เชื้อราในปากทารก อันตรายไหม ดูแลทารกมีเชื้อราในปากยังไงดี

เชื้อราในปากทารก อันตรายไหม ดูแลทารกมีเชื้อราในปากยังไงดี

เชื้อราในปากทารก อันตรายไหม ดูแลทารกมีเชื้อราในปากยังไงดี

เคล็ดลับการดูแลลูก
บทความ
พ.ย. 25, 2024
5นาที

เชื้อราในปากทารก ถือเป็นโรคภายในช่องปากที่พบได้บ่อยกับกลุ่มเด็กทารก จะมีลักษณะอาการเป็นฝ้าขาว ๆ ที่บริเวณลิ้น เยื่อบุกระพุ้งแก้ม ปาก และคอ โดยอาการทั่วไปแม้ไม่ได้ส่งผลอันตรายกับทารกมากนัก แต่หากคุณแม่ปล่อยทิ้งไว้หรือละเลยไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างถูกวิธี ก็อาจส่งผลทำให้เกิดการแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของทารกได้

สรุป

  • เชื้อราในปากทารก เกิดจากการติดเชื้อราที่ชื่อว่า แคนดิดา อัลบิแคนส์ (Candida Albicans) ซึ่งเป็นเชื้อราที่พบได้ในช่องปากและลำไส้
  • เชื้อราในปากทารก เกิดได้จากการทำความสะอาดช่องปากไม่ทั่วถึง หรือเชื้อราที่ปนเปื้อนมากับหัวนมคุณแม่หรือจุกนมในระหว่างให้นมลูก รวมถึงเชื้อราตามธรรมชาติในระหว่างการคลอด
  • อาการเชื้อราในช่องปากจะสามารถหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่หากอาการยังไม่ดีขึ้น หรือมีอาการรุนแรงมากขึ้น ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อป้องกันการลุกลามไปยังอวัยวะต่าง ๆ

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

เชื้อราในปากทารก เกิดจากอะไร

เชื้อราในปากทารก เกิดจากการติดเชื้อราที่ชื่อว่า แคนดิดา อัลบิแคนส์ (Candida Albicans) มีลักษณะอาการเป็นฝ้าขาว ๆ ที่บริเวณลิ้น เยื่อบุกระพุ้งแก้ม ปาก และคอ ซึ่งเป็นเชื้อราที่พบได้ในช่องปากและลำไส้ หากร่างกายมีระบบภูมิคุ้มกันที่ดี จะทำหน้าที่ควบคุมปริมาณเชื้อราให้เกิดความสมดุลได้ แต่หากพบเชื้อราในร่างกายมากเกินไป อาจส่งผลให้มีการติดเชื้อและแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ ในร่างกาย และเกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ของทารกได้

 

สาเหตุของการเกิดเชื้อราในปากทารก

การพบเชื้อราจำนวนมากในปากทารก เกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งอาจเกิดจากปัญหาสุขภาพ หรือการสัมผัสเชื้อราโดยตรง ซึ่งมาจากสาเหตุเหล่านี้

  • ทำความสะอาดช่องปากไม่ทั่วถึง ซึ่งอาจทำให้เชื้อราในช่องปากเจริญเติบโตได้ จนเกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อราในปากเด็กทารก
  • หัวนมแม่หรือจุกนมไม่สะอาด คุณแม่ควรหมั่นรักษาความสะอาดบริเวณหัวนมแม่หรือจุกนมให้สะอาดอย่างสม่ำเสมอ พยายามให้หัวนมแห้งไม่เปียกชื้นภายหลังการให้นมทุกครั้ง
  • เอาของเล่นหรือสิ่งสกปรกเข้าปาก ควรหมั่นล้างมือลูก และทำความสะอาดสิ่งของต่าง ๆ หรือของเล่น เพื่อป้องกันเชื้อราปนเปื้อน เนื่องจากเด็กอาจใช้มือหยิบจับสิ่งของเข้าปากได้
  • เชื้อราตามธรรมชาติ เกิดขึ้นระหว่างคลอด ถือเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กทารกได้รับเชื้อราเข้าสู่ร่างกายผ่านทางช่องคลอดของคุณแม่ระหว่างคลอดได้

 

อาการที่บ่งบอกว่าเกิดเชื้อราในปากทารก

คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตอาการต่าง ๆ ของลูกน้อย เนื่องจากเชื้อราในปากทารกอาจใช้ระยะเวลาสักพักกว่าจะแสดงอาการให้เห็นอย่างชัดเจน โดยหากลูกมีอาการงอแง หงุดหงิดง่ายเวลาดูดนม อาจสังเกตอาการดังนี้ร่วมด้วย

  • เกิดคราบขาวที่ลิ้นและภายในช่องปาก บางครั้งอาจพบบริเวณเหงือก เพดานปาก กระพุ้งแก้ม และต่อมทอนซิล
  • ริมฝีปากแห้ง โดยอาจให้ลูกดื่มน้ำเพิ่มขึ้น
  • ลิ้นไม่รับรส ไม่รู้รสชาติอาหาร
  • กลืนอาหารและน้ำได้ลำบาก อาจเกิดการติดเชื้อราลุกลามลงสู่หลอดอาหาร เป็นอาการรุนแรง ทำให้กลืนยาก เหมือนมีอะไรติดขวางอยู่ที่คอ
  • ปวดแสบ ปวดร้อนในช่องปาก เนื่องจากมีแผลในช่องปาก
  • มีแผลผุพอง หรือปากแตก
  • ปากและลำคอ เกิดอาการแดง ทำให้เคี้ยวหรือกลืนอาหารลำบาก ซึ่งลูกอาจแสดงอาการหงุดหงิด ร้องงอแงขณะดูดนม

