วิธีป้อนยาเด็กกินยายาก พร้อมวิธีการตวงยาที่ถูกต้อง

วิธีป้อนยาเด็กกินยายาก พร้อมวิธีการตวงยาที่ถูกต้อง

คู่มือคุณแม่มือใหม่
บทความ
มี.ค. 24, 2025
7นาที

การป้อนยาน้ำให้ลูกอย่างถูกวิธี คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้ปริมาณให้ชัดเจน ซึ่งอาจจะสงสัยว่า 1 ช้อนชาเท่ากับกี่ ml หรือ 1 ช้อนชาเท่ากับกี่ ซีซี รวมถึงอุปกรณ์ตวงยาน้ำมีอะไรบ้าง เพื่อให้ลูกได้รับปริมาณยาที่ถูกต้อง ไม่มากเกินไปจนเกิดอันตราย และไม่น้อยเกินกว่าที่การรักษาจะไม่เห็นผล จึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อขอเทคนิคการป้อนยา เพื่อให้ลูกทานยาง่ายขึ้น

วิธีป้อนยาเด็กกินยายาก พร้อมวิธีการตวงยาที่ถูกต้อง

สรุป

  • อุปกรณ์ป้อนยาเด็กมีอยู่หลายชนิด ได้แก่ ช้อนชา ช้อนโต๊ะ ถ้วยตวงยา ไซริงค์พลาสติก หลอดหยดยา
  • ควรใช้อุปกรณ์ตวงยาที่ได้มาตรฐานจากสถานพยาบาลหรือแถมมาพร้อมกับขวดยาเท่านั้น ไม่ควรใช้ช้อนกินข้าว หรือช้อนชงกาแฟในการตวงยาน้ำ
  • หากต้องป้อนยาลูก 1 ช้อนชาเท่ากับ 5 ml หรือ 5 ซีซี ส่วน 1 ช้อนโต๊ะเท่ากับ 15 ml หรือ 15 ซีซี

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

ป้อนยาน้ำให้ลูก แม่ต้องรู้ 1 ช้อนชาเท่ากับกี่ ml

เมื่อต้องป้อนยาน้ำให้กับเจ้าตัวน้อย คุณพ่อคุณแม่ควรตวงยาให้ถูกต้อง เพื่อคำนวณปริมาณยาที่เข้าสู่ร่างกายให้เหมาะสม การตวงยาจึงควรใช้ช้อนยาที่มาพร้อมกับขวดยา โดย 1 ช้อนชา จะมีปริมาณยา 5 ml หรือ 1 ช้อนโต๊ะ ปริมาณจะอยู่ที่ 15 ml

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่สงสัยว่า 1 ช้อนชาเท่ากับกี่ ซีซี หรือเทียบเท่ากับกี่ ml จริง ๆ แล้ว หน่วยทั้ง 2 แบบมีปริมาตรเท่ากัน สามารถนำไปใช้แทนกันได้ โดยมิลลิลิตร (Milliliter: ml) มักใช้เป็นหน่วยวัดปริมาตรของเหลว ส่วนซีซี (Cubic Centimeter: cc) คือ ลูกบาศก์เซนติเมตร ดังนั้น 1 ช้อนชา จะมีค่าเท่ากับ 5 ซีซี และ 1 ช้อนโต๊ะ จะเท่ากับ 15 ซีซี

 

ทำไมต้องใช้ช้อนชาป้อนยาเด็ก

การใช้ช้อนชาตวงยาน้ำให้ลูกควรใช้ช้อนชาที่ได้มาตรฐาน ควรใช้ช้อนชาที่ติดมากับขวดยา หรือใช้ช้อนชาจากโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล เพื่อให้สามารถตวงยาได้ในปริมาณที่ถูกต้องตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร เพราะปริมาณยาที่ไม่เหมาะสมเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะส่งผลได้ โดยเฉพาะการได้รับยาเกินขนาด ที่อาจเป็นอันตรายต่อลูกได้ หรือหากได้ยาที่น้อยเกินไปกว่าที่ควรจะได้รับ จะส่งผลให้การรักษาไม่เป็นผล โดยใช้ช้อนชาตวงยาน้ำให้ได้ปริมาณที่แน่นอน เช่น คำแนะนำให้เด็กกินยาน้ำ 1 ช้อนชา คุณแม่ควรตวงยาน้ำให้เต็มขอบบนของช้อนชา หากต้องตวงยาน้ำที่ครึ่งช้อนชา ให้สังเกตปริมาตรยาแค่ขีดกลางของช้อนชา ซึ่งเท่ากับ 2.5 มิลลิลิตร หรือ 2.5 ซีซี

