ตุ่มขาวในปากทารก คืออะไร ลูกมีตุ่มขาวในปาก ดูแลทารกยังไงดี

ตุ่มขาวในปากทารก คืออะไร ลูกมีตุ่มขาวในปาก ดูแลทารกยังไงดี

ตุ่มขาวในปากทารก คืออะไร ลูกมีตุ่มขาวในปาก ดูแลทารกยังไงดี

เคล็ดลับการดูแลลูก
บทความ
พ.ย. 28, 2024
5นาที

ตุ่มขาวในปากทารก เป็นสิ่งที่สร้างความกังวลให้กับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกน้อยแรกเกิดไม่น้อย จริง ๆ แล้ว ตุ่มขาวเหล่านี้อาจเป็นซีสต์ขนาดเล็ก ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในปากของทารก และมักจะหายไปเองภายในไม่กี่สัปดาห์ โดยไม่ต้องทำอะไรเลย ในบทความนี้ เราจะมาทำความเข้าใจถึง สาเหตุ และการดูแลเมื่อมีตุ่มขาวในปากทารก รวมถึงการสังเกตอาการผิดปกติแบบไหนที่ควรไปพบแพทย์

สรุป

  • ตุ่มขาวในปากทารก สามารถพบได้บ่อยถึง 60-85 เปอร์เซ็นต์ ของทารกแรกเกิด ลักษณะเป็นตุ่มเล็ก ๆ สีขาวคล้ายสิว หัวขาวบริเวณเพดานอ่อนและเพดานแข็งในช่องปาก ซึ่งเกิดขึ้นเองตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์ ไม่สามารถป้องกันได้
  • ตุ่มขาวในปากทารกที่พบ อาจไม่เป็นอันตราย และไม่ทำให้ลูกน้อยมีอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด โดยตุ่มขาวในปากมักจะค่อย ๆ หายไปเองตามธรรมชาติ ส่วนมากจะหายไปภายในไม่กี่สัปดาห์
  • การเสียดสีภายในปากจากการดูดนมแม่ ดูดนมขวด หรือดูดจุกหลอก อาจช่วยให้ตุ่มขาวในปากทารกหายเร็วขึ้นได้
  • ไม่ควรบีบ เจาะ หรือกวาดคอ เพื่อรักษาตุ่มขาวในปากทารก เพราะอาจทำให้เกิดแผล ติดเชื้อ และอาจเป็นอันตรายต่อลูกน้อยได้

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

ตุ่มขาวในปากทารก เกิดจากอะไร

ตุ่มขาวในปากทารก (Epstein pearls) เกิดจากการสะสมของเคราติน ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดเดียวกับที่พบในผมและเล็บของเรา ทำให้เกิดเป็นตุ่มเล็ก ๆ สีขาวคล้ายสิวหัวขาวบริเวณเพดานอ่อนและเพดานแข็งในช่องปาก ตุ่มขาวในปากทารกนั้นพบได้บ่อยมากและไม่เป็นอันตราย โดยเกิดขึ้นประมาณ 60-85 เปอร์เซ็นต์ ของทารกแรกเกิด และจะหายไปเอง โดยไม่ต้องทำการรักษาใด ๆ ทั้งสิ้น สาเหตุของการเกิดตุ่มขาวในปากทารก ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อกันว่าอาจเกิดจากการพัฒนาของฟัน ต่อมน้ำลาย หรืออาจเกิดจากการเชื่อมต่อของเนื้อเยื่อในปากในช่วงที่ทารกอยู่ในครรภ์ และพบได้บ่อยในเด็กทารกที่มีปัจจัยเหล่านี้

  1. คลอดก่อนกำหนด: ทารกคลอดก่อนกำหนด อาจมีการพัฒนายังไม่สมบูรณ์
  2. คุณแม่มีอายุมาก: อายุของแม่ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาของทารกในครรภ์
  3. น้ำหนักแรกคลอดสูง: ทารกที่มีน้ำหนักแรกคลอดสูงอาจมีความผิดปกติบางอย่างได้

 

ตุ่มขาวในปากทารก ทำให้ลูกน้อยเจ็บปากไหม

ตุ่มขาวในปากทารก อาจมีลักษณะคล้ายสิวเล็ก ๆ หรือคล้ายฟันน้ำนมที่ยังไม่ขึ้นอยู่ในช่องปากของลูกน้อย ซึ่งมีขนาดเพียงไม่กี่มิลลิเมตรเท่านั้น โดยอาจปรากฏเป็นตุ่มเดี่ยวหรือเป็นกลุ่มก็ได้ ซึ่งลักษณะเช่นนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดอาการอื่นใดที่น่ากังวล หากคุณแม่กังวลว่าตุ่มขาวในปากทารก จะทำให้ลูกเจ็บหรือไม่ ความจริงแล้ว ตุ่มขาวในปากทารกมักไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวด ไม่สบายตัว หรือรบกวนการกินนมของทารกเลย ดังนั้น คุณแม่ไม่ต้องกังวล ไม่นานตุ่มขาวก็จะยุบลงและหายไปเอง

 

