น้ำคาวปลา คืออะไร พร้อมวิธีดูแลตัวเอง ขับน้ำคาวปลาหลังคลอด
น้ำคาวปลา คือของเหลวที่ขับออกมาทางช่องคลอดหลังจากคลอดลูก เป็นสิ่งที่คุณแม่ทุกคนต้องเจอหลังคลอด และเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่จะค่อย ๆ หมดไปเอง ประมาณ 4-6 สัปดาห์หลังคลอด สำหรับคุณแม่ที่กำลังใกล้คลอด หรือคลอดลูกแล้ว และกำลังอยู่ในช่วงขับน้ำคาวปลา วันนี้มีสาระความรู้ พร้อมคำแนะนำมาฝากคุณแม่มือใหม่ทุกท่านกันค่ะ
สรุป
- น้ำคาวปลา คือของเหลวที่ขับออกมาทางช่องคลอดหลังจากคลอดลูก และจะค่อย ๆ หมดไปเองตามธรรมชาติ ประมาณ 4-6 สัปดาห์หลังคลอด
- น้ำคาวปลา มีลักษณะคล้ายประจำเดือน อาจมีกลิ่นเหม็นอับ และมีสีที่แตกต่างกันไปตามระยะเวลา
- น้ำคาวปลาจะขับออกหมดเองตามธรรมชาติ
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- น้ำคาวปลา คืออะไร เกิดขึ้นจากอะไร
- ลักษณะและสีของน้ำคาวปลา ในแต่ละช่วง
- คุณแม่ที่ผ่าคลอด จะมีน้ำคาวปลาออกมาไหม
- น้ำคาวปลาหลังคลอด ควรหมดไปเองตอนไหน
- คุณแม่มีน้ำคาวปลาหลังคลอด ควรรับมือแบบไหน
- ทำความสะอาดแผลฝีเย็บอย่างถูกวิธี
- น้ำคาวปลาแบบไหนผิดปกติ บ่งบอกถึงการติดเชื้อ
- อยากลองกินยาขับน้ำคาวปลา จะเป็นอันตรายไหม
- การเคลื่อนไหวร่างกายบ่อย ๆ ก็ช่วยขับน้ำคาวปลาได้
คุณแม่หลายคนอาจกำลังสงสัยว่า หลังจากคลอดเสร็จแล้ว น้ำคาวปลาจะหมดไปเมื่อไหร่ และเราควรดูแลตัวเองอย่างไร เพื่อให้น้ำคาวปลาหมดโดยเร็ว มาหาคำตอบไปพร้อมกันได้เลยค่ะ
น้ำคาวปลา คืออะไร เกิดขึ้นจากอะไร
น้ำคาวปลา คือของเหลวที่ถูกขับออกมาทางช่องคลอดหลังคลอด เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มีลักษณะคล้ายกับประจำเดือน และอาจมีกลิ่นเหม็นอับ จึงเป็นที่มาของชื่อ “น้ำคาวปลา” โดยปริมาณและสีของน้ำคาวปลาที่ถูกขับออกมา แตกต่างกันออกไปตามปัจจัยต่าง ๆ เช่น วิธีการคลอดลูก ระยะเวลาหลังคลอด เป็นต้น
ลักษณะและสีของน้ำคาวปลา ในแต่ละช่วง
สีและลักษณะของน้ำคาวปลาในแต่ละช่วงเวลาหลังคลอดนั้นมีความแตกต่างกัน ดังนี้
- 1-3 วันหลังคลอด น้ำคาวปลาจะมีสีแดงเข้ม มีลักษณะเป็นลิ่มเลือดขนาดใหญ่ไม่เกินผลลูกพลัม เนื่องจากเป็นเซลล์ที่หลุดลอกออกมาจากโพรงมดลูก ส่วนประกอบส่วนใหญ่จึงเป็นเม็ดเลือด
- 4-10 วันหลังคลอด น้ำคาวปลาจะมีสีชมพูหรือน้ำตาล เริ่มเหลวมากขึ้น เพราะมีปริมาณเม็ดเลือดน้อยลง
- 7-14 วันหลังคลอด น้ำคาวปลาจะมีสีเหลือง เป็นเมือกเหลวคล้ายครีม และจะเริ่มใสขึ้นเรื่อย ๆ จนหมดไปในที่สุด
คุณแม่ที่คลอดธรรมชาติมักจะมีน้ำคาวปลามากกว่าคุณแม่ที่ผ่าคลอด หากผ่านมาหลายวันแล้วคุณแม่ยังมีน้ำคาวปลาที่มีสีแดงสด สีเขียว หรือมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ อาจบ่งบอกถึงการติดเชื้อหรืออาการอักเสบ จึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที
คุณแม่ที่ผ่าคลอด จะมีน้ำคาวปลาออกมาไหม
