คลอดธรรมชาติ ปลอดภัยไหม คลอดลูกแบบธรรมชาติ มีขั้นตอนยังไง
วิธีการคลอดลูก ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คุณแม่มือใหม่มีความกังวล และอาจตัดสินใจยากในการเลือกวิธีคลอดว่าจะคลอดตามธรรมชาติ หรือวิธีการผ่าคลอดดีกว่ากัน หากคุณแม่มีความกังวล ขอแนะนำให้คุณแม่ปรึกษาคุณหมอที่ฝากครรภ์ถึงแนวทางการคลอดที่คุณหมอวางแผนให้แก่คุณแม่ ซึ่งมีความปลอดภัยทั้งสำหรับคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์มากที่สุด แต่ถ้าหากคุณแม่เองมีสุขภาพแข็งแรง ลูกในครรภ์มีพัฒนาการสมบูรณ์ อยู่ในท่าทางที่เหมาะสม ก็สามารถที่จะรอการคลอดแบบธรรมชาติได้เลย เพราะผลข้างเคียงหรือภาวะแทรกซ้อนจะมีน้อยกว่า แผลสมานเร็วกว่าเนื่องจากเป็นแผลเล็ก การฟื้นตัว ลุกนั่ง หรือการให้นมลูกก็สามารถทำได้ทันทีหลังคลอดเลยด้วย
สรุป
- คุณแม่ตั้งครรภ์ ไม่ควรกังวลเกี่ยวกับวิธีคลอดเพราะก่อนถึงกำหนดคลอด แพทย์ผู้ดูแลจะมีการวางแผนการคลอดที่เหมาะสมให้กับคุณแม่ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของคุณแม่และลูกในครรภ์เป็นอันดับแรก
- คลอดแบบธรรมชาติ คุณแม่มีแผลคลอดที่มีขนาดเล็ก ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่าง ๆ และเสริมภูมิคุ้มกันให้แก่ลูกด้วยเชื้อแบคทีเรียที่ดี หรือ Probiotic ตามธรรมชาติจากบริเวณช่องคลอด
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- คลอดลูกเอง คลอดลูกธรรมชาติ หรือผ่าคลอด คุณแม่สามารถเลือกได้ไหม ?
- คลอดธรรมชาติ มีกี่แบบ
- ข้อดีของการคลอดธรรมชาติ
- คลอดธรรมชาติ ต้องบล็อกหลังไหม
- คลอดธรรมชาติ มีขั้นตอนอะไรบ้าง
- คลอดลูกเอง ใช้เวลาพักฟื้นกี่วัน
- ปัจจัยอะไรบ้าง ที่ทำให้คลอดธรรมชาติไม่ได้
- คลอดลูกโดยการผ่าคลอด มีข้อดีอะไรบ้าง
คลอดลูกเอง คลอดลูกธรรมชาติ หรือผ่าคลอด คุณแม่สามารถเลือกได้ไหม ?
คุณแม่ มือใหม่ หรือคุณแม่ที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ใน “การคลอด” มักจะสงสัยว่า ควรเลือกคลอดแบบไหนดี หรือเป็นวิธีคลอดที่เหมาะสม เรื่องนี้คุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ควรกังวลมากเกินไป เพราะก่อนถึงกำหนดคลอด แพทย์ผู้ดูแลจะมีการวางแผนการคลอดที่เหมาะสมให้กับคุณแม่ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของคุณแม่และลูกในครรภ์เป็นอันดับแรก ซึ่งโดยทั่วไปการคลอดธรรมชาติ คุณแม่จะไม่สามารถกำหนดวันหรือเวลาที่จะคลอดได้ และคุณแม่บางคนอาจจะมีอาการปวดท้องคลอดที่ยาวนานจนกว่าปากมดลูกจะเปิดกว้างพอสำหรับการคลอดลูก แต่ภายหลังคลอดแล้ว คุณแม่จะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วเพราะแผลจากการคลอดธรรมชาติเป็นเพียงแผลเล็กเท่านั้น