คัดเต้ากี่วันหาย อาการคัดเต้านม พร้อมวิธีบรรเทาสำหรับคุณแม่
คัดเต้านม นมคัด เป็นอาการเจ็บปวดเต้านมที่เกิดเมื่อคุณแม่มีน้ำนมคั่งค้างอยู่ภายในเต้านมปริมาณมาก ทำให้ทารกอาจดูดนมจากเต้านมที่คัดตึงลำบาก และหากปล่อยไว้อาจนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ตามมา เช่น ท่อน้ำนมอุดตัน เต้านมอักเสบ รวมถึง ร่างกายอาจผลิตน้ำนมลดลงด้วย เนื่องจากร่างกายรับสัญญาณจากอาการคัดตึงเต้านมว่า ไม่จำเป็นต้องสร้างน้ำนมเพิ่ม บทความนี้จะอธิบายถึง สาเหตุที่ทำให้คุณแม่คัดตึงเต้านม อาการที่พบ วิธีบรรเทาอาการคัดเต้านม และวิธีป้องกันไม่ให้กลับมาคัดเต้านมอีก
PLAYING: คัดเต้ากี่วันหาย อาการคัดเต้านม พร้อมวิธีบรรเทาสำหรับคุณแม่
สรุป
- อาการคัดเต้านม น้ำนมที่คั่งค้างอยู่ในเต้านมปริมาณมาก และไม่ได้ระบายออก อาจเกิดจากไม่ได้ให้ลูกดูดนมเป็นเวลานาน หรือไม่ได้ปั๊มนมอย่างสม่ำเสมอ ทุก 2-3 ชั่วโมง
- เมื่อคัดเต้านม คุณแม่จะมีอาการเต้านมขยายใหญ่ขึ้น บวม คัด ตึง ปวด อาจมีไข้ต่ำ ๆ ร่วมด้วย
- ประคบอุ่นก่อนให้นมลูก ช่วยให้น้ำนมไหลดีขึ้น และประคบเย็นหลังให้นม ช่วยลดบวม และลดอาการปวดเต้านมได้
- หากนมคัดมาก ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- สาเหตุที่ทำให้คุณแม่คัดเต้านม
- อาการคัดเต้ากี่วันหาย
- วิธีบรรเทาอาการคัดเต้านมสำหรับคุณแม่
- เคล็ดลับป้องกันไม่ให้คัดเต้านม
คัดเต้านม ปัญหาที่พบบ่อยในคุณแม่ให้นมบุตร คุณแม่จะมีอาการเต้านมขยายใหญ่ขึ้น รู้สึกคัด บวม แข็ง ตึง ร้อน และปวด เนื่องจากมีน้ำนมแม่ค้างอยู่ในเต้านมเป็นเวลานาน แต่ไม่ได้ระบายออก มักเป็นทั้งเต้า และเป็นทั้งสองข้าง บางรายอาจมีไข้ต่ำ ๆ ร่วมด้วย เป็นเวลา 24 ชั่วโมง ซึ่งอาการนี้เรียกว่า ไข้จากน้ำนม เกิดจากสารในน้ำนมซึมผ่านเข้าสู่กระแสเลือดของแม่ ทำให้เกิดอาการไข้ ซึ่งสามารถหายได้เอง แต่หากคุณแม่มีไข้สูงและนานกว่า 48 ชั่วโมง แสดงว่าเกิดการติดเชื้อ ควรปรึกษาแพทย์
หากคุณแม่ปล่อยให้นมคัดเป็นเวลานาน จะทำให้น้ำนมข้นขึ้น และไปอุดตันท่อน้ำนม เสี่ยงต่ออาการท่อน้ำนมอุดตัน ซึ่งนำไปสู่ภาวะเต้านมอักเสบ และหากปล่อยไว้จนมีหนอง เรียกว่า เต้านมเป็นฝี ต้องไปให้แพทย์เจาะหรือกรีดหนองออก
สาเหตุที่ทำให้คุณแม่คัดเต้านม
โดยปกติหากคุณแม่ให้นมลูกน้อยเป็นเวลาหรือปั๊มนมออกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการระบายน้ำนมออกจากเต้า คุณแม่จะไม่ค่อยพบปัญหาเต้านมคัด แต่หากร่างกายคุณแม่สร้างน้ำนมได้มากกว่าปริมาณที่ลูกน้อยกิน หรือคุณแม่ทิ้งช่วงการให้นมลูกแต่ละครั้งห่างเกินไป เช่น ลูกนอนหลับนาน หรือลูกกินนมไม่บ่อย ลูกกินนมแต่ละครั้งน้อย แล้วไม่ได้ปั๊มนมออก หรือคุณแม่ติดงานไม่มีเวลาปั๊มนม ทำให้มีน้ำนมคั่งค้างในเต้ามากเกินไป รวมไปถึงคุณแม่มือใหม่อาจให้ลูกดูดนมเข้าเต้าผิดวิธี ทำให้ลูกกินนมได้น้อย ระบายน้ำนมออกได้น้อยกว่าที่ควร ไม่เกลี้ยงเต้า เหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้คุณแม่เกิดอาการคัดเต้านมได้