ไม่ว่าจะคลอดด้วยวิธีธรรมชาติหรือการผ่าคลอด คุณแม่หลังคลอดจะมีน้ำคาวปลาออกมาเองตามธรรมชาติ โดยพบว่าในช่วง 24 ชั่วโมงหลังคลอด คุณแม่ที่คลอดด้วยวิธีธรรมชาติมักจะมีน้ำคาวปลามากกว่าคุณแม่ที่ผ่าคลอด โดยในวันแรก ๆ หลังคลอด น้ำคาวปลาจะยังมีสีแดงสดเหมือนสีเลือด ก่อนที่สีจะค่อย ๆ อ่อนลง จนหมดไปในที่สุด
น้ำคาวปลาหลังคลอด ควรหมดไปเองตอนไหน
น้ำคาวปลามักจะค่อย ๆ ลดลงหลังจากคลอด 2-3 สัปดาห์ และมักจะหมดไปเองตามธรรมชาติหลังคลอด 4-6 สัปดาห์ หากพบว่าน้ำคาวปลายังคงถูกขับออกมานานเกินไป หรือสีของน้ำคาวปลายังคงมีสีแดงสด ไม่อ่อนหรือจางลง รวมไปถึงมีอาการผิดปกติอย่างเช่น รู้สึกปวดบริเวณท้องน้อย คุณแม่ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาให้ทันท่วงที
คุณแม่มีน้ำคาวปลาหลังคลอด ควรรับมือแบบไหน
1. ใช้ผ้าอนามัยสำหรับคุณแม่หลังคลอด
ที่โรงพยาบาลมักจะมีผ้าอนามัยขนาดใหญ่พิเศษสำหรับคุณแม่หลังคลอดโดยเฉพาะ เพื่อใช้ซับน้ำคาวปลาที่ถูกขับออกมาทางช่องคลอด โดยในช่วง 6 สัปดาห์หลังคลอด คุณแม่ไม่ควรใช้ผ้าอนามัยแบบถ้วยหรือแบบสอด เนื่องจากช่องคลอดและมดลูกยังไม่หายเป็นปกติ การใช้ผ้าอนามัยลักษณะนี้อาจทำให้เสี่ยงติดเชื้อได้
2. เปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อย ๆ
คุณแม่ควรเตรียมผ้าอนามัยเอาไว้ล่วงหน้า เผื่อสำหรับใช้ในช่วงเวลาที่ร่างกายขับน้ำคาวปลา โดยเฉพาะผ้าอนามัยสำหรับผู้หญิงหลังคลอดจะมีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ เหมาะสำหรับการซึมซับของเหลวปริมาณมาก โดยควรรักษาความสะอาดด้วยการล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง ทั้งก่อนและหลังเปลี่ยนผ้าอนามัย
3. รักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศ
คุณแม่ควรอาบน้ำวันละ 1-2 ครั้ง และรักษาความสะอาดมากเป็นพิเศษ เนื่องจากในช่วงเวลาหลังคลอด ช่องคลอด ปากมดลูกยังไม่หายเป็นปกติ จึงมีโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อสูงกว่าปกติ หลีกเลี่ยงการแช่น้ำในอ่าง เนื่องจากหลังคลอดปากมดลูกจะเปิดเพื่อขับน้ำคาวปลาออกจากร่างกาย การแช่น้ำในอ่างอาจทำให้มีเชื้อโรคเข้าไปภายในโพรงมดลูกได้
ทำความสะอาดแผลฝีเย็บอย่างถูกวิธี
คุณแม่ควรหมั่นทำความสะอาดแผลฝีเย็บ และบริเวณรอบแผลให้สะอาดอยู่เสมอ เช็ดทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาด หรือน้ำต้มสุกที่ทิ้งไว้จนเย็น ทุกครั้งหลังจากปัสสาวะและอุจจาระ โดยเช็ดจากด้านหน้าไปยังด้านหลัง หรือเช็ดจากช่องคลอดไปยังทวารหนักด้านหลัง ส่วนแผลผ่าคลอด ควรไปล้างแผลตามที่แพทย์นัด และใช้แผ่นกันน้ำปิดแผลเอาไว้ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
น้ำคาวปลาแบบไหนผิดปกติ บ่งบอกถึงการติดเชื้อ
