อยากมีลูก อยากท้อง พร้อมวิธีเตรียมความพร้อมให้มีลูกง่าย
สำหรับหลาย ๆ ท่าน การเป็นคุณพ่อคุณแม่อาจจะเป็นความฝัน หรืออาจเป็นทางเลือกในการเติมเต็มในชีวิต หากคุณผู้อ่านกำลังกังวลอยู่ว่า “ฉันอยากมีลูก แต่ยังไม่เห็นมีได้สักที” คุณผู้อ่านไม่ได้เผชิญอยู่กับสถานการณ์นี้ตามลำพังแน่นอน มีคนที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์เดียวกันอยู่แน่ ๆ บทความนี้จะเปิดประเด็น และนำเสนอความรู้ที่มีประโยชน์สำหรับผู้อ่านที่อยากมีลูกหรืออยากท้องด้วยวิธีธรรมชาติ
สรุป
- การเตรียมสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจของคุณแม่และคุณพ่อให้ดี เป็นการวางแผนตั้งครรภ์ ต่างฝ่ายเมื่อไม่เครียดจนเกินไป รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดูแลน้ำหนัก และหมั่นตรวจสอบดูแลสุขภาพ จะเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ขึ้น
- เพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ควรมีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่ไข่ตก ซึ่งการตกไข่มักเกิดประมาณวันที่ 14 ของรอบประจำเดือน การระบุวันไข่ตกสามารถทำได้โดยการติดตามรอบประจำเดือนหรือใช้ชุดทำนายช่วงไข่ตกเพื่อความแม่นยำมากขึ้น
- ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนระบุว่าท่าทางเมื่อมีเพศสัมพันธ์จะช่วยให้ตั้งครรภ์ง่ายขึ้น คู่รักควรมุ่งเน้นความสบายและดื่มด่ำในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ เพราะจะมีความเครียดน้อยลง สร้างสภาพแวดล้อมเชิงบวกหรือฝ่ายหญิงถึงจุดสุดยอด จะทำให้อสุจิเดินทางไปเจอกับไข่ได้ราบรื่นขึ้น
- หากมีภาวะมีบุตรยาก ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสม
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- การจัดการกับความเครียด
- การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- การมีเพศสัมพันธ์ไม่ถูกช่วงเวลา
- พักผ่อนน้อย
- การกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์
- น้ำหนักมากเกินไป หรือน้อยเกินไป
- ปัญหาสุขภาพ
- อยากท้อง ต้องมีเพศสัมพันธ์ช่วงไข่ตก
- อยากมีลูกง่าย ต้องมีเพศสัมพันธ์ท่าไหน
- อยากมีลูก ต้องใส่ใจกับการกินให้มากขึ้น
- วิธีเตรียมความพร้อมให้มีลูกง่ายขึ้น สำหรับคนอยากมีลูก
- อาการของผู้หญิงที่เข้าข่ายมีลูกยาก
- อาการของผู้ชายที่เข้าข่ายมีลูกยาก
เริ่มแรกเลยถ้าคุณผู้อ่านต้องการตั้งท้อง การเตรียมสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญมาก ทั้งสุขภาพกายและใจหากแข็งแรงดีก็จะเป็นปัจจัยส่งเสริมโอกาสในการตั้งครรภ์ และคุณผู้อ่านคิดเผื่อไว้ก่อนเลยว่า ถ้าตั้งครรภ์สำเร็จโดยที่เป็นคุณแม่ที่มีสุขภาพแข็งแรง ก็จะทำให้การเติบโตของสิ่งมีชีวิตน้อย ๆ ในครรภ์สมบูรณ์แข็งแรงไปด้วย ต่อไปนี้คุณผู้อ่านมาดูด้วยกันถึงวิธีการเตรียมพร้อมทั้งกายและใจ