 

คุณแม่ใช้ช้อนกินข้าว ช้อนกาแฟ ป้อนยาน้ำเด็กได้ไหม

การใช้ช้อนชาที่ได้มาตรฐานจากสถานพยาบาลจะช่วยให้ตวงยาได้ตรงตามปริมาตรที่แนะนำ ทำให้การรักษานั้นเห็นผล จึงไม่แนะนำให้ใช้ช้อนชาจากครัวเรือน ไม่ว่าจะเป็นช้อนกินข้าว หรือช้อนกาแฟ ก็ไม่ควรใช้ในการป้อนยาน้ำให้ลูก

 

อุปกรณ์ป้อนยาเด็กชนิดอื่น ๆ

อุปกรณ์ตวงยาน้ำ มีอยู่หลายประเภทเพื่อให้ใช้งานตามความเหมาะสม ได้แก่

  • ช้อนโต๊ะ: ปริมาตรของ 1 ช้อนโต๊ะ คือ 15 ml หรือ 15 ซีซี โดยตวงยาให้เต็มขอบบนของช้อนโต๊ะพอดี หากไม่มีช้อนโต๊ะมาตรฐาน สามารถใช้ถ้วยตวงให้ถึงขีด 15 ml แต่ไม่ควรใช้ช้อนกินข้าวมาตวงยาน้ำ อาจเกิดความผิดพลาดตวงเกินปริมาณที่แนะนำได้
  • ถ้วยตวงยา: หากใช้ถ้วยตวงยา สามารถสังเกตขีดปริมาตรที่ข้างถ้วยได้ ซึ่งถ้วยตวงยาจะมีอยู่หลายชนิด ทั้งการบอกหน่วย ml หรือมิลลิลิตร แต่ถ้วยตวงยาบางชนิดจะบอกเป็นหน่วยช้อนชาและช้อนโต๊ะ
  • ไซริงค์พลาสติก: Syringe สามารถใช้ตวงยาและป้อนยาเด็กได้เช่นกัน ลักษณะคล้ายเข็มฉีดยา แต่เป็นกระบอกฉีดยาพลาสติกที่ไม่มีเข็ม มักจะมีอยู่ 3 ขนาด ได้แก่ ปริมาตร 3 ml, 5 ml และ 10 ml
  • หลอดหยดยา: หลอดหยดมักใช้สำหรับตวงยาในปริมาณน้อย เพราะส่วนใหญ่ปริมาตรจะอยู่ประมาณ 1 ml

 

วิธีป้อนยาเด็กที่ถูกต้อง

การป้อนยาเด็กที่ถูกต้อง ต้องเลือกใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน เพื่อให้การตวงยานั้นตรงตามปริมาณที่แนะนำ โดยวิธีป้อนยาเด็กที่ถูกต้อง มีดังนี้

1. เลือกใช้อุปกรณ์ป้อนยาเด็กตามวัย

เด็กเล็กหรือทารกที่อายุต่ำกว่า 1 ปี อาจใช้ไซริงค์พลาสติก จะช่วยให้การป้อนยาง่ายกว่า โดยสามารถเทียบปริมาตรได้ เช่น 1 ช้อนชา เท่ากับ 5 ml หรือ 5 ซีซี สำหรับการให้ยา ควรค่อย ๆ กดกระบอกพลาสติกลงระหว่างฟันหรือเหงือก ให้ยาน้ำไหลลงไปที่โคนลิ้นหรือกระพุ้งแก้ม แต่ไม่ควรกดให้ยาน้ำลงคอโดยตรง เพราะเด็กอาจสำลักและอาจกลัวการกินยา

2. ไม่ควรผสมยาในขวดนม

ในเด็กเล็กมักจะป้อนยาได้ยาก แต่ไม่ควรผสมยาลงไปพร้อมกับนมแล้วป้อน เพราะแคลเซียมในนมอาจจับกับยา ส่งผลให้ยาไม่ออกฤทธิ์ นอกจากนี้ หากเด็กกินนมไม่หมดยังทำให้ไม่ได้รับยาในปริมาณที่เหมาะสมอีกด้วย