ส่วนการผ่าคลอด เป็นวิธีที่เหมาะกับคุณแม่ที่ไม่สามารถคลอดเองได้ตามธรรมชาติ หรือมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ซึ่งการผ่าตัดคลอดจะใช้ระยะเวลาในการคลอดสั้นกว่าการคลอดธรรมชาติ และมีขนาดแผลหรือรอยแผลเป็นที่ต่างกับการคลอดธรรมชาติ แต่จะรอฟื้นตัวหลังคลอดนานกว่าคลอดธรรมชาติ เพราะแผลมีขนาดใหญ่มากกว่า
คลอดธรรมชาติ มีกี่แบบ
คลอดแบบธรรมชาติหรือ Natural birth หรือเรียกอีกอย่างว่า Active birth
การคลอดด้วยการเบ่งคลอดลูกออกทางช่องคลอด ไม่มีการผ่าตัด โดยเมื่อลูกในครรภ์อยู่ในท่ากลับหัวและอายุครรภ์ประมาณ 37-42 สัปดาห์ และลูกเคลื่อนตัวลงมาอยู่อุ้งเชิงกราน ซึ่งพร้อมสำหรับการคลอดธรรมชาติ
คลอดลูกในน้ำ
คลอดลูกในน้ำ ถือเป็นทางเลือกหนึ่งของการคลอดด้วยวิธีธรรมชาติ ซึ่งนิยมในต่างประเทศ เนื่องจากจะช่วยลดความเจ็บปวดในขณะคลอดด้วยการแช่ในน้ำอุ่น ทำให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลาย และอาจทำให้การคลอดลูกราบรื่นมากยิ่งขึ้น ซึ่งการคลอดในน้ำอาจจะมีความเสี่ยงและข้อควรระวัง จึงควรอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด รวมถึงควรเป็นสูติแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้วย โดยคุณหมอจะต้องประเมินสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์ให้มีความแข็งแรงสมบูรณ์ ไม่มีภาวะแทรกซ้อนก่อน โดยการเตรียมคลอด การคลอดวิธีนี้ จะต้องมีผู้เชี่ยวชาญในการเตรียมการให้ถูกต้องและเหมาะสม
ข้อดีของการคลอดธรรมชาติ
- แผลคลอดมีขนาดเล็ก คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ท้องแรก หรือปากมดลูกอาจไม่กว้างและยืดหยุ่นเพียงพอสำหรับการคลอดลูก คุณหมอจะช่วยในระหว่างการเบ่งคลอดโดยการกรีดฝีเย็บเพื่อช่วยในการขยายปากช่องคลอด ซึ่งจะเป็นแผลขนาดไม่ใหญ่มากนัก ประมาณ 2-4 เซนติเมตร ซึ่งขึ้นกับขนาดของทารกและสรีระของคุณแม่เองด้วย
- คุณแม่ฟื้นตัวรวดเร็ว การคลอดด้วยวิธีธรรมชาติ ทำให้เกิดแผลขนาดเล็ก จึงทำให้คุณแม่หลังคลอดส่วนใหญ่ฟื้นตัวไว สามารถลุกขึ้นนั่ง หรือเดินได้ทันทีหลังคลอด รวมถึงให้นมลูกได้ทันทีโดยไม่ได้เจ็บปวดมากนัก เนื่องจากเป็นการคลอดแบบตามธรรมชาติ เหมือนคนสมัยโบราณที่สามารถคลอดธรรมชาติและดูแลลูกได้ทันทีหลังคลอด
- ลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงได้ ในระหว่างการคลอดที่มดลูกบีบตัวและทารกเคลื่อนที่ผ่านช่องคลอด ซึ่งในกระบวนการนี้ตามธรรมชาติแล้วจะเป็นการช่วยรีดน้ำออกจากช่องอกของลูก ลดความเสี่ยงต่อภาวะการหายใจเร็วการเหนื่อยหอบได้
