อาการปวดท้องน้อยขณะตั้งครรภ์อ่อนๆ จะเสี่ยงแท้งไหม
ในช่วงตั้งครรภ์มีอาการเกิดขึ้นมากมาย โดยหนึ่งในนั้นคืออาการปวดท้องน้อย ที่สามารถเกิดได้จากอาการต่าง ๆ เช่น มดลูกขยายตัว กล้ามเนื้อตึงตัว อาการเจ็บครรภ์หลอก ปัญหาระบบย่อยอาหาร หรืออาจเป็นสัญญาณผิดปกติอื่น ๆ ของสุขภาพในขณะที่ตั้งครรภ์ ควรพบคุณหมอทันทีหากมีอาการรุนแรงมากขึ้น
สรุป
- ปวดหน่วงท้องน้อยช่วงตั้งครรภ์ มีลักษณะคล้ายกับปวดประจำเดือน เกิดจากมดลูกขยายตัวจึงมีเลือดมาหล่อเลี้ยงบริเวณดังกล่าวมากขึ้น
- แม่ท้องสามารถบรรเทาอาการปวดท้องน้อยได้ เช่น ประคบร้อน นอนพักผ่อนให้เพียงพอ นั่งยกขาสูงจากพื้นเพื่อให้เลือดไหลเวียนสะดวกขึ้น ออกกำลังกายเบา ๆ ยืดเหยียด หรือโยคะสำหรับคนท้อง เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
- ปวดท้องน้อยหากมีอาการปวดแบบผิดปกติ ได้แก่ มีไข้สูง มีเลือดไหลทางช่องคลอด อ่อนเพลีย หน้ามืด อาเจียน หรือปัสสาวะแสบขัด หากมีอาการดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วนเพื่อความปลอดภัยของแม่ท้องและทารกในครรภ์
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- ปวดหน่วงท้องน้อยตั้งครรภ์ อันตรายไหม
- ปวดหน่วงท้องน้อย เป็นตะคริวที่ท้องน้อย
- คุณแม่ตั้งครรภ์ท้องผูก ก็ทำให้มีอาการปวดท้องน้อยได้
- อาการปวดท้องขณะตั้งครรภ์อ่อน ๆ เกิดจากอะไรได้บ้าง
- อาการปวดท้องน้อยขณะตั้งครรภ์อ่อน ๆ ระวังภาวะแท้งคุกคาม
- ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะแท้งคุกคาม
- วิธีบรรเทาอาการปวดหน่วงท้องน้อยตั้งครรภ์
- ปวดหน่วงท้องน้อยตั้งครรภ์แบบไหน ต้องรีบไปพบแพทย์
ปวดหน่วงท้องน้อยตั้งครรภ์ อันตรายไหม
ปวดท้องน้อยขณะที่ตั้งครรภ์ มีทั้งที่เป็นอันตรายและไม่อันตราย สังเกตได้ ดังนี้
ปวดหน่วงท้องน้อยแบบไม่อันตราย
- กล้ามเนื้อตึงตัว ในช่วงที่ตั้งครรภ์น้ำหนักตัวของคุณแม่จะเพิ่มขึ้นประมาณ 10-12 กิโลกรัม นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายที่มีผลต่อกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น อาจทำให้กล้ามเนื้อหลัง กล้ามเนื้อด้านข้าง และหน้าท้องตึง ส่งผลให้แม่ท้องปวดหน่วงท้องน้อยได้
- มดลูกขยายตัว ตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ เมื่อเส้นเอ็น และกล้ามเนื้อมดลูกขยายตัว ทำให้แม่ท้องมีอาการปวดหน่วงท้องน้อยได้ อาการปวดหน่วงท้องน้อยมีลักษณะคล้ายปวดประจำเดือน ปวดใกล้ ๆ ขาหนีบ ข้างใดข้างหนึ่งหรือปวดทั้งสองข้าง
- อาการท้องแข็ง เนื่องจากมดลูกหดรัดตัว (Braxton Hick Contraction) เจ็บท้องเตือน หรือเจ็บท้องหลอก มักเกิดในช่วงไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 3 ทำให้แม่ท้องปวดหน่วงท้องน้อยได้ อาการปวดแม่ท้องจะมีอาการปวดท้องหน่วง ๆ แต่ไม่รุนแรง ระยะเวลาปวดประมาณ 5-10 นาที จะคลายได้เอง
- ท้องผูก การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในร่างกายขณะที่แม่กำลังตั้งครรภ์ ส่งผลให้ลำไส้และระบบย่อยอาหารทำงานไม่ปกติ ทำให้ขับถ่ายยากขึ้น อาจทำให้แม่ท้องรู้สึกปวดหน่วงท้องน้อยได้
ปวดหน่วงท้องน้อยแบบอันตราย
- แท้ง เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ความผิดปกติของฮอร์โมน ความผิดปกติของตัวอ่อน เพราะตัวอ่อนที่เกิดขึ้นนั้นอาจไม่สมบูรณ์ หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ การแท้งมักเกิดในช่วงไตรมาสแรกหรือในช่วง 1-12 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์