อาการคัดเต้ากี่วันหาย
อาการคัดเต้านมจะหายไปภายใน 24-48 ชั่วโมง เมื่อคุณแม่มีการระบายน้ำนมออก พยายามทำให้น้ำนมเกลี้ยงเต้า โดยให้ลูกน้อยดูดบ่อย ๆ หรือปั๊มนมเก็บไว้บ่อย ๆ ทุก 2-3 ชั่วโมง แต่หากคุณแม่ไม่ทำอะไรเลย อาการคัดเต้านมจะอยู่ประมาณ 7-10 วัน
วิธีบรรเทาอาการคัดเต้านมสำหรับคุณแม่
หากคุณแม่มีอาการคัดเต้านม สามารถดูแลตัวเองเบื้องต้น เพื่อบรรเทาอาการคัดเต้านมได้ ดังนี้
- ประคบอุ่น ก่อนให้นมลูก โดยใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบรอบเต้าประมาณ 5-10 นาทีก่อนให้นมลูก หรือนวดคลึงเต้านมเบา ๆ เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนเลือด จะช่วยให้น้ำนมไหลดีขึ้น
- ประคบเย็นหลังให้นมลูก เป็นเวลา 10 นาที จะช่วยลดบวมและลดอาการปวดเต้านมได้
- ให้นมลูกบ่อยขึ้น เพื่อเป็นการระบายน้ำนม ควรให้นมลูกบ่อยขึ้นทั้งกลางวันและกลางคืน ทุก 2-3 ชั่วโมง
- บีบน้ำนมออกจนลานหัวนมอ่อนและนุ่มลง จะช่วยให้ลูกน้อยดูดนมได้ง่ายขึ้น เนื่องจากนมคัดเต้าเป็นเวลานานทำให้ลานหัวนมตึงและแข็ง ทำให้หัวนมสั้นลง ลูกดูดนมได้ยากขึ้น
- หมั่นปั๊มนมเก็บไว้บ่อยๆ คุณแม่ควรปั๊มนมทุก 3 ชั่วโมงจนเกลี้ยงเต้า เพื่อเคลียร์เต้านมให้โล่ง ป้องกันน้ำนมคั่งค้างอยู่ภายในเต้านม
- ใส่เสื้อชั้นในเพื่อพยุงเต้านม ขนาดกระชับพอดีตัว ไม่ควรใส่เสื้อชั้นในที่มีโครง หรือเสื้อชั้นในที่คับเกินไป
- คัดเต้านมมาก หากนมคัดเต้าจนคุณแม่มีอาการปวดเต้านมมาก หากนมคัดมาก ๆ ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา
เคล็ดลับป้องกันไม่ให้คัดเต้านม
อาการคัดเต้า ปวด ตึง บวม แข็ง สามารถกลับมาอีกได้ทุกเมื่อ หากคุณแม่ปล่อยระยะเวลาในการให้นมลูกห่างเกินไป หรือรอบการปั๊มนมห่างเกินไป เพื่อลดโอกาสกลับมาคัดเต้านมอีก วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันไม่ให้คัดเต้านม คือการให้นมลูกอย่างสม่ำเสมอ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) แนะนำว่า โดยเฉลี่ยแล้ว ทารกที่กินนมแม่เพียงอย่างเดียวควรได้รับนมทุก ๆ 2-4 ชั่วโมง จนถึงอายุ 6 เดือน และควรกินต่อเนื่องไปจนลูกอายุ 2 ปีหรือนานกว่านั้น ควบคู่กับอาหารตามวัยที่เหมาะสม นอกจากนี้ ยังมีเคล็ดลับอื่น ๆ ป้องกันอาการคัดเต้า
- ให้ลูกดูดนมอย่างถูกท่าทาง อุ้มลูกแนบชิดตัว และให้ลูกงับหัวนมให้ลึกถึงลานนม ลูกจะสามารถรีดน้ำนมเข้าปากได้อย่างเต็มที่
- ให้ลูกดูดนมบ่อยๆ และดูดจนเกลี้ยงเต้า รวมทั้ง สลับเต้านมที่ทารกมักดูดก่อน เช่น ปกติเริ่มดูดที่ข้างซ้ายก่อน ให้เปลี่ยนมาดูดข้างขวาก่อนบ้าง
- หากคุณแม่รู้สึกคัดตึงเต้านม ควรปลุกลูกขึ้นมากินนมตอนกลางคืน เพื่อป้องกันอาการเต้านมคัดในตอนเช้า
