
ปั๊มนมไม่ออก ตกรอบปั้มกลางคืนทำไงดี เสี่ยงน้ำนมหดจริงไหม
นมแม่คือสารอาหารที่ดีที่สุดของลูกน้อย และเป็นแหล่งอาหารเดียวที่มีสารอาหารครบครันสำหรับเจ้าตัวน้อย แต่ความท้าทายที่ตามมาจากการให้นมแม่นั้นก็เป็นเรื่องที่คุณแม่ต้องเผชิญ ทั้งเรื่องการปั๊มนมไม่ออก ตกรอบปั๊มนม เต้านมอักเสบ ท่อน้ำนมอุดตัน ในบทความนี้เราจะมาบอกสาเหตุ และวิธีการดูแลตนเองเบื้องต้นเมื่อคุณแม่เกิดปัญหาต่าง ๆ ในการปั๊มนมมาฝากกัน
สรุป
- การที่คุณแม่ปั๊มนมไม่ออกนั้นอาจจะมีสาเหตุมาจากอาการท่อน้ำนมอุดตัน ซึ่งคุณแม่สามารถบรรเทาได้ด้วยตัวเอง ด้วยการรีดนม และนวดนม รวมถึงประคบร้อน
- การตกรอบปั๊ม ทำให้นมค้างเต้า และทำให้เกิดอาการเต้านมคัดซึ่งนมที่คัดจะนำไปสู่การผลิตน้ำนมที่ลดลงอีกด้วย
- โดยปกติแล้วคุณแม่ควรบีบ/ปั๊มนมทุก 2-3 ชั่วโมง ควรบีบ/ปั๊มนมประมาณ 10-15 นาทีต่อข้าง รวมทั้งสองข้างไม่เกิน 30 นาที
- หากคุณแม่ลืมปั๊มนมในช่วงกลางคืน แนะนำให้ปั๊มนมทันทีที่นึกได้ เพื่อป้องกันการคัดตึงของเต้านม และช่วยคงอัตราการผลิตน้ำนมให้คงที่ และปั๊มนมให้ถี่ขึ้นเพื่อกระตุ้นการผลิตน้ำนม
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- รอบปั๊มนม คืออะไร
- ปั๊มนมไม่ออก ตกรอบปั๊มกลางคืน น้ำนมจะหดไหม
- การปั๊มนมจะใช้การปั๊มนมด้วยมือ มีกี่วิธี
- ทำไมคุณแม่ต้องปั๊มนมบ่อย ๆ ต้องปั๊มถี่แค่ไหน
- วิธีกำหนดรอบปั๊มนมของคุณแม่ต้องทำแบบนี้
- คุณแม่ตกรอบปั๊มนมบ่อย เป็นอะไรไหมนะ
- คุณแม่ตกรอบปั๊มกลางคืน ต้องทำยังไง
- ช่วงเวลากลางคืนไม่ปั๊มนมเลยได้ไหม
รอบปั๊มนม คืออะไร
รอบปั๊มนม หรือรอบการบีบน้ำนม คือช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปั๊มนมออกมาจากเต้า แนะนำวิธีการกำหนดรอบปั๊มนมปกติควรทำทุก 2-3 ชั่วโมง ในช่วงแรก เพื่อลดการเกิดภาวะเต้านมคัด และท่อน้ำนมอุดตัน นอกจากนี้การปั๊มนมยังช่วยเพิ่มการผลิตน้ำนม และสามารถนำน้ำนมสต็อกนี้มาให้เจ้าตัวเล็กในตอนที่ไม่ยอมเข้าเต้าได้อีกด้วย
ปั๊มนมไม่ออก ตกรอบปั๊มกลางคืน น้ำนมจะหดไหม
ปัญหายอดฮิตของคุณแม่ให้นมเลยก็ว่าได้ การที่คุณแม่ปั๊มนมไม่ออกนั้นอาจจะมีสาเหตุมาจากอาการท่อน้ำนมอุดตัน ซึ่งคุณแม่สามารถบรรเทาได้ด้วยตัวเอง ด้วยการรีดนม และนวดนม รวมถึงประคบร้อน ส่วนคำถามที่ว่าตกรอบปั๊มนมช่วงกลางคืนนั้นน้ำนมจะหดไหม นั่นก็อาจเป็นไปได้เพราะการตกรอบปั๊ม ทำให้นมค้างเต้า และทำให้เกิดอาการเต้านมคัด ซึ่งนมที่คัดจะนำไปสู่การผลิตน้ำนมที่ลดลงอีกด้วย
การปั๊มนมจะใช้การปั๊มนมด้วยมือ มีกี่วิธี
- ปั๊มทันทีหลังลูกดูดไปแล้ว 10-15 นาที