- เสริมภูมิคุ้มกันให้แก่ลูก การที่ลูกเคลื่อนตัวผ่านช่องคลอด พบว่า จากการศึกษาที่บริเวณช่องคลอดของคุณแม่จะมีเชื้อแบคทีเรียที่ดี หรือ Probiotics ตามธรรมชาติ ซึ่งช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้แก่ลูกน้อยทันที และมีภูมิอย่างต่อเนื่องหลังคลอด
คลอดธรรมชาติ ต้องบล็อกหลังไหม
คุณแม่อาจจะประเมินความอดทนต่อความเจ็บปวดของตนเอง หรือปรึกษาคุณหมอเพื่อร่วมกันวางแผนคลอดให้มีความปลอดภัยและคุณแม่รู้สึกมั่นใจมากที่สุดได้ คุณแม่แต่ละคนอาจพบประสบการณ์การคลอดธรรมชาติที่แตกต่างกันไป แล้วแต่ระยะเวลาในการบีบตัวของมดลูกจนถึงเวลาคลอด หรือความอดทนต่อความเจ็บปวดที่ไม่เท่ากัน รวมถึงท่าทางและขนาดของทารกในครรภ์ที่จะเป็นตัวบอกว่าการคลอดจะยากหรือง่ายมากน้อยเพียงใด ซึ่งด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน มีตัวช่วยมากมายที่จะช่วยให้คุณแม่ที่ต้องการคลอดด้วยวิธีธรรมชาติคลายความเจ็บปวดระหว่างคลอดลูกลงได้ ตามนี้ค่ะ
- การฉีดยาลดปวดเข้าหลอดเลือดดำหรือกล้ามเนื้อ
- การฉีดยาชาเข้าที่ฝีเย็บ
- การบล็อกหลัง โดยวิสัญญีแพทย์ เพื่อลดความเจ็บปวดตั้งแต่ระหว่างเจ็บท้องคลอดไปจนถึงการตัดฝีเย็บ
คลอดธรรมชาติ มีขั้นตอนอะไรบ้าง
เราจะสามารถแบ่งขั้นตอนการคลอดธรรมชาติได้เป็น 3 ช่วงขั้นตอนด้วยกัน ดังนี้
- ส่งสัญญาณเตือน การเจ็บครรภ์ก่อนคลอด จะเริ่มต้นจนถึงปากมดลูกเปิดขยายเต็มที่ ใช้เวลาประมาณ 8-12 ชั่วโมงสำหรับท้องแรก (ท้องถัดมาอาจจะเร็วขึ้น) โดยจะเริ่มเจ็บครรภ์มากขึ้นเรื่อย ๆ และถี่ขึ้นจากช่วงแรกทุก 5 นาที ซึ่งปากมดลูกเปิดขยายไม่เกิน 7 เซนติเมตร เป็นทุก ๆ 0.5-3 นาที ในช่วงปากมดลูกเปิดขยายประมาณ 8-10 เซนติเมตร ซึ่งคุณแม่อาจลดความเจ็บปวดด้วยการควบคุมลมหายใจให้ดี
- เบ่งคลอดลูก เป็นระยะที่ปากมดลูกเปิดขยายเต็มที่ พร้อมสำหรับการเบ่งคลอด ซึ่งคุณแม่จะรู้สึกถึงแรงดันช่วงล่างหรือที่เรียกว่า ลมเบ่ง และจะรู้สึกอยากเบ่งคลอดตามธรรมชาติ โดยคุณหมอจะแจ้งให้เริ่มเบ่งได้เมื่อเกิดการหดตัวของมดลูก ซึ่งแรงเบ่งของคุณแม่จะดันให้ลูกนำศีรษะเคลื่อนที่ลงอุ้งเชิงกรานและลงไปในช่องคลอดในที่สุด และร่างกายของลูกก็จะคลอดออกมาได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัยค่ะ
- คลอดรก หลังจากคลอดลูกออกมาแล้ว ร่างกายจะทำการคลอดรกและเยื่อหุ้มเซลล์ออกมาตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องเบ่งแรงเท่าคลอดลูก และคุณหมอจะตรวจเช็กว่ารกคลอดออกมาหมดหรือไม่ เพื่อป้องกันอาการเลือดออกหรือติดเชื้อ
คลอดลูกเอง ใช้เวลาพักฟื้นกี่วัน