3. ควรป้อนยาทีละชนิด

หากได้รับยามาหลายชนิด ไม่ควรผสมยาแล้วป้อนในทีเดียว เพราะการผสมยาเข้าด้วยกัน อาจทำให้สีและกลิ่นเพี้ยนจนเด็กไม่ยอมกินยาได้ รวมถึงคุณสมบัติของตัวยาอาจเปลี่ยนไป ทำให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างยาทำให้ยามีฤทธิ์เพิ่มขึ้นหรือลดลง ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการรักษา และอาจเกิดอันตรายได้

4. ลูกอาเจียนทันทีให้กินยาซ้ำ

หากป้อนยาแล้วลูกอาเจียนในทันที อาจเพราะร้องไห้แล้วเกิดสำลักนั้นสามารถให้ยาซ้ำได้ แต่ถ้าให้ยาแล้วผ่านเวลาไปสักพักลูกค่อยอาเจียน ก็ไม่ควรให้ยาซ้ำอีก

 

เด็กกินยายาก ป้อนอย่างไรให้ได้ผล

การให้เด็กกินยานั้นอาจไม่ใช่เรื่องง่าย หากคุณพ่อคุณแม่ต้องเจอกับปัญหาลูกกินยายาก ลองทำตามคำแนะนำนี้ดูค่ะ

  1. เลือกรสชาติยาน้ำที่ลูกชอบ: หากยาน้ำมีอยู่หลายรสชาติ ลองปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เลือกรสชาติยาน้ำที่กินง่ายและลูกชอบ พร้อมทำตามคำแนะนำ ให้ลูกกินยาในปริมาณที่ถูกต้อง
  2. ปรึกษาแพทย์ เพื่อขอเทคนิคการป้อนยา เพื่อให้ลูกทานยาง่ายขึ้น
  3. ให้รางวัลเมื่อลูกกินยาได้: ถ้าลูกเป็นเด็กโตอาจจูงใจลูกด้วยการให้รางวัลเมื่อกินยาได้ หรือสอบถามแพทย์และเภสัชกรว่า ยาชนิดนั้นสามารถกินพร้อมกับน้ำหวานได้หรือไม่ เพื่อให้ลูกยอมกินยาได้ง่ายขึ้น
  4. ไม่ควรบีบจมูกบังคับลูกกลืนยา: การบีบจมูกเพื่อให้ลูกกลืนยาอาจเสี่ยงต่อการสำลักได้ หากไม่สามารถป้อนยาได้ อาจให้คนในบ้านช่วยจับมือและเท้า ป้องกันเด็กดิ้น แต่ไม่ควรรุนแรงกับเด็กจนเจ็บ ก่อนป้อนยาควรพูดอย่างอ่อนโยน แล้วควรทำอย่างระมัดระวัง

 

การให้ยาเด็กเล็กหรือทารก คุณพ่อคุณแม่ต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ ควรให้ลูกกินยาตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร เพราะหากได้รับยามากเกินไป เด็กอาจเกิดอันตราย แต่ถ้ายาไม่ครบโดส มีปริมาณน้อยกว่าที่ควร การรักษาอาจไม่เห็นผล นอกจากเรื่องการใช้ยาที่คุณพ่อคุณแม่ควรระมัดระวังแล้ว ยังควรใส่ใจเรื่องโภชนาการของเจ้าตัวน้อย โดยเฉพาะเด็กเล็กควรได้รับนมแม่อย่างเพียงพอ เพราะนมแม่มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด เช่น ดีเอชเอ วิตามิน แคลเซียม แอลฟา-แล็คตัลบูมิน และสฟิงโกไมอีลิน รวมทั้งยังมีสารภูมิคุ้มกันและจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์หลายชนิด และยังมีจุลินทรีย์สุภาพ เช่น บีแล็กทิส (B. lactis) หนึ่งในจุลินทรีย์สุขภาพในกลุ่มบิฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) และยังเป็นโพรไบโอติกส์ ที่สามารถส่งต่อเพื่อสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อยได้อีกด้วย

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่

 


อ้างอิง:

  1. กินยาน้ำให้ได้ผล ควรใช้ช้อนแบบใด, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
  2. อุปกรณ์ตวงยาน้ำ, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ฝ่ายเภสัชกรรม
  3. ซีซี (cc) กับ มิลลิลิตร (ml) คือ ??, KANTAR, SEED
  4. 7 เคล็ดลับการให้ยาเด็ก, โรงพยาบาลวิภาราม
  5. ลูกกินยายาก จัดการได้ง่าย ๆ, โรงพยาบาลมนารมย์

อ้างอิง ณ วันที่ 10 พฤศจิกายน 2567