- ปั๊มนมระหว่างมื้อนม ให้ปั๊มนมหลังจากเข้าเต้าไปแล้วประมาณ 1 ชั่วโมง โดยสลับปั๊มพร้อมกันทั้ง 2 เต้า นาน 10-15 นาที
การปั๊มนมแต่ละครั้ง ควรใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที เพื่อให้แน่ใจว่านมออกมาเกลี้ยงเต้า เมื่อปั๊มเรียบร้อยแล้ว ให้ค่อย ๆ นำกรวยเต้าออกจากเต้านม แล้วให้รีบนำน้ำนมที่ได้ไปเก็บไว้ในที่เย็นทันที เพื่อรักษาคุณภาพของน้ำนม
วิธีดูแลตัวเองเมื่อท่อน้ำนมอุดตัน
- ประคบร้อน ใช้ผ้าอุ่นร้อน หรือเจลอุ่นประคบบริเวณเต้านม ประคบ 15-20 นาที ก่อนให้นมหรือขณะให้นม ความร้อนจะช่วยขยายท่อน้ำนมและช่วยสลายก้อนไขมันแข็งที่อุดตันอยู่
- นวดเต้านม ใช้นิ้วมือ 3 นิ้ว ค่อย ๆ คลึงเบา ๆ ที่เต้านม โดยคลึงเป็นวงกลม เริ่มจากบริเวณฐานเต้านมไปถึงบริเวณใกล้หัวนม การนวดคลึงเบา ๆ นี้จะช่วยให้น้ำนมไหลออกมาได้ง่ายขึ้น
- รีดระบายน้ำนม เป็นการรีดน้ำนมคั่งค้าง ที่กระเปาะน้ำนมที่อยู่รอบ ๆ ลานนม โดยใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้รีดน้ำนมออกจากเต้า โดยเริ่มรีดจากบริเวณลานนม ไปจนถึงบริเวณใกล้หัวนม ให้พอเหมาะ
- พบจุดสีขาว (White dot) ที่หัวนม บีบออกตอนอาบน้ำอุ่นก็ได้ เพื่อให้น้ำนมไหลออกอย่างสะดวก หากไม่ออก แนะนำไปพบแพทย์เพื่อทำการสะกิดออก หรือรับคำแนะนำจากแพทย์ในบรรเทาด้วยตัวเองต่อไป
หากทำตามวิธีขั้นต้นแล้วไม่ดีขึ้นอีกทั้งยังมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีการอักเสบ ปวด บวม แดง ร้อนของเต้านม เป็นก้อนแข็ง กดเจ็บ และคุณแม่จะมีไข้ร่วมด้วย ให้รีบไปพบแพทย์เพราะคุณแม่อาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคเต้านมอักเสบ ส่วนการรักษาอาการท่อน้ำนมอุดตัน คุณหมออาจรักษาด้วยการทำอัลตราซาวด์บริเวณเต้านม คลื่นอัลตราซาวด์จะทำให้เกิดการสั่นสะเทือนในท่อน้ำนม และช่วยขยายท่อน้ำนม เป็นการเปิดท่อน้ำนมให้คุณแม่กลับมาให้นมได้อย่างเป็นปกติ
ทำไมคุณแม่ต้องปั๊มนมบ่อย ๆ ต้องปั๊มถี่แค่ไหน
โดยปกติแล้วคุณแม่ควรบีบ/ปั๊มนมทุก 2-3 ชั่วโมง ควรบีบ/ปั๊มนมประมาณ 10-15 นาทีต่อข้าง รวมทั้งสองข้างไม่เกิน 30 นาที และต้องปั๊มหรือบีบจนรู้สึกว่าไม่มีน้ำนมออกแล้ว หากใช้วิธีบีบให้ขยับเปลี่ยนมุม โดยหมุนนิ้วชี้และนิ้วโป้งไปยังมุมอื่น ๆ ตามขอบลานหัวนม จนไม่มีน้ำนมออกมาแล้วก็ให้พอ
วิธีกำหนดรอบปั๊มนมของคุณแม่ต้องทำแบบนี้
เราแนะนำวิธีการกำหนดรอบปั๊มนมปกติควรทำทุก 2-3 ชั่วโมง เราแบ่งช่วงเวลาคร่าว ๆ ได้ตามนี้
- 6.00 น.
- 9.00 น.
- 12.00 น.
- 15.00 น.
- 18.00 น.
- 21.00 น.
- 24.00 น.
- 3.00 น.