การจัดการกับความเครียด
เครียดไม่เพียงแต่มีผลต่อสุขภาพจิตเท่านั้น แต่ยังเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สามารถทำให้การตั้งครรภ์เป็นไปได้ยากขึ้น ความเครียดสามารถส่งผลกระทบต่อระบบฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการสืบพันธุ์ ซึ่งอาจส่งผลให้ร่างกายผู้หญิงเกิดภาวะไม่สามารถตกไข่ได้ หรือทำให้ไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิแล้วเจริญเติบโตไม่สมบูรณ์ อีกทั้งยังทำให้ไข่ฝังตัวในมดลูกได้ยากขึ้นด้วย
การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
การดื่มแอลกอฮอล์มากไปและการสูบบุหรี่เป็นประจำมีผลกระทบต่อความสามารถในการตั้งครรภ์ของผู้หญิง การดื่มเหล้ามากเกินไปสามารถลดโอกาสในการตั้งครรภ์ลงไปถึง 50 เปอร์เซ็นต์ โดยทันที เนื่องจากสารพิษในแอลกอฮอล์และบุหรี่อาจทำให้ปริมาณอสุจิในร่างกายลดลง ทำให้ความแข็งแรงของอสุจิเสียไป การเคลื่อนไหวของอสุจิไม่เป็นปกติ และอสุจิมีความเสี่ยงจะมีรูปร่างผิดปกติ นอกจากนี้ การดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ยังสามารถลดการดูดซึมสารอาหารที่จำเป็นต่อความแข็งแรงของอสุจิ ซึ่งอาจส่งผลให้ความสามารถในการตั้งครรภ์ลดลงได้อีกด้วย
การมีเพศสัมพันธ์ไม่ถูกช่วงเวลา
การตกไข่เป็นกระบวนการธรรมชาติในระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิงที่เกิดขึ้นเดือนละครั้ง ปกติแล้วการตั้งครรภ์เกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อไข่ของผู้หญิงมีการปฏิสนธิในช่วงเวลาที่ไข่ตก ถ้ามีเพศสัมพันธ์ไม่ถูกช่วงก็จะลดโอกาสในการตั้งครรภ์ การนับวันตกไข่ ลองทำแบบนี้ดู
- ระบุวันแรกของรอบมีประจำเดือนเป็นวันที่ 1
- หากระยะเวลาของรอบเดือนคงที่ (เช่น 28 วัน) ให้นับจากวันแรกที่มีประจำเดือนไป 14 วัน ซึ่งช่วงวันที่ 12-14 จะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการมีเพศสัมพันธ์เพื่อเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์
พักผ่อนน้อย
เกี่ยวข้องกับความเครียดด้วย ถ้าพักผ่อนไม่เพียงพอจะทำให้เกิดภาวะเครียดและส่งผลถึงฮอร์โมนได้ ควรจะพักผ่อนให้เพียงพอ หาเวลานอนหลับให้เต็มอิ่ม ไม่เก็บเรื่องราวต่าง ๆ มาคิดจนนอนไม่หลับได้
การกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์
การบริโภคอาหารที่ไม่มีประโยชน์เป็นประจำอาจส่งผลให้ร่างกายขาดสารอาหารที่จำเป็นได้ และมีผลต่อภาวะการมีบุตรยากด้วย ดังนั้น ควรเลือกบริโภคอาหารที่หลากหลายและเหมาะสม โดยเฉพาะอาหารที่มีการรวมผักและผลไม้เข้าไปในอาหารของเราเป็นประจำ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนและสมดุล
น้ำหนักมากเกินไป หรือน้อยเกินไป
น้ำหนักของร่างกายที่มีการเปลี่ยนแปลงบ่อย ไม่ว่าจะเป็นน้ำหนักขึ้นและลง หรือน้ำหนักที่มากหรือน้อยเกินไป อาจมีผลต่อความสามารถในการตั้งครรภ์ของผู้หญิง การปรับตัวของร่างกายเพื่อเตรียมพร้อมต่อการตั้งครรภ์อาจทำให้การเจริญพันธุ์มีความยากลำบากมากขึ้น และเสี่ยงต่อการแท้งง่ายอีกด้วย มีงานศึกษาวิจัยพบว่าผู้หญิงที่มีน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐาน อาจต้องใช้เวลานานกว่าเพื่อตั้งครรภ์เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่มีน้ำหนักปกติ โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องการเตรียมพร้อมในการตั้งครรภ์ อาจใช้เวลานานถึง 4 เท่า ในทางกลับกัน ผู้หญิงที่มีน้ำหนักมากกว่าเกณฑ์อาจต้องใช้เวลานานถึง 2 เท่า จึงจะตั้งครรภ์ได้ ในผู้ชายที่มีน้ำหนักเกินค่ามาตรฐาน จำนวนอสุจิอาจลดลงถึง 22 เปอร์เซ็นต์ และความเข้มข้นลดลงถึง 24 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอาจมีผลต่อการพยายามตั้งครรภ์ของภรรยา
ปัญหาสุขภาพ
กลุ่มอาการรังไข่มีถุงน้ำหลายใบ (PCOS) ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือความผิดปกติของฮอร์โมน อาจทำให้เกิดปัญหาเรื่องการเจริญพันธุ์ได้ การระบุและแก้ไขปัญหาสุขภาพเหล่านี้ด้วยคำแนะนำของคุณหมอสามารถช่วยให้มีโอกาสมากขึ้นที่จะตั้งครรภ์
อยากท้อง ต้องมีเพศสัมพันธ์ช่วงไข่ตก
“ถ้าจะท้องต้องมีเพศสัมพันธ์ตอนไข่ตก” ข้อความนี้ไขความลับการปฏิสนธิตามธรรมชาติ การที่ไข่ตกหรือการตกไข่เป็นกระบวนการที่ไข่ที่โตเต็มที่จะถูกปล่อยออกจากรังไข่ และพร้อมที่จะปฏิสนธิด้วยอสุจิ ดังนั้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่ว่านี้
- การตกไข่มักเกิดขึ้นประมาณวันที่ 14 ของรอบประจำเดือน แต่อาจคลาดเคลื่อนกันไปบ้างระหว่างผู้หญิงแต่ละคน
- วิธีการระบุหาวันไข่ตก เช่น การติดตามรอบประจำเดือน หรือใช้ชุดทำนายช่วงไข่ตกเพื่อความแม่นยำมากขึ้น
- ไข่มีชีวิตอยู่เพียง 12-24 ชั่วโมงหลังไข่ตก ส่วนอสุจิมีชีวิตอยู่ในระบบสืบพันธุ์ได้นานถึง 2 วัน เวลามีจำกัดสำหรับไข่ การมีเพศสัมพันธ์ช่วงก่อนไข่ตกหรือระหว่างไข่ตกจะสร้างโอกาสประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์
อยากมีลูกง่าย ต้องมีเพศสัมพันธ์ท่าไหน
เรื่องลับเฉพาะบนเตียงที่ต้องตกลงกันกับคู่รักของคุณ แต่ข้อเท็จจริงในเรื่องท่าเพศสัมพันธ์กับโอกาสในการตั้งครรภ์มีปรากฏดังนี้
- ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าเพศสัมพันธ์ท่าไหนจะช่วยให้ตั้งครรภ์ได้ง่ายกว่ากัน
