การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ พร้อมวิธีให้นมลูกที่ถูกต้อง
แม่ให้นมควรให้ลูกกินนมแม่เพียงอย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือน ถึง 2 ปี หรือนานกว่านั้น เพราะน้ำนมแม่มีสารอาหารมากมายที่เป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการด้านต่าง ๆ ลูกน้อย และไม่ใช่เพียงลูกน้อยเท่านั้นแต่แม่ให้นมยังได้รับประโยชน์เต็ม ๆ จากการให้ลูกกินนมแม่ด้วยเช่นกัน การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงมีความสำคัญมาก หากคุณแม่อยากให้ลูกน้อยได้กินนมแม่ไปนาน ๆ จะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร เรามีคำแนะนำดี ๆ มาฝาก
สรุป
- นมแม่มีประโยชน์ทั้งต่อตัวคุณแม่และลูกน้อยเป็นอย่างมาก ทั้งช่วยเสริมสร้างการเติบโตของร่างกาย เสริมภูมิคุ้มกัน และช่วยเรื่องการขับถ่ายให้แก่ลูกแล้ว ยังช่วยให้คุณแม่ฟื้นฟูร่างกายได้ดี มดลูกเข้าอู่เร็ว และมีผลต่อจิตใจของคุณแม่ด้วย
- คุณแม่ควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้นานที่สุด เพราะการโอบกอดลูกนาน ๆ ในระหว่างให้นม การพูดคุย และการสบตาจะช่วยให้ลูกน้อยเป็นเด็กที่มีอีคิว (E.Q.) ที่ดี เป็นเด็กอารมณ์ดี เลี้ยงง่าย
- หากคุณแม่ไม่สะดวกพาลูกเข้าเต้า สามารถปั๊มนมเก็บไว้เพื่อให้ลูกน้อยกินได้ โดยระยะเวลาการเก็บรักษานมจะขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ที่ใช้ในการแช่นม
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- ประโยชน์ของนมแม่สำหรับลูกน้อย
- ประโยชน์ที่คุณแม่ได้รับจากการให้นมลูก
- การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ใน 6 เดือนแรก สำคัญอย่างไร
- เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ช่วยให้ลูกอารมณ์ดี จริงไหม?
- ท่าให้นมลูก สำหรับคุณแม่มือใหม่
- เคล็ดลับทำให้มีน้ำนมมากพอ
- ทำไมต้องให้ลูกดูดนมจนเกลี้ยงเต้า
- อาการแบบไหนที่บอกว่า นมเกลี้ยงเต้า
- สต๊อกน้ำนมไว้ที่ไหนได้บ้าง
- อาหารช่วยกระตุ้นน้ำนม มีอะไรบ้าง
ประโยชน์ของนมแม่สำหรับลูกน้อย
- ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน สามารถป้องกันอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ลูกน้อยจึงแข็งแรง
- ช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคภูมิแพ้ โรคภูมิแพ้ผิวหนัง หอบหืดได้
- ช่วยระบบขับถ่ายของลูกน้อย เพราะในนมแม่มีโพรไบโอติกส์ที่ช่วยปรับสมดุลและกระตุ้นการเจริญเติบโตของแบคทีเรียชนิดดีในลำไส้ ช่วยลดโอกาสท้องผูก
- นมแม่มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด เช่น ดีเอชเอ โอเมก้า 3,6 และสฟิงโกไมอีลิน ที่อุดมไปด้วยสารอาหารบำรุงสมอง ทำให้ลูกน้อยมีสมองที่ดี
- การเจริญเติบโตของร่างกาย เพราะในนมแม่มีสารอาหารที่ลูกน้อยต้องการอย่างครบถ้วน
- ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ เช่น ฟันผุ เบาหวานในเด็ก และโรคไหลตาย (SIDS) ในเด็กที่อาจพบในทารกช่วงวัย 3 เดือน
ประโยชน์ที่คุณแม่ได้รับจากการให้นมลูก
- ช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็ว ร่างกายฟื้นฟูได้เร็วขึ้น และน้ำหนักกลับคืนสู่ระดับช่วงก่อนตั้งครรภ์ได้ไวขึ้น เพราะร่างกายของคุณแม่จะดึงเอาไขมันที่สะสมไว้มาผลิตเป็นน้ำนมนั่นเอง
- ช่วยป้องกันภาวะตกเลือดของคุณแม่หลังคลอดได้
- ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค เช่น โรคโลหิตจาง เบาหวานชนิดที่ 2 ความดันโลหิตสูง มะเร็งเต้านม และมะเร็งรังไข่
- ส่งผลต่อจิตใจของคุณแม่ เพราะการโอบกอดลูกจะทำให้แม่มีความรู้สึกผูกพัน และมีสายสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกด้วย
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ใน 6 เดือนแรก สำคัญอย่างไร
นมแม่เป็นโภชนาการที่ดีที่สุดสำหรับทารก อุดมไปด้วยสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด เช่น ดีเอชเอ โปรตีน แคลเซียม โฟเลต วิตามิน A,C,B12 และสฟิงโกไมอีลิน เหมาะกับการเจริญเติบโตของเด็กและพัฒนาการทางสมอง รวมถึงมีภูมิคุ้มกันที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคภูมิแพ้ ลดการติดเชื้อจากโรคต่าง ๆ ทำให้ลูกน้อยไม่ป่วยง่าย หากลูกน้อยได้รับนมแม่อย่างต่อเนื่องจะช่วยให้เด็กมีภูมิต้านทานที่ดี อีกทั้งในระหว่างที่คุณแม่ให้นมลูกจะช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกน้อย ทำให้ลูกน้อยรู้สึกปลอดภัย และส่งเสริมพัฒนาการทางด้านสมองและสติปัญญาของลูกได้ด้วย
เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ช่วยให้ลูกอารมณ์ดี จริงไหม?