โดยทั่วไปหากคุณแม่เลือกวิธีคลอดลูกแบบธรรมชาติ ทางโรงพยาบาลจะกำหนดให้พักฟื้นที่โรงพยาบาลจำนวน 2 คืน ซึ่งระหว่างพักฟื้น คุณหมอและพยาบาลจะคอยช่วยตรวจเช็กสุขภาพของทั้งคุณแม่และลูกน้อย ถึงภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ อาทิ เลือดออกทางช่องคลอดหลังคลอด การแข็งตัวของมดลูก ภาวะไทรอยด์ฮอร์โมน รวมถึงภาวะตัวเหลืองของลูก เป็นต้น ทั้งนี้คุณแม่ที่คลอดธรรมชาติยังสามารถให้นมลูกได้โดยทันทีหลังคลอด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นน้ำนมของคุณแม่ และแนะนำให้นำลูกมาเข้าเต้าทุก ๆ 2-3 ชั่วโมงต่อเนื่องสม่ำเสมอ ทั้งนี้มีข้อควรระวังเกี่ยวกับแผลฝีเย็บเล็กน้อย คือควรงดมีเพศสัมพันธ์หลังคลอดประมาณ 4-6 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อในโพรงมดลูก โดยควรกลับมาตรวจแผลหลังคลอดและให้คุณหมอประเมินและยืนยันอีกครั้งว่าแผลหายดีและปิดสนิทแล้ว และคุณแม่ควรงดออกกำลังกายหลังคลอดประมาณ 6 สัปดาห์ และให้เริ่มออกกำลังกายแบบเบา ๆ ไปก่อน เช่น โยคะ การเดิน เป็นต้น
ปัจจัยอะไรบ้าง ที่ทำให้คลอดธรรมชาติไม่ได้
การคลอดธรรมชาติต้องอาศัยความแข็งแรงสมบูรณ์ของคุณแม่ตั้งครรภ์ และสุขภาพของทารกในครรภ์ประกอบร่วมกัน โดยหากเมื่อมีอาการต่าง ๆ เหล่านี้ อาจส่งผลให้คุณแม่ไม่สามารถคลอดธรรมชาติตามที่คาดหวังไว้ได้
- ตรวจพบภาวะครรภ์เป็นพิษ ซึ่งอาจส่งผลอันตรายต่อชีวิตของคุณแม่และลูกในครรภ์ได้
- ภาวะรกเกาะต่ำ อาจเกิดขึ้นได้กับคุณแม่ที่เคยผ่าตัดมดลูก หรือทำการผ่าคลอดในท้องแรก หรืออาจเคยมีประวัติรกเกาะต่ำ
- ทารกในครรภ์มีขนาดโต หรือท่าทางของทารกในครรภ์ไม่เหมาะสมกับการคลอดธรรมชาติ เช่น เด็กไม่กลับหัว เป็นต้น
- คุณแม่ตั้งครรภ์มีโรคประจำตัว อาทิ โรคหัวใจ หรือโรงมะเร็งปากมดลูก ซึ่งอาจมีผลเสียและเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถคลอดลูกด้วยวิธีธรรมชาติ
คลอดลูกโดยการผ่าคลอด มีข้อดีอะไรบ้าง
- กำหนดวันเวลาในการคลอดลูกได้ โดยปกติคุณหมอจะให้คุณแม่สามารถกำหนดวันนัดคลอดลูกด้วยวิธีผ่าคลอด หลังอายุครรภ์ครบ 38 สัปดาห์ขึ้นไป เพื่อให้ลูกในครรภ์มีการเจริญเติบโตที่สมบูรณ์แข็งแรง และลดความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนในการหายใจของเด็ก ซึ่งคุณแม่สามารถกำหนดวันคลอดโดยดูฤกษ์ที่ดีได้ แต่อาจจะต้องให้คุณหมอช่วยประเมินความพร้อมที่เหมาะสมและมีความปลอดภัยมากที่สุดด้วย
- ลดความเจ็บปวดในการรอคลอด คุณแม่บางท่านอาจจะต้องรอปากมดลูกเปิดกว้างเต็มที่สำหรับการคลอดลูกด้วยวิธีธรรมชาติยาวนานหลายชั่วโมง หรืออาจจะยาวนานมากกว่า 12 ชั่วโมง ซึ่งส่งผลต่อความเจ็บปวดของคุณแม่ แต่การผ่าคลอดคุณแม่ไม่ต้องรอปากมดลูกเปิด สามารถกำหนดวันเวลาทำการผ่าคลอดได้ทันที ซึ่งการผ่าคลอดก็ใช้เวลาไม่นาน ประมาณ 45 นาทีถึง 1 ชั่วโมงเท่านั้น และคุณแม่ก็พร้อมที่จะได้พบเจอกับลูกน้อยแล้วค่ะ