- อสุจิสามารถเข้าถึงปากมดลูกได้ภายในไม่กี่วินาทีหลังจากการหลั่ง โดยไม่คำนึงถึงท่วงท่าสอดใส่ขณะมีเพศสัมพันธ์ ความแข็งแรงของอสุจิสำคัญกับการเดินทางไปให้ถึงไข่ หลังการสอดใส่และการหลั่งของฝ่ายชาย เป็นธรรมชาติของอสุจิที่จะแหวกว่ายไปหาเป้าหมายอย่างสุดกำลัง
- การมีเพศสัมพันธ์ควรมุ่งเน้นไปที่การหาตำแหน่งที่สะดวกสบายและสนุกสนานสำหรับคู่รัก ความพยายามที่ปราศจากความเครียดและสนุกสนานอาจสร้างสภาพแวดล้อมเชิงบวก ร่างกายไม่เครียด มีผลดีต่อการปฏิสนธิ
- การถึงจุดสุดยอดระหว่างมีเพศสัมพันธ์อาจมีส่วนช่วยอสุจิให้เดินทางไปเจอกับไข่ได้ แต่ก็ไม่ได้เชื่อมโยงกับอัตราการปฏิสนธิที่สูงขึ้น
อยากมีลูก ต้องใส่ใจกับการกินให้มากขึ้น
- อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง ไขมันสูง และไขมันทรานส์ เช่น เนยเทียม ของทอด ขนมขบเคี้ยว เป็นต้น
- เพิ่มการรับประทาน ถั่วและธัญพืช เพื่อเพิ่มโปรตีนและธาตุเหล็ก ผักใบเขียว เพื่อเพิ่มโฟเลตและวิตามินบี นมและโยเกิร์ต เพื่อความแข็งแรงของระบบสืบพันธุ์
- อาหารที่ควรรับประทานให้น้อยลง น้ำตาลและแป้งขัดขาว เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและลดความเสี่ยงของโรคเบาหวาน ชา กาแฟ และน้ำอัดลม และควรงดการรับประทานแอลกอฮอล์และเลิกสูบบุหรี่ เนื่องจากส่งผลเสียต่อสุขภาพและลดโอกาสตั้งครรภ์ได้สำเร็จ
วิธีเตรียมความพร้อมให้มีลูกง่ายขึ้น สำหรับคนอยากมีลูก
ออกกำลังกายเป็นกิจวัตร
การออกกำลังกายเป็นประจำเข้ากับกิจวัตรประจำวัน อาจส่งผลดีต่อการเจริญพันธุ์ได้ การออกกำลังกายจะช่วยรักษาน้ำหนัก ทำให้ร่างกายแข็งแรง ควบคุมฮอร์โมน และลดความเครียดได้พร้อม ๆ กัน ควรตั้งเป้าออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อย 30 นาทีเกือบทุกวันในสัปดาห์ อาจจะเป็นกิจกรรมง่าย ๆ เช่น การเดินเร็ว ว่ายน้ำ หรือเต้นแอโรบิค เป็นต้น
ผ่อนคลาย ไม่เครียด
ระดับความเครียดที่สูงอาจรบกวนสมดุลของฮอร์โมนและส่งผลเสียต่อการเจริญพันธุ์ดังที่ได้กล่าวไปแล้วในช่วงต้น ดังนั้นควรหากิจกรรมลดความเครียดในชีวิตประจำวัน เช่น การทำสมาธิ การฝึกหายใจเข้าลึก ๆ การมีสติ หรือหาเวลาทำงานอดิเรกที่ทำให้คุณมีความสุข
ควบคุมน้ำหนัก ไม่อ้วนหรือผอมจนเกินไป
การรักษาน้ำหนักให้แข็งแรงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเจริญพันธุ์ การมีน้ำหนักน้อยเกินไปหรือมีน้ำหนักเกินอาจเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของระบบสืบพันธุ์ ดังนั้นควรปรึกษากับผู้ให้บริการด้านสุขภาพหรือนักโภชนาการเพื่อพัฒนาแผนการรับประทานอาหารที่สมดุล ช่วยสนับสนุนเป้าหมายที่จะมีน้ำหนักที่ต้องการและการตั้งครรภ์
อยู่ให้ห่างจากสารเสพติด
การใช้สารเสพติด ซึ่งรวมถึงการสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป และการใช้ยาเพื่อความบันเทิง อาจทำให้ภาวะเจริญพันธุ์ในทั้งชายและหญิงลดลงอย่างมาก การเลิกหรือลดนิสัยเหล่านี้สามารถเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้
หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันทรานส์
งดขนมขบเคี้ยวที่มีไขมันทรานส์ เพราะของเหล่านี้มีไขมันที่เป็นตัวลดความสามารถของอินซูลินในร่างกายที่มีผลกระทบต่อการตกไข่ได้
- เน้นรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
- แนะนำต่อผู้ชายอยากมีลูก: อาหารที่มีโอเมก้า 3 เช่น เนื้อปลา อาหารที่มีโฟลิก และอาหารที่มีสังกะสี
- แนะนำต่อผู้หญิงอยากมีลูก: คือ โฮลเกรน ธัญพืชขัดสีน้อย ผักผลไม้ และปลาที่มีไขมันโอเมก้า 3 ในปริมาณมาก
นอนและพักผ่อนให้เพียงพอ
การนอนหลับที่มีคุณภาพถือเป็นสิ่งสำคัญในการควบคุมฮอร์โมน การรักษารูปแบบการดำเนินชีวิตที่มีความสมดุลและการลดความเครียดสามารถมีผลบวกต่อระบบสืบพันธุ์ของคู่สามีภรรยาที่ต้องการมีลูกได้ การพักผ่อนที่เพียงพอและการลดความเครียดสามารถช่วยปรับปรุงระบบฮอร์โมนของทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย ทำให้เกิดโอกาสตั้งครรภ์และการมีบุตรมากขึ้น
อาการของผู้หญิงที่เข้าข่ายมีลูกยาก
- ประจำเดือนไม่มาตามปกติ มาไม่สม่ำเสมอ หรือหมดประจำเดือนเร็ว
- ปวดท้องน้อยตอนมีประจำเดือน
- รู้สึกไม่ดี เจ็บ ระคายเคืองขณะมีเพศสัมพันธ์
- พบเลือดออกอย่างผิดปกติในช่องคลอดหรือพบการติดเชื้อที่กระดูกเชิงกราน มีผลทำให้ท่อนำไข่ในตัวผู้หญิงอุดตัน
- เคยผ่าตัดบริเวณอุ้งเชิงกรานมาก่อน
- เคยแท้งบุตรมาก่อน
- เคยเป็นโรคทางเพศสัมพันธ์ หรือป่วยอยู่และเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ
อาการของผู้ชายที่เข้าข่ายมีลูกยาก
- น้ำเชื้ออสุจิมีปริมาณน้อย การหลั่งน้ำอสุจิมีปัญหา
- อวัยวะเพศอ่อนตัว
- เคยผ่าตัดหรือติดเชื้อที่มีผลต่อการหลั่งน้ำอสุจิ เช่น เชื้ออัณฑะอักเสบ หรือการผ่าตัดที่บริเวณถุงอัณฑะ
- เคยติดเชื้อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ และมีอาการที่อวัยวะเพศ อาจจะมีผลให้ทางเดินน้ำอสุจิแคบ หรือร่างกายมีปัญหาในการสร้างเชื้ออสุจิ
การวางแผนเพื่อตั้งครรภ์ ถ้าวางแผนดี ผู้เป็นภรรยาก็มีโอกาสตั้งท้องได้สำเร็จ โดยปัจจัยหลักคือสุขภาพร่างกายของทั้งพ่อและแม่ ควรรักษาสมดุลในการกินอาหารและการใช้ชีวิต ไม่ให้มีความเครียดเกินไป ให้เวลาพักผ่อนเพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยระวังไม่รับประทานมากเกินไปจนเกิดความอ้วนขึ้น นอกจากนี้ควรจะปรึกษาคุณหมอด้วย หากใช้วิธีธรรมชาติ นับวันไข่ตกได้ ก็ถือว่าดีไป แต่เผื่อว่าเข้าเกณฑ์มีบุตรยาก จะได้รับคำแนะนำที่มีประโยชน์จากคุณหมอต่อไป
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
