และน้ำนมส่วนหลัง
ปกติแล้วนมแม่แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
- นมส่วนหน้า (Foremilk): เป็นนมที่ไหลในช่วงแรกที่แม่ให้นมลูก น้ำนมส่วนนี้จะมีสีขาวค่อนข้างใส มีไขมันต่ำ คาร์โบไฮเดรตสูง และมีปริมาณน้ำนมที่มากกว่านมส่วนหลัง และยังอุดมไปด้วยสารอาหารที่สำคัญต่อการเติบโตและพัฒนาการของสมองทารก
- นมส่วนหลัง (Hindmilk): นมส่วนนี้จะมีสีขาวที่ข้นขึ้น โดยจะไหลออกมาหลังจากคุณแม่ให้นมลูกได้ระยะหนึ่งแล้ว จึงมีความข้นที่มากกว่า ในนมส่วนหลังนี้เป็นแหล่งของสารอาหารจำพวกโปรตีนและไขมันที่มีปริมาณมากกว่านมส่วนหน้า ทั้งยังให้พลังงานที่เยอะกว่าอีกด้วย
ทำไมน้ำนมใส ถึงมีปริมาณไขมันต่ำ
น้ำนมส่วนหน้า (Foremilk) มีลักษณะใส เนื่องจากมีน้ำเป็นองค์ประกอบมากถึง 80 % และมีปริมาณไขมันต่ำกว่า อีกทั้งน้ำนมส่วนหน้ายังมีวิตามินและแร่ธาตุที่เพียงพอกับความต้องการของลูกน้อยและมีน้ำตาลแลคโตส ที่ช่วยพัฒนาสมอง และระบบประสาทส่วนกลางอีกด้วย
ประโยชน์ของน้ำนมใสสำหรับลูกน้อย
น้ำนมใส หรือน้ำนมส่วนหน้าเป็นแหล่งโภชนาการที่ดีสำหรับลูกน้อย มีส่วนช่วยในเรื่องของ
- การพัฒนาสมอง และระบบประสาทส่วนกลาง
- ช่วยกระตุ้นการขับถ่ายของลูกน้อย
- ดูดซึมและย่อยได้ง่าย
ลูกกินแต่น้ำนมส่วนหน้าไป จะเกิดอะไรขึ้น
ในนมส่วนหน้าเป็นนมส่วนที่มีปริมาณน้ำมาก เมื่อคุณแม่ให้ลูกน้อยกินแต่นมส่วนหน้าจะทำให้ทารกรู้สึกหิวนมบ่อย ๆ เนื่องจากนมส่วนนี้ย่อยได้ง่าย การดื่มนมส่วนหน้ามากเกินไปอาจจะเป็นสาเหตุให้เกิดลมในช่องท้อง ซึ่งนำไปสู่อาการ ท้องอืด และจุกเสียดท้องทารกปัสสาวะหรืออุจจาระเหลวอีกด้วย
ลูกน้อยจะได้รับสารอาหารครบถ้วนจากน้ำนมแม่
1. ให้ลูกเข้าเต้านาน ๆ
คุณแม่ควรให้ลูกเข้าเต้าและให้นมลูกนาน ๆ ข้างละประมาณ 10-20 นาที หรือนานเท่าที่ลูกน้อยต้องการ และควรให้นมลูกบ่อย ๆ ทุก 3-4 ชั่วโมง หรือตามที่ลูกน้อยต้องการ หลังจากนั้นค่อย ๆ ลดความถี่ให้นมลงให้เหลือครั้งละ 6-10 ครั้ง
2. ให้ลูกดูดนมจนเกลี้ยงเต้า
เพื่อให้ลูกน้อยได้รับประโยชน์จากนมแม่สูงสุด คุณแม่ควรให้ลูกน้อยได้กินนมทั้งส่วนหน้าและนมส่วนหลัง เพราะจะทำให้เด็กได้รับสารอาหารที่เหมาะสมกับการเติบโตของลูกน้อยอย่างครบถ้วน โดยพยายามให้ลูกดูดนมจนเกลี้ยงเต้าข้างใดข้างหนึ่งก่อน แล้วค่อยสลับให้ลูกน้อยกินอีกข้าง วิธีนี้นอกจากจะช่วยให้ลูกกินนมได้เกลี้ยงเต้าแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นการผลิตน้ำนมแม่ได้ดีและได้นานอีกด้วย
3. ใช้วิธีการปั๊มนมให้เกลี้ยงเต้าสต๊อกเก็บไว้
ในช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอดคุณแม่สามารถปั๊มนมให้ลูกน้อยได้เลยหลังจากให้ลูกน้อยกินนมเป็นระยะเวลา 10-15 นาที ถัดมาอีก 30 วันแรกหลังคลอดให้คุณแม่เน้นพาลูกเข้าเต้ายังไม่ต้องปั๊ม เนื่องจากทารกตื่นบ่อย ๆ หลังจากนั้นเป็นช่วงเวลาของคุณแม่นักปั๊มสำหรับเก็บสต็อกนมให้ลูกน้อย เพราะลูกน้อยหลับได้ยาวนานยิ่งขึ้น โดยคุณแม่สามารถปั๊มนมให้ลูกน้อยได้ 2 วิธีด้วยกัน คือ
- วิธีที่ 1: ปั๊มนมทันทีหลังจากลูกน้อยกินนมแม่ไปได้ 10-15 นาที