น้ำคาวปลาตามปกติจะมีสีแดงสดในช่วง 1-3 วันหลังคลอด ก่อนที่สีจะค่อย ๆ อ่อนลง จนหมดไปในที่สุด หากน้ำคาวปลามีสีแดงสดอยู่ตลอด สีไม่อ่อนลงเลย น้ำคาวปลาขับออกมาปริมาณมากจนต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยใหม่ทุกชั่วโมง มีน้ำคาวปลาถูกขับออกมานานกว่า 6 สัปดาห์ น้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็นรุนแรง มีลิ่มเลือดขนาดใหญ่กว่าลูกกอล์ฟออกมาพร้อมน้ำคาวปลาเป็นระยะเวลานานหลายชั่วโมง รู้สึกเป็นไข้ รู้สึกปวดบริเวณท้องน้อยหรือท้องส่วนล่าง รู้สึกวิงเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม อาการเหล่านี้อาจบ่งบอกถึงภาวะแทรกซ้อน ติดเชื้อ หรือตกเลือดได้ หากพบอาการผิดปกติ คุณแม่ควรรีบพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาทันที
อยากลองกินยาขับน้ำคาวปลา จะเป็นอันตรายไหม
น้ำคาวปลาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หลังคลอดมดลูกจะบีบรัดตัวเพื่อขับเยื่อบุที่ปกคลุมบริเวณโพรงมดลูกออกมาทางช่องคลอด ร่างกายของคุณแม่จะขับน้ำคาวปลาออกมาจนหมดไปเองภายใน 4-6 สัปดาห์ โดยไม่จำเป็นต้องรับประทานยาเพื่อเร่งการขับน้ำคาวปลา สำหรับคุณแม่ที่ผ่าคลอด แพทย์จะเช็ดทำความสะอาดมดลูก นำชิ้นส่วนของรกออก ไม่ให้เหลือตกค้าง จึงทำให้คุณแม่ที่ผ่าคลอดหลงเหลือน้ำคาวปลาขับออกมาไม่มากเท่ากับคุณแม่ที่คลอดเองตามธรรมชาติ ทั้งนี้การใช้ยาทุกชนิด ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา
คุณแม่จึงไม่ควรซื้อยาขับน้ำคาวปลามารับประทานเอง เนื่องจากยาแต่ละยี่ห้อมีส่วนผสมที่แตกต่างกัน ออกฤทธิ์ต่างกัน อาจไม่เหมาะกับคุณแม่แต่ละคน และคุณแม่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยาเพื่อช่วยในการขับน้ำคาวปลา หากคุณแม่ต้องการให้น้ำคาวปลาหมดเร็วขึ้น สามารถทำได้โดยการหมั่นเคลื่อนไหวร่างกายเป็นประจำเพื่อช่วยให้ร่างกายเกิดการเคลื่อนไหว น้ำคาวปลาจะได้ไหลออกมาได้สะดวกยิ่งขึ้น
การเคลื่อนไหวร่างกายบ่อย ๆ ก็ช่วยขับน้ำคาวปลาได้
หากคุณแม่ต้องการขับน้ำคาวปลาให้เร็วขึ้น การเคลื่อนไหว ขยับร่างกาย เดินไปมา จะช่วยทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น เลือดมาเลี้ยงบริเวณแผล ทำให้แผลติดดีขึ้น เมื่อเม็ดเลือดขาวสามารถไหลเวียนมาที่แผลได้ดี ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้แผลติดเชื้อ ช่วยให้น้ำคาวปลาไหลได้สะดวกยิ่งขึ้น ช่วยให้ระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย เช่น ระบบทางเดินปัสสาวะ ระบบทางเดินอาหาร ฟื้นฟูกลับสู่ภาวะปกติได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น
โดยเฉพาะคุณแม่ที่คลอดด้วยวิธีธรรมชาติ ควรขยับร่างกายหลังคลอดภายใน 24 ชั่วโมง รวมไปถึงการทำท่านอนคว่ำก้นสูง โดยการนอนคว่ำ ใช้หมอนรองบริเวณใต้ท้องน้อย ต่ำกว่าระดับสะดือ ประมาณวันละ 30 นาที เพื่อช่วยให้มดลูกกลับเข้าอู่ได้เร็วขึ้น ลดโอกาสในการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ขับน้ำคาวปลาได้เพิ่มมากขึ้น ดูแลสุขภาพร่างกายของคุณแม่ให้มีความแข็งแรง โดยการออกกำลังกายที่เหมาะสำหรับคุณแม่หลังคลอด คือการออกกำลังกายที่เน้นกระชับกล้ามเนื้อหน้าท้อง และกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน แต่ต้องแน่ใจว่าคุณแม่ไม่มีอาการอ่อนเพลีย ซีด หรือจะเป็นลม ควรมีคนช่วยเหลือดูแลอย่างใกล้ชิดในระยะแรก รวมทั้งควรออกกำลังกายตามคำแนะนำของแพทย์
