อาการคนแพ้ท้องเริ่มเมื่อไหร่ พร้อมวิธีรับมืออาการแพ้ท้อง
อาการแพ้ท้องเป็นหนึ่งในสัญญาณเริ่มต้นของการตั้งครรภ์ คุณแม่อาจมีอาการคลื่นไส้ พะอืดพะอม แพ้ท้องหนักมาก อยากอาเจียน แพ้ท้องพะอืดพะอมตลอดเวลา ถือเป็นเรื่องปกติ หรือบางคนอาจไม่แพ้ท้องเลยก็ได้ บทความนี้จะช่วยให้คุณแม่ทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาการแพ้ท้อง สาเหตุ และเคล็ดลับบรรเทาอาการแพ้ท้อง ที่จะช่วยให้คุณแม่รับมืออย่างถูกวิธี
สรุป
- อาการแพ้ท้องมักเกิดจากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ กระตุ้นให้คุณแม่ไวต่อกลิ่นต่าง ๆ ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน วิงเวียน พะอืดพะอม และอื่น ๆ ซึ่งอาการแพ้ท้องของคุณแม่แต่ละคนมีความแตกต่างกันไป
- อาการแพ้ท้องมักเกิดในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ มักมีอาการแพ้ท้องรุนแรงในช่วงสัปดาห์ที่ 4-6 หลังจากนั้นอาการแพ้ท้องจะค่อย ๆ ลดลงในช่วงสัปดาห์ที่ 12-14 ของการตั้งครรภ์
- วิธีบรรเทาอาการแพ้ท้อง เช่น แบ่งอาหารเป็นมื้อย่อย ๆ รับประทานน้อย ๆ แต่บ่อยครั้งแทน หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้รู้สึกคลื่นไส้อาเจียน รวมทั้งสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดอาการแพ้ท้อง ดื่มน้ำสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ
- หากมีอาการแพ้ท้องรุนแรง ดื่มน้ำและรับประทานอาหารไม่ได้เลย อาเจียนออกมาหมด น้ำหนักตัวลดอย่างรวดเร็ว อ่อนเพลียมาก หัวใจเต้นเร็ว เป็นอาการที่ผิดปกติ ให้รีบไปพบแพทย์
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- อาการแพ้ท้อง เกิดจากอะไร
- คุณแม่แพ้ท้อง มีอาการแบบไหนบ้าง
- อาการแพ้ท้องของคุณแม่ จะเริ่มเป็นช่วงไหน
- วิธีบรรเทาอาการแพ้ท้องสำหรับคุณแม่
- คุณแม่แพ้ท้องรุนแรงแบบไหน ควรรีบไปพบแพทย์
อาการแพ้ท้อง เกิดจากอะไร
อาการแพ้ท้อง (Moring Sickness) เป็นอาการที่มักเกิดกับคุณแม่ตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก โดยที่คุณแม่แต่ละคนจะมีอาการแพ้ท้องที่แตกต่างกัน บางคนแพ้ท้องหนักมาก และแพ้ท้องพะอืดพะอมตลอดเวลา รวมถึงความรุนแรงของการแพ้ท้องก็ต่างกันไป บางคนแพ้มาก บางคนแพ้น้อย หรือบางคนอาจไม่แพ้เลย ทั้งนี้เกิดจากฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง คุณแม่ตั้งครรภ์จึงควรทำความเข้าใจและรับมืออย่างถูกวิธี เพื่อให้สุขภาพของคุณแม่และลูกน้อยสมบูรณ์ไปจนถึงวันคลอด