จริง เพราะการให้นมลูกคุณแม่ต้องโอบกอดลูกน้อย มีการสบสายตา และพูดคุยระหว่างให้นมลูก ซึ่งช่วงเวลานี้เองที่ทำให้เกิดสายสัมพันธ์ที่อบอุ่นระหว่างแม่กับลูก การส่งผ่านอารมณ์ทั้งหมดของแม่ส่งผลให้เด็กเกิดความฉลาดทางอารมณ์ (E.Q.) มีอารมณ์ที่ดี มีการศึกษาหนึ่งพบว่า การที่แม่ให้ลูกกินนมแม่นาน ๆ จะช่วยให้เด็กลดอาการร้องกวนลง ลูกน้อยจึงเป็นเด็กที่เลี้ยงง่าย อารมณ์ดี
ท่าให้นมลูก สำหรับคุณแม่มือใหม่
1. ท่าอุ้มลูกฟุตบอล (Clutch Hold/Football Hold)
คุณแม่ต้องอุ้มลูกน้อยในท่ากึ่งตะแคงกึ่งหงาย ให้ขาของลูกชี้ไปทางด้านหลังของแม่ โดยใช้แขนข้างเดียวกับเต้านมที่ลูกกินนมแม่โอบกอดลูกให้กระชับ มือประคองต้นคอส่วนท้ายทอยไว้ ส่วนมืออีกข้างจับนมเพื่อให้ลูกสามารถงับหัวนมได้ถูกวิธี ท่านี้เหมาะสำหรับคุณแม่ที่ผ่าคลอดเป็นอย่างมาก
2. ท่าอุ้มนอนขวางบนตักแม่ (Cradle Hold)
ท่านี้เป็นท่าให้นมพื้นฐานสำหรับคุณแม่ วิธีคืออุ้มลูกน้อยมาไว้ที่ตักแม่ จากนั้นใช้แขนข้างเดียวกับเต้านมที่จะป้อนลูกน้อยประคองบริเวณท้ายทอยและลำตัวลูกไว้ โดยที่ศีรษะอยู่สูงกว่าลำตัว ส่วนมืออีกข้างจับเต้านมให้ลูก ท่านี้เหมาะสำหรับคุณแม่ที่คลอดธรรมชาติ
3. ท่าอุ้มนอนขวางบนตักแม่ แบบประยุกต์ (Modified/Cross Cradle Hold)
ท่านี้คล้ายกับท่าอุ้มท่าที่สอง เริ่มจากให้คุณแม่อุ้มลูกมาไว้บนตัก แล้วใช้มือข้างที่ต้องการป้อนนมลูกจับเต้านมไว้ ส่วนมืออีกข้างใช้ประคองศีรษะช่วงท้ายทอยของลูก ท่านี้เหมาะสำหรับคุณแม่ที่คลอดธรรมชาติเช่นเดียวกัน
4. ท่านอนตะแคง (Side Lying Position)
ท่านี้คุณแม่กับลูกน้อยต้องอยู่ในท่านอนตะแคงเข้าหากัน โดยที่คุณแม่ต้องนำหมอนมาหนุนให้ศีรษะลูกอยู่สูงกว่าเล็กน้อย และต้องจัดท่าให้ปากของลูกน้อยอยู่บริเวณหัวนม โดยใช้มือข้างหนึ่งประคองให้ตัวลูกอยู่ชิดกับแม่ ส่วนมืออีกข้างให้จับเต้านมให้ลูกงับแล้วค่อยปล่อยออก ท่านี้เหมาะสำหรับคุณแม่ผ่าคลอดหรือคุณแม่ที่ต้องการให้นมลูกในขณะพักผ่อน
เคล็ดลับทำให้มีน้ำนมมากพอ
หากคุณแม่กำลังประสบปัญหาน้ำนมเริ่มหดจนน้ำนมน้อยลง สามารถใช้วิธีเพิ่มน้ำนมให้ลูกน้อย ดังนี้
- อุ้มลูกและกอดลูกระหว่างให้นม: การอุ้มให้นมลูกเป็นการสัมผัสแบบเนื้อแนบเนื้อซึ่ง วิธีนี้จะกระตุ้นให้ร่างกายของคุณแม่ผลิตน้ำนมได้มากขึ้น
- ปั้มนมให้ลูกน้อยบ่อย ๆ: ทุกครั้งที่คุณแม่ปั้มนมร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนโปรแลคตินมากขึ้น จากนั้นฮอร์โมนนี้จะไปกระตุ้นเต้านมให้เกิดการสร้างน้ำนมมากขึ้น วิธีปั๊มนม คือ ให้คุณแม่ปั๊มนมเป็นเวลา 10 นาที จากนั้นพัก 10 นาที ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนครบ 1 ชั่วโมง และควรปั๊มนมบ่อย ๆ ประมาณ 8 ครั้งต่อวัน