น้ำคาวปลาเป็นสิ่งที่ร่างกายของเราผลิตขึ้นและขับออกมาเองหลังคลอด ก่อนที่จะค่อย ๆ หมดไปเองตามธรรมชาติ คุณแม่จึงไม่ต้องกังวล และไม่ต้องขวนขวายหาวิธีเร่งการขับน้ำคาวปลา เพราะร่างกายของเรามีกลไกในการขับน้ำคาวปลาที่มีประสิทธิภาพอยู่แล้ว เพียงแค่ดูแลรักษาความสะอาด และหมั่นสังเกตดูการเปลี่ยนแปลงและอาการของตนเองอยู่เสมอ เพียงเท่านี้คุณแม่ก็สามารถมีสุขภาพหลังคลอดที่แข็งแรงสมบูรณ์ พร้อมกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ หรือพร้อมที่จะวางแผนการมีลูกในอนาคตได้แล้วค่ะ
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
- พัฒนาการทารกในครรภ์ 1-40 สัปดาห์ ที่แม่มือใหม่ห้ามพลาด
- อาการแพ้ท้องของคุณแม่ แพ้ท้องพะอืดพะอม แก้ยังไง พร้อมวิธีรับมือ
- น้ำคร่ำ คืออะไร น้ำคร่ำรั่ว อาการแบบไหน สัญญาณใกล้คลอดที่ต้องรับมือ
- อาการท้องแข็งบ่อย ลูกโก่งตัวบ่อย อันตรายหรือไม่ ทำไมคุณแม่ต้องรู้
- เลือดล้างหน้าเด็กสีอะไร เลือดล้างหน้าเด็กสัญญาณแรกของการตั้งครรภ์
- ตั้งครรภ์ มีเลือดออก ไม่ปวดท้อง คืออะไร อันตรายไหม สำหรับแม่ตั้งครรภ์
- อาการคนท้องระยะแรก สัญญาณการตั้งครรภ์เป็นแบบนี้
- เมนูคนท้อง อาหารคนท้องบำรุงคุณแม่ท้อง ดีต่อลูกในครรภ์
- คนท้องห้ามกินอะไร อาหารที่ส่งผลเสียต่อคุณแม่ตั้งครรภ์
- อาหารคนท้องไตรมาสแรก โภชนาการที่สำคัญสำหรับคุณแม่และทารกในครรภ์
- วิธีนับอายุครรภ์ คำนวณอายุครรภ์ด้วยตัวเอง ก่อนคลอด
- สัญญาณอาการใกล้คลอด เจ็บท้องคลอด อาการก่อนคลอดของคุณแม่
- ของใช้เตรียมคลอด ที่คุณแม่มือใหม่ควรเตรียมของไปคลอด
- การผ่าคลอดและคลอดธรรมชาติ ต่างกันยังไง พร้อมขั้นตอนเตรียมผ่าคลอด
- ผ่าคลอดใช้เวลากี่นาที พร้อมข้อดี-ข้อเสีย คลอดเองกับผ่าคลอด
- แผลผ่าคลอดกี่วันหาย พร้อมวิธีดูแลรอยแผลผ่าคลอดให้ฟื้นตัวไว
- แผลฝีเย็บหลังคลอด แผลคลอดธรรมชาติ ดูแลยังไงให้ปลอดภัย
- หลังผ่าคลอดกินอะไรได้บ้าง คนผ่าคลอดห้ามกินอะไรบ้างช่วยให้แผลหายเร็ว
- ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเกิดจากอะไร พร้อมวิธีรับมืออาการซึมเศร้าหลังคลอด
- ฤกษ์คลอด ฤกษ์ผ่าคลอด วันมงคล เวลาดี สำหรับลูกรัก
อ้างอิง:
- น้ำคาวปลา ของเหลวหลังคลอดลูก, PobPad
- 13 คำถามยอดฮิตสำหรับคุณแม่หลังคลอด, โรงพยาบาลบางปะกอก
- 10 ความเชื่อ...จริง และ ไม่จริง กับคุณแม่หลังคลอด, โรงพยาบาลขอนแก่นราม
- ยาขับน้ำคาวปลา ควรกินไหม, Pobpad
- การดูแลหลังคลอด แบบผ่าตัดทางหน้าท้อง, โรงพยาบาลสมิติเวช
- กายภาพหลังการคลอดปกติ, โรงพยาบาลเอกชัย
- การดูแลสตรีระยะหลังคลอด (puerperium care), คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อ้างอิง ณ วันที่ 30 มกราคม 2567
บทความที่เกี่ยวข้อง