หากคุณแม่อยู่ในระยะแรกคลอด ควรปั๊มนมให้ได้ 8-10 ครั้งต่อวัน โดยปั๊มนมนานครั้งละ 15-20 นาที พอเริ่มเข้าสู่ระยะ 2-3 เดือนหลังคลอด ควรปั๊มอย่างน้อยทุก 5-6 ชั่วโมง โดยกลางคืนควรปั๊มอย่างน้อย 1 ครั้ง เนื่องจากจะช่วยให้ฮอร์โมนโปรแลคตินที่ช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำนมอยู่ในระดับสูงตลอดเวลา
คุณแม่ตกรอบปั๊มนมบ่อย เป็นอะไรไหมนะ
การตกรอบปั๊มนม เป็นคำที่คุณแม่มักหมายถึงการไม่ได้ปั๊มนมตามรอบ โดยใน 1 วันควรปั๊มนมทุก ๆ 2-3 ชม. หากคุณแม่ไม่ได้ปั๊มนมตามรอบ ก็อาจก่อให้เกิดอาการคัดเต้านมซึ่งเกิดจากมีน้ำนมคั่งค้างในเต้านม โดยเต้านมจะมีขนาดใหญ่ บวม ตึง กดเจ็บรอบ ๆ เต้านม ได้
คุณแม่ตกรอบปั๊มกลางคืน ต้องทำยังไง
เนื่องจากฮอร์โมนโปรแลคตินที่ช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำนมมีมากในเวลากลางคืนและช่วยกระตุ้นการผลิตนำ้นม ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ดีที่จะปั๊มนมในช่วงเวลากลางคืน แต่หากคุณแม่ลืมปั๊มนมในช่วงกลางคืน เนื่องจากเพลียจากการทำงานหรือเลี้ยงลูกก็ตาม เราแนะนำให้ปั๊มนมทันทีที่นึกได้ เพื่อป้องกันการคัดตึงของเต้านม และช่วยคงอัตราการผลิตน้ำนมให้คงที่ และควรปั๊มนมให้ถี่ขึ้นเพื่อกระตุ้นการผลิตน้ำนม แต่การตกรอบปั๊มกลางคืนนั้นไม่ควรทิ้งระยะนานเกิน 4-5 ชั่วโมง
ช่วงเวลากลางคืนไม่ปั๊มนมเลยได้ไหม
การไม่ปั๊มนมเลยในช่วงกลางคืนอาจเสี่ยงต่อการทำให้น้ำนมค้างเต้าเป็นเวลานาน ทำให้คัดเต้านมซึ่งก่อให้เกิดท่อน้ำนมอุดตันได้ และหากท่อน้ำนมอุดตันนานเกิน 24 ชั่วโมง ก็จะเสี่ยงต่อการเกิดฝีในเต้านมตามมา หากคุณแม่ต้องผ่าฝีออก จะไม่สามารถให้นมลูกไปอีกพักใหญ่เลยทีเดียว รวมถึงนมที่คัดจากการไม่ได้ปั๊มออกในช่วงกลางคืน จะนำไปสู่การที่ร่างกายอาจจะลดการผลิตน้ำนมอีกด้วย
การปั๊มนมและการปั๊มนมให้เกลี้ยงเต้า เป็นสิ่งจำเป็นหากคุณแม่ต้องกลับไปทำงานหรือต้องอยู่ห่างลูก เพราะน้ำนมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดจำหรับเจ้าตัวเล็ก การได้ปั๊มนมอย่างเป็นประจำ ตามช่วงเวลา เป็นเรื่องที่ดีเพราะร่างกายจะได้สร้างน้ำนมอย่างต่อเนื่อง ดีต่อทั้งตัวคุณแม่เพราะช่วยลดอาการเต้านมคัด และเจ้าตัวเล็กได้มีนมกินทุกเมื่ออีกด้วย อย่างไรก็ตามคุณแม่ไม่ควรเคร่งเครียดกับการปั๊มนมเป็นเวลามากเกินไป เพราะภาวะเครียดก็ส่งผลต่อน้ำนมที่อาจจะได้ปริมาณน้อยลง ไม่ดีต่อทั้งคุณแม่และลูกแน่นอน
นมแม่นั้นมีประโยชน์ต่อทั้งตัวคุณแม่เองและลูกน้อย ในส่วนของคุณแม่ การให้นมแม่ช่วยลดโอกาสการตกเลือดหลังคลอด การเกิดมะเร็งเต้านม, การเกิดมะเร็งรังไข่ รวมถึงช่วยในการคุมกำเนิดอีกด้วย ในส่วนของลูกน้อยนั้น นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับลูก เพราะอุดมไปด้วยสารอาหารกว่า 200 ชนิด เช่น คาร์โบไฮเดรต, ไขมัน โปรตีน วิตามิน เกลือแร่ และสารอาหารสำคัญอย่าง แอลฟาแล็ค สฟิงโกไมอีลินที่มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาระบบประสาทของลูกน้อยอีกด้วย