- หลีกเลี่ยงความเสี่ยงการยืดหย่อนของเชิงกราน การเบ่งคลอดในระหว่างการคลอดลูกด้วยวิธีธรรมชาติ แรงเบ่งนั้นอาจส่งผลต่อการยืดของกระบังลมของเชิงกราน หรือเส้นเอ็นยึดได้ ซึ่งการผ่าคลอดคุณแม่ไม่จำเป็นต้องทำการเบ่งคลอด ทำให้ลดภาวะเสี่ยงนี้ได้
การตัดสินใจที่ดีที่สุดของคุณแม่ในการเลือกวิธีการคลอดลูก คือ ควรปรึกษาคุณหมอที่ฝากครรภ์ และให้คุณหมอช่วยประเมินสุขภาพของทั้งคุณแม่ตั้งครรภ์และลูกในครรภ์ รวมถึงศึกษาข้อดีและข้อเสียของการคลอดในแต่ละวิธี โดยเลือกแนวทางที่คุณแม่รู้สึกมั่นใจ คลายความกังวล และรู้สึกปลอดภัยมากที่สุด ซึ่งในปัจจุบันมีวิธีการคลอดมากมาย และมีเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อช่วยลดความเจ็บปวดลงได้ ทั้งการคลอดแบบธรรมชาติหรือผ่าคลอด และยังช่วยให้การคลอดราบรื่นมากยิ่งขึ้นด้วยนะคะ
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
- พัฒนาการทารกในครรภ์ 1-40 สัปดาห์ ที่แม่มือใหม่ห้ามพลาด
- อาการแพ้ท้องของคุณแม่ แพ้ท้องพะอืดพะอม แก้ยังไง พร้อมวิธีรับมือ
- อาการคนท้องระยะแรก สัญญาณการตั้งครรภ์เป็นแบบนี้
- เมนูคนท้อง อาหารคนท้องบำรุงคุณแม่ท้อง ดีต่อลูกในครรภ์
- คนท้องห้ามกินอะไร อาหารที่ส่งผลเสียต่อคุณแม่ตั้งครรภ์
- วิธีนับอายุครรภ์ คำนวณอายุครรภ์ด้วยตัวเอง ก่อนคลอด
- สัญญาณอาการใกล้คลอด เจ็บท้องคลอด อาการก่อนคลอดของคุณแม่
- บล็อกหลังผ่าคลอด คืออะไร เรื่องที่คุณแม่ต้องรู้ เกี่ยวกับการบล็อกหลัง
- ผ่าคลอด กี่สัปดาห์ ท้องกี่สัปดาห์คลอด ถึงปลอดภัยสำหรับลูกน้อย
- ของใช้เตรียมคลอด ที่คุณแม่มือใหม่ควรเตรียมของไปคลอด
- คุณแม่ผ่าคลอดได้กี่ครั้ง ผ่าคลอดมีลูกได้กี่คน ผ่าคลอดบ่อยอันตรายไหม
- ออกกําลังกายหลังคลอด สำหรับคุณแม่หลังผ่าคลอด
- ฤกษ์คลอด ฤกษ์ผ่าคลอด วันมงคล เวลาดี สำหรับลูกรัก
อ้างอิง:
- คลอดธรรมชาติ กับ ผ่าคลอด แบบไหนดีกว่ากัน, โรงพยาบาลเปาโล
- “คลอดธรรมชาติ Vs ผ่าคลอด” เลือกแบบที่ใช่! สำหรับคุณ, โรงพยาบาลพญาไท
- ข้อควรรู้เกี่ยวกับการคลอดธรรมชาติ, โรงพยาบาลสมิติเวช
- “การคลอดลูกในน้ำ” ทางเลือกหนึ่งของการคลอดวิถีธรรมชาติ, โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์
- เตรียมพร้อม... คุณแม่ใกล้คลอดแบบธรรมชาติ, โรงพยาบาลบีเอ็นเอช
- คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรู้! เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมก่อนผ่าคลอด, โรงพยาบาลพญาไท
อ้างอิง ณ วันที่ 26 มกราคม 2567