- วิธีที่ 2: ปั๊มนมทั้ง 2 ข้าง ๆ ละ 10-15 นาที หลังจากลูกน้อยเข้าเต้าไปแล้ว 1 ชั่วโมง
ทำความเข้าใจเกี่ยวกับสีน้ำนมแม่
- สีเหลือง: น้ำนมสีนี้ เรียกว่า “โคลอสตรัม” เป็นหัวน้ำนมที่เกิดขึ้นในช่วงแรกหลังจากคุณแม่คลอดลูก ซึ่งน้ำนมส่วนนี้ประกอบไปด้วยสารอาหารที่ช่วยเรื่องการเติบโตของทารก เสริมสร้างความแข็งแรง และสร้างภูมิต้านทานได้ดี
- สีเขียว: เกิดจากอาหารที่คุณแม่กินเข้าไปในปริมาณมาก เช่น ผักใบเขียว สาหร่ายทะเล หรือวิตามิน เป็นต้น
- สีดำ: หากคุณแม่ปั๊มนมแล้วเห็นเป็นสีดำอาจมีสาเหตุมาจากยาที่คุณแม่ทานเข้าไป หรือสีเลือดที่เข้มข้น
- สีชมพู ส้ม แดง: สาเหตุเกิดจากอาหารที่คุณแม่ทานเข้าไปทำให้น้ำนมกลายเป็นสีชมพู สีส้ม หรือสีแดง หรืออาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น เส้นเลือดฝอยแตกจากการปั๊มนม หัวนมแตกทำให้มีเลือดปน ปกติแล้วสีของน้ำนมจะกลายมาเป็นสีขาวภายในระยะเวลา 2-3 วัน หากน้ำนมคุณแม่ยังคงมีสีแดงนานกว่านั้นให้ปรึกษาคุณหมอเพื่อขอคำแนะนำและวิธีการรักษาต่อไป
- สีน้ำตาล: หากน้ำนมของคุณแม่มีสีน้ำตาลอาจหมายถึงสีของเลือดในน้ำนมแม่
น้ำนมส่วนหน้าเป็นน้ำนมแรกที่ลูกน้อยจะได้รับจากการเข้าเต้า เมื่อลูกน้อยดูดนมแม่นานขึ้นจะทำให้เด็กได้รับน้ำนมส่วนหลังที่มีปริมาณไขมันที่สูงกว่าในน้ำนมส่วนหน้า ดังนั้น เพื่อให้ลูกน้อยได้รับสารอาหารในนมแม่มากกว่า 200 ชนิด เช่น ดีเอชเอ แคลเซียม วิตามิน และสฟิงโกไมอีลิน ในครั้งเดียว คุณแม่ควรให้ลูกเข้าเต้านาน ๆ เพื่อให้ได้รับทั้งน้ำนมส่วนหน้าและน้ำนมส่วนหลังในปริมาณที่เหมาะสมกับความต้องการของทารก
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ให้นม
- เพิ่มน้ำนมคุณแม่ ด้วยการกระตุ้นน้ำนม จากธรรมชาติ ดีกับคุณแม่และลูก
- น้ำนมเหลือง ที่มีสฟิงโกไมอีลิน สารอาหารสำคัญ ช่วยพัฒนาสมองจากแม่สู่ลูก
- นมแม่อยู่ได้กี่ชม น้ำนมแม่เก็บได้นานแค่ไหน เก็บรักษาอย่างไรให้ถูกวิธี
- คัดเต้านมทำยังไงดี คัดเต้ากี่วันหาย พร้อมวิธีบรรเทาอาการนมคัด
- เจ็บหัวนม หัวนมแตก อาการเจ็บหัวนม ต้องรักษาอย่างไร ให้นมลูกต่อได้ไหม
- อาการทารกหิวนม สัญญาณจากลูกน้อย ที่คุณแม่สังเกตเองได้
อ้างอิง:
- นมแม่ ประโยชน์คูณสอง ได้ทั้งแม่ ดีทั้งลูก, โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ สภากาชาดไทย
- การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่, คณะแพทย์แผนไทย มหาวิทยาละยสงขลานครินทร์
- What to Know About Foremilk and Hindmilk, webmd
- ความรัก เริ่มต้นจากการป้อนนม…, FHS
- ปัญหาและวิธีแก้ กับเรื่อง “นมแม่” ที่ต้องอ่าน, โรงพยาบาลสมิติเวช
- WHEN DOES THE BREAST MILK OF A MOTHER DRY UP COMPLETELY?, amri hospitals
- วิธีเก็บสต็อกนมแม่ ต้องทำอย่างไร, โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์แนชั่นแนล อ้อมน้อย
- Unusual colours (appearance) and smells of breastmilk, Australian Breastfeeding Association
- น้ำนมส่วนหน้า หกับน้ำนมส่วนหลัง ต่างกันอย่างไร, premierehomehealthcare
อ้างอิง ณ วันที่ 20 มกราคม 2567
บทความที่เกี่ยวข้อง