โดยอาการแพ้ท้อง สามารถเกิดได้หลายสาเหตุ เช่น การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนที่เพิ่มปริมาณมากขึ้นจากรกและลูกน้อยในครรภ์ สภาวะจิตใจของคุณแม่ที่มีความเครียด วิตกกังวล หรืออาจเกิดจากสัญชาตญาณการต่อต้านอาหาร จึงทำให้คุณแม่รู้สึกเหม็นกลิ่นอาหาร อย่างไรก็ตาม แม้อาการคนแพ้ท้องจะทำให้คุณแม่รู้สึกไม่สบายตัว แต่จริง ๆ แล้วอาการแพ้ท้องก็มีข้อดีเช่นกัน เนื่องจากทำให้รู้ว่า ร่างกายกำลังสร้างฮอร์โมนที่จำเป็นต่อการตั้งครรภ์อยู่ ซึ่งแสดงถึงพัฒนาการตั้งครรภ์ที่ดีนั่นเอง
คุณแม่แพ้ท้อง มีอาการแบบไหนบ้าง
- อาเจียนและคลื่นไส้ รู้สึกพะอืดพะอม โดยเฉพาะในช่วงเช้าหรือหลังได้รับกลิ่นบางอย่าง
- เวียนศีรษะ และหน้ามืด
- เหม็นกลิ่นต่าง ๆ เช่น กลิ่นอาหารหรือกลิ่นแรงอื่น ๆ
- ปวดศีรษะ และรู้สึกอ่อนเพลียขณะตั้งครรภ์อ่อน ๆ
- หงุดหงิดง่าย คุณแม่ท้องจะอารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ หรือที่เรียกว่าคนท้องอารมณ์แปรปรวน
- ท้องอืดและจุกแน่นลิ้นปี่ บางครั้งมีอาการเรอเหม็นเปรี้ยวร่วมด้วย
- ความอยากอาหารเปลี่ยนแปลง บางรายอาจอยากกินสิ่งที่ไม่ใช่อาหาร (เช่น ดินหรือแป้ง)
- น้ำหนักลด ในกรณีที่แพ้ท้องรุนแรงจนรับประทานอาหารไม่ได้
อาการแพ้ท้องของคุณแม่ จะเริ่มเป็นช่วงไหน
อาการแพ้ท้องมักเกิดในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ โดยทั่วไปคุณแม่มักมีอาการแพ้ท้องรุนแรงในช่วงสัปดาห์ที่ 4 ถึงสัปดาห์ที่ 6 หลังจากนั้นอาการแพ้ท้องจะค่อย ๆ ลดลงในช่วงสัปดาห์ที่ 12-14 ของการตั้งครรภ์ เมื่อฮอร์โมนการตั้งครรภ์ได้ระดับ อาการแพ้ท้องจะค่อย ๆ ลดลง และหายไปเอง อย่างไรก็ตาม คุณแม่บางคนอาจแพ้ท้องไปจนกว่าจะคลอดเลยก็มี
วิธีบรรเทาอาการแพ้ท้องสำหรับคุณแม่
อาการแพ้ท้องเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และไม่สามารถป้องกันได้ แต่คุณแม่สามารถบรรเทาอาการได้ด้วยเคล็ดลับต่าง ๆ ดังนี้
- หากรู้สึกเหม็นอาหาร ลองเปลี่ยนวิธีการรับประทานอาหาร จากที่เคยรับประทาน 3 มื้อ ให้แบ่งเป็นมื้อย่อย ๆ บ่อย ๆ หลาย ๆ มื้อแทน
- รอให้อาหารเย็นลงก่อนค่อยรับประทาน เพราะอาหารที่เพิ่งปรุงสุกใหม่ ๆ จะมีกลิ่นแรงกว่า จึงกระตุ้นอาการแพ้ท้องได้มากกว่าอาหารที่เย็นลงแล้ว
- หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น เพื่อลดอาการแพ้ท้อง สังเกตว่าอะไรเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ท้อง อาหารชนิดใด หรือสิ่งแวดล้อมแบบไหน แล้วพาตัวเองออกห่างจากสิ่งกระตุ้นเหล่านั้น
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ พยายามอย่านอนดึก หากิจกรรมที่ทำให้ผ่อนคลาย และควรดื่มน้ำสม่ำเสมอเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
- หากแพ้ท้องจนรับประทานอาหารไม่ได้ ทำให้น้ำหนักตัวลดลง และกังวลว่าจะส่งผลต่อลูกน้อยในครรภ์ คุณแม่ควรดื่มน้ำผลไม้ หรือน้ำหวาน เพื่อให้ร่างกายได้รับพลังงานจากกลูโคสเพิ่มขึ้น รวมทั้ง พยายามรับประทานอาหารให้บ่อยขึ้น