ตุ่มขาวในปากทารก หายเองได้ในไม่กี่สัปดาห์

ตุ่มขาวในปากทารกเป็นเรื่องปกติที่พบได้บ่อย และมักจะหายไปเองได้ภายในเวลาไม่นาน โดยปกติตุ่มขาวเหล่านี้จะหายไปเองภายในไม่กี่ สัปดาห์หลังคลอด การให้ลูกน้อยดูดนม หรือใช้จุกหลอกเด็กจะช่วยให้ตุ่มขาวเหล่านี้ยุบตัวลงและหายไปได้เร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ตุ่มขาวในปากทารกยังคงอยู่เป็นเวลาหลายเดือนหลังคลอด ซึ่งถือเป็นกรณีที่เกิดขึ้นได้ยาก ควรไปพบแพทย์

 

จุกหลอก ช่วยให้ตุ่มขาวยุบเร็วขึ้นจริงไหม

มีข้อมูลว่า การเสียดสีจากการให้ลูกดูดนมจากอก การดูดนมจากขวด การใช้ยางกัด หรือการดูดจุกนมหลอก อาจช่วยให้ก้อนยุบและสลายได้ อย่างไรก็ตาม ไม่ควรใช้จุกหลอกในระยะยาว เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาของขากรรไกรและฟัน การให้นมแม่ ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อในหูชั้นกลางของทารก และควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการใช้ที่เหมาะสม

 

ตุ่มขาวในปากทารก จะมีอาการแบบไหน

ตุ่มขาวในปากทารก มักจะหายไปเองภายในไม่กี่สัปดาห์หลังคลอด แต่หากคุณแม่ยังคงสังเกตเห็นตุ่มหลังจากผ่านไปหลาย ๆสัปดาห์ แถมยังมีอาการอื่น ๆ เพิ่มเติมมาด้วย อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้ เช่น

1. หลายสัปดาห์หลังคลอด ตุ่มขาวยังไม่ยุบลงเลย

แม้ว่าตุ่มขาวส่วนใหญ่จะหายไปเองได้ แต่หากยังอยู่เป็นเวลานาน อาจมีสาเหตุอื่นที่ซ่อนอยู่ เช่น การติดเชื้อ หรือปัญหาทางช่องปากอื่น ๆ

2. ลูกมีอาการเจ็บหรือปวด

อาการเจ็บปวดบ่งบอกว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นภายในช่องปากของลูกน้อย อาจเป็นการติดเชื้อ หรือมีแผลที่รุนแรงกว่าตุ่มขาวธรรมดา

3. มีอาการซึม ไม่ยอมกินนม

ลูกไม่ยอมกินนม อาจบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่ร้ายแรงกว่า เช่น การติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร หรืออาการป่วยอื่น ๆ

4. มีตุ่มขาวขึ้นเยอะกว่าเดิม

การที่ตุ่มขาวเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ หรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่ร้ายแรง

 

วิธีดูแลลูกน้อย เมื่อเกิดตุ่มขาวในปากทารก

 

วิธีดูแลลูกน้อย เมื่อเกิดตุ่มขาวในปากทารก

ตุ่มขาวในปากทารก ส่วนใหญ่จะหายไปเองตามธรรมชาติ คุณแม่ไม่จำเป็นต้องพยายามเร่งให้หายเร็วขึ้น เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาได้ สิ่งที่คุณแม่สามารถทำได้เพื่อดูแลลูกน้อยมีดังนี้

1. ใช้ผ้าก๊อซชุบน้ำช่วยทำความสะอาดช่องปากให้ลูก

หลังจากให้นมลูกเสร็จ ให้ใช้ผ้าก๊อซชุบน้ำอุ่นเช็ดทำความสะอาดเหงือก กระพุ้งแก้ม และลิ้นของลูกเบา ๆ เพื่อรักษาความสะอาดในช่องปาก

2. อย่าบีบหรือเจาะตุ่มขาวเด็ดขาด

การพยายามเอาตุ่มออกด้วยตัวเอง โดยการบีบหรือเจาะตุ่มอาจทำให้เกิดแผล ติดเชื้อ และอาจเป็นอันตรายต่อลูกน้อยได้

3. อย่ากวาดคอให้ลูก

การกวาดคอลูกน้อยตามความเชื่อโบราณ อาจทำให้เกิดการระคายเคืองและเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้

 

คุณแม่ได้ทราบแล้วว่า ตุ่มขาวในปากทารกนั้นไม่เจ็บปวด และไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์ใด ๆ สามารถปล่อยไว้ได้ ตุ่มจะสลายไปเองตามธรรมชาติและหายไปในที่สุด แต่ถ้าตุ่มขาวในปากไม่หายไป และลูกน้อยมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยตามที่กล่าวไปข้างต้น ถือว่าไม่ปกติ ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย และรับการรักษาอย่างทันท่วงที

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่

 


อ้างอิง:

  1. Epstein pearls: Treatment, causes, and symptoms, MedicalNewsToday
  2. What Are Epstein Pearls?, WebMD
  3. What Parents Should Know About Epstein Pearls in Babies, Parents
  4. Epstein pearls, Babycenter
  5. Epstein Pearls, Healthline
  6. เคล็ดไม่ลับ..กับการดูแลช่องปากและฟันให้ลูกน้อย, โรงพยาบาลบางปะกอก 3
  7. จุกหลอก ดีต่อลูกน้อยหรือไม่, Pobpad
  8. ภาวะปกติ ที่พบบ่อยในทารกแรกเกิด, โรงพยาบาลศิครินทร์

อ้างอิง ณ วันที่ 22 กันยายน 2567