- อย่าปล่อยระยะเวลาให้นมลูกห่างไป ควรปั๊มนมออกทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง เพื่อรักษาปริมาณน้ำนมเอาไว้
การให้นมลูก เป็นประจำและสม่ำเสมอ ดูดบ่อย ดูดถูกท่าทาง และดูดจนเกลี้ยงเต้า เป็นหัวใจสำคัญในการป้องการอาการคัดเต้านม เพื่อให้น้ำนมได้ระบายออกจากเต้านมและไม่คั่งค้างภายในเต้านม จนเกิดอาการคัดเต้านม ซึ่งหากปล่อยไว้อาจส่งผลให้เกิดภาวะท่อน้ำนมอุดตัน และเต้านมอักเสบตามมาได้
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ดีที่สุด เพราะนมแม่คือสุดยอดอาหาร ที่รวมสารอาหารต่าง ๆ กว่า 200 ชนิด เช่น ดีเอชเอ แคลเซียม และสฟิงโกไมอีลิน ทารกจึงควรได้รับนมแม่อย่างต่อเนื่องใน 6 เดือนแรก เพื่อการเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์แข็งแรง
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ให้นม
- สฟิงโกไมอีลิน คืออะไร สำคัญต่ออย่างไรต่อสมองของลูกน้อย
- DHA สารอาหารสำคัญ ช่วยพัฒนาสมองของลูกน้อย
- 2’-FL คืออะไร ? รู้จัก 2’-FL โอลิโกแซคคาไรด์ในนมแม่ (HMOs)
- น้ำนมเหลือง ที่มีสฟิงโกไมอีลิน สารอาหารสำคัญ ช่วยพัฒนาสมองจากแม่สู่ลูก
- เทคนิคเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สุดยอดสารอาหารจากแม่สู่ลูก
- เพิ่มน้ำนมคุณแม่ ด้วยการกระตุ้นน้ำนม จากธรรมชาติ ดีกับคุณแม่และลูก
- นมแม่อยู่ได้กี่ชม น้ำนมแม่เก็บได้นานแค่ไหน เก็บรักษาอย่างไรให้ถูกวิธี
- น้ำนมเหลือง ที่มีสฟิงโกไมอีลิน สารอาหารสำคัญ ช่วยพัฒนาสมองจากแม่สู่ลูก
- อาการทารกหิวนม สัญญาณจากลูกน้อย ที่คุณแม่สังเกตเองได้
- เด็กแรกเกิดกินนมกี่ออนซ์ ถึงจะดีที่สุด ปริมาณเท่าไหร่ถึงเรียกว่าพอดี
- วิธีจับลูกเรอ ท่าอุ้มเรอช่วยให้ลูกสบายท้อง หลังลูกอิ่มนม
- เจ็บหัวนม หัวนมแตก อาการเจ็บหัวนม ต้องรักษาอย่างไร ให้นมลูกต่อได้ไหม
- ทารกไม่ยอมนอน ลูกงอแงไม่ยอมนอนไม่มีสาเหตุ พร้อมวิธีรับมือ
- อาการทารกหิวนม สัญญาณจากลูกน้อย ที่คุณแม่สังเกตเองได้
- วิธีชงนมที่ถูกต้อง พร้อมขั้นตอนการเตรียมน้ำชงนม สำหรับแม่มือใหม่
อ้างอิง:
- อาการเต้านมคัด, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
- เต้านมคัด อาการที่คุณแม่มือใหม่ไม่ควรมองข้าม, คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล
- ภาวะคัดเต้านม, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
- การปฏิบัติตนเมื่อมีภาวะคัดนม และเทคนิคการบีบ-เก็บน้ำนมด้วยมือ, โรงพยาบาลวิชัยยุทธ
- Breast engorgement: How to relieve and prevent it, Medical News Today
- อาการที่สามารถเกิดกับคุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนม, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
อ้างอิง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566