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ: การดื่มน้ำมาก ๆ เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้ร่างกายของคุณแม่สามารถผลิตน้ำนมได้มากขึ้น
ทำไมต้องให้ลูกดูดนมจนเกลี้ยงเต้า
นมแม่ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ นมส่วนหน้าและนมส่วนหลัง ซึ่งมีประโยชน์และคุณค่าทางสารอาหารที่แตกต่างกันเล็กน้อย ในนมส่วนหน้าจะอุดมไปด้วยสารอาหารที่ช่วยพัฒนาสมองและการขับถ่ายของทารก ส่วนนมส่วนหลังจะมีโปรตีนและไขมันที่สูงกว่า รวมถึงยังมีโอเมก้า DHA และ ARA ที่ช่วยพัฒนาสมองและการเติบโตของลูกน้อย
อาการแบบไหนที่บอกว่า นมเกลี้ยงเต้า
- เมื่อบีบเต้านมจะไม่มีน้ำนมพุ่งออกมา หรืออาจมีเพียง 1-2 หยดเท่านั้น
- จับเต้านมแล้วเต้านมนิ่มทั้ง 2 ข้าง
- คุณแม่ไม่มีอาการรู้สึกเจ็บ หรือปวดคัดที่เต้านม
สต๊อกน้ำนมไว้ที่ไหนได้บ้าง
คุณแม่สามารถใช้เครื่องปั๊มนมทำสต๊อกน้ำนมเพื่อเก็บไว้ให้ลูกน้อยกินในภายหลังได้ โดยมีวิธีการเก็บรักษานมที่ปั๊มแล้ว ดังนี้
- กระติกน้ำแข็ง สามารถเก็บนมแม่ได้นาน 24 ชั่วโมง
- ตู้เย็น นมแม่สามารถแช่เย็นในช่องธรรมดาที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส นาน 5 วัน หากเก็บไว้ที่ช่องแช่แข็งอุณภูมิในตู้เย็นแบบบานเดียว -15 องศาเซลเซียส จะเก็บได้นาน 2 สัปดาห์ ส่วนตู้เย็นที่มีช่องแช่แข็งแบบประตูแยก ในอุณหภูมิ -18 องศาเซลเซียส จะสามารถเก็บนมแม่ได้นาน 3-6 เดือน
- ตู้แช่แข็ง สำหรับตู้แช่ที่ อุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียส นมแม่จะเก็บได้นาน 6-12 เดือน
อาหารช่วยกระตุ้นน้ำนม มีอะไรบ้าง
- ฟักทอง สามารถนำไปทำได้ทั้งอาหารคาวและอาหารหวาน เช่น ซุปฟักทอง แกงบวดฟักทอง และฟักทองผัดไข่ เป็นต้น ในฟักทองมีสารเบตาแคโรทีนสูง มีวิตามินเอมาก และยังเรียกน้ำนมได้ดีด้วย
- หัวปลี มีธาตุเหล็ก และยังช่วยเพิ่มน้ำนมได้ดี สามารถนำไปทำแกงเลียง ยำหัวปลีเพื่อเรียกน้ำนมได้
- ขิง: นอกจากเพิ่มน้ำนมให้คุณแม่แล้ว ยังสามารถขับลม ช่วยย่อยอาหารและไขมันได้ดีขึ้นด้วย คุณแม่สามารถนำขิงไปทำเป็นอาหารเมนูต่าง ๆ เช่น หมูผัดขิง บัวลอยน้ำขิง หรือจะต้มน้ำขิงดื่มก็ได้
- ใบกะเพรา เป็นหนึ่งในผักที่ช่วยกระตุ้นน้ำนมได้ดี แถมยังช่วยลดอาการท้องอืดได้ด้วย ส่วนเมนูยอดฮิตแม่ให้นม เช่น ผัดกะเพราหมู นำไปใส่กับอาหารพวกต้มยำ เป็นต้น
- กุยช่าย คุณแม่สามารถนำไปทำเป็นอาหารเรียกน้ำนมได้สารพัด เช่น กุยช่ายผัดไข่ ทำขนมกุยช่าย เป็นต้น นอกจากนี้ ในกุยช่ายยังมีธาตุเหล็ก สามารถลดการอักเสบได้ดี และยังช่วยให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายคุณแม่ด้วย