- พัฒนาการทารกในครรภ์ 1-40 สัปดาห์ ที่แม่มือใหม่ห้ามพลาด
- อาการแพ้ท้องของคุณแม่ แพ้ท้องพะอืดพะอม แก้ยังไง พร้อมวิธีรับมือ
- อาการคนท้องระยะแรก สัญญาณการตั้งครรภ์เป็นแบบนี้
- เมนูคนท้อง อาหารคนท้องบำรุงคุณแม่ท้อง ดีต่อลูกในครรภ์
- คนท้องห้ามกินอะไร อาหารที่ส่งผลเสียต่อคุณแม่ตั้งครรภ์
- วิธีนับอายุครรภ์ คำนวณอายุครรภ์ด้วยตัวเอง ก่อนคลอด
- สัญญาณอาการใกล้คลอด เจ็บท้องคลอด อาการก่อนคลอดของคุณแม่
- บล็อกหลังผ่าคลอด คืออะไร เรื่องที่คุณแม่ต้องรู้ เกี่ยวกับการบล็อกหลัง
- ผ่าคลอด กี่สัปดาห์ ท้องกี่สัปดาห์คลอด ถึงปลอดภัยสำหรับลูกน้อย
- ของใช้เตรียมคลอด ที่คุณแม่มือใหม่ควรเตรียมของไปคลอด
- คุณแม่ผ่าคลอดได้กี่ครั้ง ผ่าคลอดมีลูกได้กี่คน ผ่าคลอดบ่อยอันตรายไหม
- ออกกําลังกายหลังคลอด สำหรับคุณแม่หลังผ่าคลอด
- ฤกษ์คลอด ฤกษ์ผ่าคลอด วันมงคล เวลาดี สำหรับลูกรัก
อ้างอิง:
- 10 พฤติกรรมที่ส่งผลให้มีลูกยาก อยากมีลูกเช็กด่วน!!, โรงพยาบาลพญาไท
- นับวันตกไข่ให้เป๊ะ! ช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์, โรงพยาบาลพญาไท
- 3 ด้านต้องรู้ ในการเตรียมพร้อมก่อนตั้งครรภ์, โรงพยาบาลพญาไท
- ถุงน้ำในรังไข่หลายใบคืออะไรรักษาอย่างไร, โรงพยาบาลเพชรเวช
- ฟังคำตอบจากคุณหมอ! โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ คืออะไรกันแน่นะ, โรงพยาบาลพญาไท
- Are Certain Sex Positions Better for Getting Pregnant?, What to Expect
- 9 อาหาร(เสริม) คนอยากมีลูก, โรงพยาบาลสมิติเวช
- การออกกำลังกายอย่างไร...ช่วยให้ตั้งครรภ์ ลดภาวะการมีบุตรยาก?, ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากจินตบุตร
- 5 วิธีจัดการความเครียดง่ายๆ ที่คุณเองก็ทำได้, โรงพยาบาลเปาโล
- ภาวะมีบุตรยากคืออะไร? มีสัญญาณอะไรบ้าง มีลูกยากอยากมีลูกต้องทำอย่างไร?, โรงพยาบาลบีเอ็นเอช
- อาหารแนะนำสำหรับคนอยากมีลูก, โรงพยาบาลเปาโล
- เตรียมความพร้อมก่อนมีบุตร, MedPark Hospital
- พฤติกรรมเสี่ยงมีลูกยาก! มีอะไรบ้าง?, ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากเจตนิน
- ภาวะมีบุตรยากคืออะไร? มีสัญญาณอะไรบ้าง มีลูกยากอยากมีลูกต้องทำอย่างไร?, โรงพยาบาลบีเอ็นเอช
อ้างอิง ณ วันที่ 20 มกราคม 2567
ภูมิแพ้ในเด็ก
ข้อมูลผลิตภัณฑ์
คุณแม่ให้นมบุตร
0-12 เดือน
12-24 เดือน
รวมบทความ การดูแลทารกแรกเกิด สำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่
รวมบทความการตั้งครรภ์ ตั้งแต่สัญญาณการตั้งครรภ์ ไปจนก่อนคลอด
รวมบทความ แม่ตั้งครรภ์ไตรมาส 1 พัฒนาการลูกในครรภ์ 1-3 เดือน
รวมบทความ แนะนำอาหารที่ควรทานของเด็กตามช่วงวัย
รวมบทความอาหารสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 1-3
บทความที่เกี่ยวข้อง