 

เชื้อราในปากทารก หายเองใน 2 สัปดาห์ได้ไหม

 

เชื้อราในปากทารก หายเองใน 2 สัปดาห์ได้ไหม

โดยทั่วไปหากพบเชื้อราในปากทารก อาการในช่องปากจะสามารถหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่หากหลังจาก 2 สัปดาห์แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรือมีอาการรุนแรงมากขึ้น มีอาการเจ็บเมื่อกลืน จนทำให้เด็กทานอาหารได้น้อยลง หรือปัสสาวะน้อยและมีสีเข้มขึ้น คุณพ่อคุณแม่ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันการลุกลามของเชื้อราไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ ในร่างกาย

 

เชื้อราในปากเด็ก เป็นอันตรายกับเด็กไหม

เด็กที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายไม่แข็งแรงพอ อาจทำให้เกิดการติดเชื้อราในปากเด็กได้ง่าย และ เกิดภาวะเสี่ยงมากมาย เช่น เด็กเล็ก หรือเด็กที่เป็นโรคหัวใจแต่กำเนิด มีประวัติเคยติดเชื้อที่เยื่อบุหัวใจ เป็นโรคลิ้นหัวใจพิการ โรคหัวใจรูมาติก เป็นต้น

 

ลักษณะเชื้อราในปากทารก ที่ควรปรึกษาแพทย์

หากสังเกตพบว่าอาการเชื้อราในปากทารกมีอาการรุนแรงมากขึ้น และไม่มีแนวโน้มจะหายได้เอง ควรรีบพาลูกน้อยไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาให้ถูกวิธี ดังนี้

1. เช็ดลิ้นให้ลูกแล้วมีเลือดออก

อาจเกิดการเป็นแผลในช่องปากอย่างรุนแรง จนเลือดออกได้ ซึ่งจะทำให้ลูกเจ็บปวดบริเวณแผล

2. มีอาการซึม ไม่ยอมกินนมหรืออาหาร

เนื่องจากเด็กจะรู้สึกกลืนลำบาก ระคายคอ ทานอาหารได้น้อยลง เมื่อเชื้อรามีการกระจายไปสู่บริเวณหลอดอาหาร

3. ดูแลอย่างถูกวิธีแล้วแต่อาการไม่ดีขึ้นเลย

เพื่อป้องกันการลุกลามจนทำให้เกิดความเสี่ยงต่อ หัวใจ ไต เส้นเลือด หรือสมอง

 

วิธีดูแลและป้องกันเชื้อราในปากทารก

การป้องกันเชื้อราในปากทารก คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นทำความสะอาดทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวลูกน้อย รวมถึงสิ่งที่ลูกน้อยสามารถนำเข้าปากได้ในกิจวัตรประจำวัน

1. ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำอุ่นทำความสะอาด

คุณแม่ควรเช็ดลิ้นและช่องปากให้ลูกหลังกินนม เพื่อป้องกันคราบน้ำนมที่อาจหลงเหลือในช่องปากทารก

2. ทำความสะอาดอุปกรณ์

เช่น หัวนม จุกนม จุกหลอก และเครื่องปั๊มนม เนื่องจากอาจมีเชื้อราปนเปื้อน และเข้าสู่ปากทารกขณะให้นมได้

3. หมั่นทำความสะอาดของเล่นทุกชิ้น

คุณแม่ควรทำความสะอาดของเล่นของลูกทุกชิ้น เพราะเด็กเล็กชอบหยิบจับสิ่งของต่าง ๆ เข้าปาก

4. ให้นมแม่ต่อเนื่อง

ลูกน้อยควรกินนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน เพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน ช่วยในการรักษาสมดุลของจุลชีพที่ดีในร่างกาย

5. ใช้ยาป้ายลิ้นฆ่าเชื้อราโดยที่สั่งโดยแพทย์

เมื่ออาการเชื้อราในปากทารกยังไม่ดีขึ้นหลังจาก 1-2 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ ในร่างกาย


การติดเชื้อราในปากทารกพบได้ทั่วไป ทั้งจากธรรมชาติที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันที่ช่วยในการรักษาสมดุลของจุลชีพที่ดีในร่างกาย หรือเชื้อราที่ได้รับผ่านช่องคลอดของคุณแม่ขณะคลอด รวมถึงเชื้อราที่ปนเปื้อนจากสิ่งของต่าง ๆ รอบตัวลูกน้อย ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงต้องหมั่นสำรวจและระมัดระวังรักษาความสะอาดตลอดเวลาสำหรับลูกน้อย รวมทั้งเสริมสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการให้นมแม่อย่างต่อเนื่อง เพราะนมแม่มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด เช่น ดีเอชเอ วิตามิน แคลเซียม และสฟิงโกไมอีลิน โดยเฉพาะจุลินทรีย์สุขภาพ บีแล็กทิส (B.lactis) หนึ่งในกลุ่มบิพีโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) และยังเป็นโพรไบโอติก ที่สามารถส่งต่อเพื่อสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อยได้เป็นอย่างดี


บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่

 


อ้างอิง:

  1. เชื้อราในปาก โรคที่พบบ่อยในเด็กทารกและผู้สูงอายุ อันตรายกว่าที่คิดหากไม่ได้รับการรักษา, CDC Dental Clinic
  2. เชื้อราในช่องปาก ปัญหาสุขภาพของเด็กที่พ่อแม่ควรรู้, Pobpad
  3. เชื้อราในช่องปาก คืออะไร เกิดจากสาเหตุใด มีวิธีรักษาอย่างไร?, รัตตินันท์ เมดิคอล เซ็นเตอร์

อ้างอิง ณ วันที่ 16 กันยายน 2567