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นเรื่องที่คุณแม่ควรให้ความสำคัญเพราะนมแม่มีประโยชน์ต่อลูกน้อยเป็นอย่างมาก ประกอบด้วยสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด เช่น ดีเอชเอ แคลเซียม และสฟิงโกไมอีลิน ที่ช่วยเรื่องการเติบโตและพัฒนาสมอง รวมถึงยังช่วยให้ร่างกายของคุณแม่ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว คุณแม่ควรให้ลูกน้อยกินนมแม่ให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยพยายามให้ลูกดูดนมแม่บ่อย ๆ หรือปั๊มนมเป็นประจำ ดูดให้เกลี้ยงเต้า หากคุณแม่เริ่มรู้สึกว่าน้ำนมน้อยลงให้ลองทานน้ำเพิ่มขึ้น เปลี่ยนท่าให้นม หรือปรึกษาคุณหมอเพื่อขอแนวทางเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ให้นม
- เพิ่มน้ำนมคุณแม่ ด้วยการกระตุ้นน้ำนม จากธรรมชาติ ดีกับคุณแม่และลูก
- น้ำนมเหลือง ที่มีสฟิงโกไมอีลิน สารอาหารสำคัญ ช่วยพัฒนาสมองจากแม่สู่ลูก
- นมแม่อยู่ได้กี่ชม น้ำนมแม่เก็บได้นานแค่ไหน เก็บรักษาอย่างไรให้ถูกวิธี
- คัดเต้านมทำยังไงดี คัดเต้ากี่วันหาย พร้อมวิธีบรรเทาอาการนมคัด
- เจ็บหัวนม หัวนมแตก อาการเจ็บหัวนม ต้องรักษาอย่างไร ให้นมลูกต่อได้ไหม
- อาการทารกหิวนม สัญญาณจากลูกน้อย ที่คุณแม่สังเกตเองได้
อ้างอิง:
- สารพัดข้อดีของนมแม่, โรงพยาบาลเปาโล
- 8 ประโยชน์จากการเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่ ที่คุณแม่ต้องรู้, โรงพยาบาลวิมุต
- นมแม่แน่แค่หกเดือน จริงหรือ? ทำอย่างไรจึงให้นมลูกได้ถึงสองปีหรือนานกว่า?, unicef
- นมแม่ดีอย่างไร, โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์แนชั่นแนล อ้อมน้อย
- นมแม่ ที่สุดของคุณค่าอาหารเพื่อลูกน้อย, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
- นมแม่ช่วยให้ลูกอารมณ์ดี, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- ท่าในการให้นมแม่ที่ถูกต้องและการอุ้มเรอ, โรงพยาบาลแมคคอร์มิค
- How to combine breast and bottle feeding, NHS
- Breastfeeding, webmd
- เทคนิค 4 ดูด ของการดูดน้ำนมแม่จากเต้า, โรงพยาบาลท่ายาง
- นมแม่ ประโยชน์คูณสอง ได้ทั้งแม่ ดีทั้งลูก, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
- เทคนิคการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่, โรงพยาบาลกรุงเทพ
- เลี้ยงลูกให้แข็งแรงด้วยนมแม่, โรงพยาบาลกรุงเทพ
- 5 ผัก ตัวช่วยเพิ่มน้ำนมให้คุณแม่, โรงพยาบาลบางปะกอก 3
อ้างอิง ณ วันที่ 19 มกราคม 2567
บทความที่เกี่ยวข้อง