- หากแพ้ท้องอย่างหนัก ควรนอนพัก งดอาหารรสจัด เปรี้ยวจัด เผ็ดจัด แต่ไม่ควรปล่อยให้ท้องว่างเป็นอันขาด
คุณแม่แพ้ท้องรุนแรงแบบไหน ควรรีบไปพบแพทย์
คุณแม่ทราบแล้วว่า แพ้ท้องเป็นเรื่องธรรมชาติของคนท้อง ซึ่งทุกคนมีโอกาสแพ้ท้อง และอาจมีอาการแพ้ท้องแตกต่างกันไป แต่อย่างไรก็ตาม หากมีอาการต่อไปนี้ ถือว่าผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์
- ดื่มน้ำ หรือรับประทานอาหารไม่ได้เลย อาเจียนออกมาหมด
- น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว
- มีอาการอ่อนเพลียมาก มีภาวะขาดน้ำ ขาดสารอาหาร ปัสสาวะออกน้อย
- หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น
- อาเจียนวันละหลายครั้ง
หากคุณแม่มีอาการดังกล่าว จะส่งผลต่อสุขภาพของคุณแม่ และยังอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการตั้งครรภ์ที่ไม่ปกติ เช่น ครรภ์ไข่ปลาอุก หรือ ครรภ์แฝดได้ จึงควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัย
อาการแพ้ท้องที่เกิดขึ้นในช่วงไตรมาสแรกจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนตั้งครรภ์ อาจทำให้คุณแม่ไม่สบายตัว แต่ไม่ถึงกับเป็นเรื่องอันตราย เพียงคุณแม่ทำความเข้าใจ และพยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ท้อง เมื่อฮอร์โมนคงที่อาการแพ้ท้องก็จะหายไป ขอให้คุณแม่อดทน พยายามรับประทานอาหารสำหรับคนท้อง และดื่มน้ำสม่ำเสมอ รวมถึงนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ก็จะช่วยบรรเทาอาการแพ้ท้องได้ แต่หากแพ้ท้องหนักมากผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่
- Health check แบบประเมินสุขภาพของคุณแม่และพัฒนาการของลูกน้อย
- แผลผ่าคลอดอักเสบข้างใน คุณแม่เจ็บแผลผ่าตัดข้างใน อันตรายไหม
- เเจ็บแผลผ่าตัดจี๊ด ๆ ปวดแผลผ่าคลอดหลังผ่าตัดคลอด อันตรายไหม
- ผ่าคลอดเจ็บไหม ผ่าคลอดดีไหม แม่ผ่าคลอดดูแลแผลผ่าคลอดยังไงดี
- คันแผลผ่าคลอด คุณแม่ทำยังไงดี พร้อมวิธีแก้อาการคันแผลผ่าคลอด
- ผ่าคลอดกินข้าวเหนียวได้ไหม คนท้องกินข้าวเหนียวได้ไหม
- คุณแม่ปวดหลังหลังคลอด อาการปวดหลังหลังผ่าคลอด อันตรายไหม
- วิธีดูแลรอยแผลผ่าคลอดสวย ให้รอยแผลผ่าคลอดเรียบเนียน ไม่นูนแดง
- ผ่าคลอดกินไข่ได้ไหม แม่หลังผ่าคลอดกินไข่ได้ไหม ห้ามกินอะไรบ้าง
- ท่านอนหลังผ่าคลอด ท่านอนคนผ่าคลอด คุณแม่นอนแบบไหนถึงดีที่สุด
- คุณแม่ผ่าคลอดห้ามยกของหนักกี่เดือน ผ่าคลอดยกของหนักได้ตอนไหน
อ้างอิง:
- แพ้ท้อง คุณแม่ต้องพร้อมรับมือ, โรงพยาบาลกรุงเทพ
- แพ้ท้องอยู่ใช่ไหม ต้องทำอย่างไรมีคำตอบ, โรงพยาบาลเพชรเวช
- สัญญานอันตรายที่แม่ตั้งครรภ์ต้องรีบไปพบแพทย์, พบหมอรามาฯ
อ้างอิง ณ วันที่ 6 มกราคม 2567
บทความที่เกี่ยวข้อง