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่
- Health check แบบประเมินสุขภาพของคุณแม่และพัฒนาการของลูกน้อย
- ฤกษ์คลอด ฤกษ์ผ่าคลอด วันมงคล เวลาดี สำหรับลูกรัก
- เพิ่มน้ำนมคุณแม่ ด้วยการกระตุ้นน้ำนม จากธรรมชาติ ดีกับคุณแม่และลูก
- เทคนิคการปั๊มนมให้เกลี้ยงเต้า พร้อมตารางปั๊มนมและวิธีปั๊มนม
- ท่าให้นมลูก ท่านอนให้นม พร้อมท่าจับเรอ ป้องกันลูกน้อยท้องอืด
- เด็กแรกเกิดกินนมกี่ออนซ์ถึงดีที่สุด ปริมาณนมทารกเท่าไหร่เรียกว่าพอดี
- ตารางกินนมทารก ลูกควรกินนมแม่วันละกี่ครั้ง ปริมาณเท่าไหร่
- วิธีปลุกลูกกินนม คุณแม่ควรปลุกลูกกินนมแม่เวลาไหนบ้าง
- ลูกไม่กินนม กินนมน้อย ปัญหาลูกไม่ยอมกินนมที่คุณแม่แก้ไขได้
- ลูกไม่ยอมเข้าเต้า ทำยังไงดี พร้อมวิธีช่วยให้ลูกดูดเต้าได้สำเร็จ
- วิธีให้ลูกดูดขวด เมื่อลูกติดเต้าไม่ดูดขวดนม พร้อมวิธีรับมือลูกน้อย
- การผ่าคลอดกับคลอดเองต่างกันยังไง พร้อมข้อดีข้อเสีย
- ผ่าคลอดได้กี่ครั้ง ผ่าคลอดมีลูกได้กี่คน ผ่าคลอดบ่อย อันตรายไหม
- ผ่าคลอดกี่สัปดาห์ ท้องกี่สัปดาห์คลอด ปลอดภัยกับคุณแม่
- ผ่าคลอดมีเพศสัมพันธ์ได้ตอนไหน หลังผ่าคลอดนานแค่ไหนมีอะไรกับแฟนได้
อ้างอิง:
- วิธีเก็บสต็อกนมแม่ ต้องทำอย่างไร, โรงพยาบาลวิชัยเวช
- เต้านมคัด อาการที่คุณแม่มือใหม่ไม่ควรมองข้าม, ศูนย์กายภาพบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล
- ปั๊มนมอย่างไรให้ถูกต้อง, POPPAD
- เคล็ดลับการบีบหรือปั๊มนมแม่ การเก็บรักษาน้ำนม, โรงพยาบาลศิครินทร์
- ท่อน้ำนมอุดตัน ปัญหาคุณแม่หลังคลอด, โรงพยาบาลบางปะกอก 9
- เทคนิคการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่, โรงพยาบาลกรุงเทพ ภูเก็ต
- เวชปฎิบัติการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่, มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย
- ควรให้นมแม่ตามเวลาดีไหม? จำเป็นต้องปลุกลูกมาให้นมตอนกลางคืนหรือไม่?, มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย
- ให้นมแม่อย่างปลอดภัย สบายใจยิ่งขึ้น ด้วยหลัก “1 2 3”, โรงพยาบาลพญาไท
- บทความสุขภาพ เทคนิคจัดการน้ำนมแม่ ให้ลูกอิ่มหนำสำราญ, โรงพยาบาลเวชธานี
- ภาวะท่อน้ำนมอุดตันดูแลได้ด้วยตนเอง, ศูนย์กายภาพบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล
- ภาวะเต้านมอักเสบ (Mastitis), โรงพยาบาลเมดพาร์ค
- การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ (Breastfeeding), สูติศาตร์ล้านนา ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- 3 เทคนิคดูแลภาวะน้ำนมน้อยในคุณแม่, ศูนย์กายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล
- การเลี้ยงลูกด้วยนนมแม่ โครงการตำรา คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
อ้างอิงเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2567 / 6 กุมภาพันธ์ 2568 / 13 กุมภาพันธ์ 2568