พัฒนาการลูกน้อย 5-6 เดือน ลูกน้อยมีพัฒนาการอย่างไร
พัฒนาการลูกน้อย อายุ 5-6 เดือน อาหารที่เหมาะสมกับช่วงวัย คุณพ่อ คุณแม่ช่วยกระตุ้นพัฒนาการอะไรลูกได้บ้าง
ลูกเป็นอย่างไรในวัยนี้
เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยนี้เด็กหลายคนจะเริ่มกลัวคนแปลกหน้าไม่หัวเราะอย่างสนุกสนานกับทุกคนที่
เข้ามาเล่นด้วยเหมือนเมื่อก่อน เมื่อพาไปเยี่ยมคุณปู่ย่าตายายที่ไม่ค่อยได้เจอหน้ากัน เด็กอาจร้องไห้จ้า แทนที่จะหัวเราะร่าเริงแจ่มใสเหมือนเวลาอยู่ที่บ้าน ซึ่งอาจทำให้ญาติผู้ใหญ่ (รวมทั้งคุณพ่อคุณแม่) แอบผิดหวังอยู่ลึก ๆ ความจริงแล้ว พฤติกรรมนี้เป็นพฤติกรรมปกติตามวัย เกิดขึ้นเพราะเด็กมีความจำที่ดีขึ้น สามารถจำคนที่คุ้นเคยได้ ดังนั้นเขาจึงเริ่มไม่ไว้ใจคนแปลกหน้าที่เข้ามาเล่นด้วย คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นได้ด้วยการแจ้งข้อมูลให้ญาติผู้ใหญ่หรือผู้ที่จะเข้ามาเล่นกับเด็กทราบก่อนว่าช่วงนี้ลูกกำลังกลัวคนแปลกหน้า และให้เวลาเด็กสร้างความคุ้นเคยก่อน โดยค่อย ๆ ให้ญาติผู้ใหญ่ที่เด็กไม่คุ้นเคยเข้ามาพูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่และเด็กในขณะที่เด็กอยู่ในอ้อมกอดของคุณพ่อหรือคุณแม่ก่อน อย่าเพิ่งให้ความสนใจเด็กมากหรือขออุ้มทันที และหลีกเลี่ยงการจ้องมองหน้าเด็กนาน ๆ เมื่อเด็กเริ่มคุ้นเคยแล้ว จึงค่อย ๆ นำของเล่นมาเล่นด้วย หรือสัมผัสตัวเด็ก
กระตุ้นพัฒนาการลูกได้อย่างไร
ในวัยนี้เด็กจะรู้จักชื่อของตนเองและหันตามได้เมื่อถูกเรียก ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรส่งเสริมพัฒนาการด้วยการเรียกชื่อลูกจากทางด้านข้าง เพื่อให้เขาหันหา และเมื่อเขาหันมาแล้ว ควรส่งของเล่นให้หรือยิ้มเล่นกับเขา เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เขาหันอีกเมื่อถูกเรียกในครั้งถัด ๆ ไป เด็กวัยนี้เมื่อนอนคว่ำจะสามารถยืดแขนตึงและยันตัวได้สูง คุณพ่อคุณแม่ควรกระตุ้นให้เขาทำท่านี้บ่อย ๆ ด้วยการใช้ของเล่นล่อ เพราะการทำเช่นนี้จะช่วยให้กล้ามเนื้อหลังแข็งแรงขึ้น เมื่อถึงช่วงวัยถัดไปที่จะเริ่มนั่ง เขาจะได้นั่งหลังตรงขึ้น นอกจากนี้เมื่อจับเขานั่งหรือเมื่อเขาอยู่ในท่านอนหงาย คุณพ่อคุณแม่ควรนำของเล่นมาล่อให้เขาสนใจในระยะที่เขาเอื้อมถึง อย่าเพิ่งส่งของเล่นให้เขากับมือ เพื่อให้เขาฝึกเอื้อมหยิบของเล่นด้วยตนเอง
อาหารอะไรเหมาะกับลูก
อาหารที่เหมาะสมที่สุดในวัยนี้คือนมแม่ เด็กวัยนี้ชอบส่งเสียงคล้ายเสียงกรี๊ดเวลาดีใจ เป่าปากเล่นน้ำลาย เขาจะสนุกกับการเลียนแบบเมื่อคุณพ่อคุณแม่เดาะปาก จุ๊ปาก เดาะลิ้น เมื่อเขาทำตามได้ดีขึ้น จะเป็นพื้นฐานของการส่งเสียงพยัญชนะ เช่น “ปะ” “มะ” ในระยะต่อมา
เคล็ดลับคุณแม่
ระยะเวลาในการปรับตัวกับคนแปลกหน้าของเด็กแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนปรับตัวเร็ว ในขณะที่บางคนปรับตัวได้ช้า ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรสังเกตท่าทีว่าลูกยอมรับการเข้ามาใกล้ของคนแปลกหน้าได้มากน้อยเพียงใด และให้เวลาลูกปรับตัว ในที่สุดเมื่อเขาคุ้นเคยแล้ว เขาจะแสดงความน่ารักสดใสดังเดิม
บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
พัฒนาการลูกน้อย อายุ 3-4 เดือน
พัฒนาการลูกน้อย อายุ 2-3 เดือน
พัฒนาการลูกน้อย อายุ 6-7 เดือน
อ้างอิง
บทความโดย แพทย์หญิงพัฎ โรจน์มหามงคล
กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรม โรงพยาบาลศิริราช
บทความที่เกี่ยวข้อง