- ไส้ติ่งอักเสบ ไส้ติ่งอักเสบอาจเกิดขึ้นได้ในช่วงตั้งครรภ์ เกิดจากไส้ติ่งติดเชื้อเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน สังเกตจากอาการปวดหน่วงท้องน้อยบริเวณด้านขวา รวมถึงใต้ลิ้นปี่หรือรอบ ๆ สะดือ ปวดนำมาก่อน อาจมีคลื่นไส้ อาเจียน ร่วมด้วยได้
- ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ทำให้คุณแม่ท้องมีอาการปวดท้องน้อย แสบขัดขณะที่ปัสสาวะ ถ้ามีอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์
- นิ่วในถุงน้ำดี การทำงานของระบบย่อยอาหารที่เปลี่ยนแปลงไป เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงตั้งครรภ์ ส่งผลให้คุณแม่ท้องไม่อยากอาหาร มีอาการปวดท้องน้อยใต้ชายโครงด้านขวา จุกเสียดแน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ
ปวดหน่วงท้องน้อย เป็นตะคริวที่ท้องน้อย
อาการปวดท้องน้อย (Cramping) เป็นอีกอาการหนึ่งของแม่ท้องที่มีอายุครรภ์ 1-2 สัปดาห์ หลังจากปฏิสนธิ อาการปวดหน่วงท้องน้อยมีลักษณะปวดแบบหน่วง ๆ คล้ายเป็นตะคริว ปวดบริเวณปีกมดลูก สาเหตุเกิดจากร่างกายเริ่มผลิตฮอร์โมนเพื่อนำไปหล่อเลี้ยงตัวอ่อนที่ฝังตัวในผนังมดลูก รวมถึงร่างกายรองรับการขยายตัวของมดลูกตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ อาการปวดดังกล่าวจะมีอาการปวด 2-3 วัน หลังจากนั้นจะเริ่มบรรเทาเบาบางลงและหายปวด หากมีอาการปวดมากขึ้น ปวดหน่วงท้องน้อยรุนแรง ต้องรีบไปพบแพทย์เพราะอาจเป็นสัญญาณอันตราย เช่น ท้องนอกมดลูก หรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อแม่ท้องและทารกในครรภ์ได้
คุณแม่ตั้งครรภ์ท้องผูก ก็ทำให้มีอาการปวดท้องน้อยได้
ร่างกายในช่วงตั้งครรภ์ ฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้ระบบลำไส้และระบบย่อยอาหารทำงานได้ลดลง ขนาดของมดลูกที่โตขึ้นตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์กระทบต่อการบีบตัวของลำไส้ ทำให้อาหารหรือของเหลวต่าง ๆ เคลื่อนตัวได้ช้าลง ส่งผลให้แม่ท้องเกิดอาการแน่นท้อง ท้องอืด และท้องผูกได้ ทำให้เกิดอาการปวดหน่วงบริเวณท้องน้อยได้
ดังนั้น แม่ตั้งครรภ์ควรรับประทานอาหารคนท้องที่มีกากใยสูง ดื่มน้ำให้มากขึ้น และออกกำลังกายเบา ๆ เช่น การเดิน การว่ายน้ำ หรือเล่นโยคะสำหรับคนท้อง อาจช่วยให้อาการท้องผูกดีขึ้น และไม่ควรซื้อยาถ่ายมารับประทานเองอย่างยิ่ง ต้องเป็นยาที่คุณหมอสั่งเท่านั้น
อาการปวดท้องขณะตั้งครรภ์อ่อน ๆ เกิดจากอะไรได้บ้าง
อาการปวดท้องน้อย คือ อาการปวดบริเวณท้องน้อยตั้งแต่สะดือลงไปสำหรับแม่ตั้งครรภ์อ่อน ๆ สาเหตุเกิดจากระดับฮอร์โมนในร่างกายของแม่ท้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก อาการปวดท้องน้อยเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น
- การเพิ่มขึ้นของฮอร์โมน ได้แก่ รีแลกซิน (Relaxin) เอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน(Progesterone) ส่งผลให้ข้อต่อและเส้นเอ็นบริเวณกระดูกเชิงกรานคลายตัว จนนำไปสู่อาการปวดท้องน้อยได้
- ท้องผูก เป็นอีกอาการหนึ่งที่ทำให้แม่ท้องปวดหน่วงบริเวณท้องน้อยได้
- ทางเดินปัสสาวะอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ส่งผลให้เกิดอาการอักเสบ ปวดท้องน้อยตามมาได้ ปัสสาวะแสบขัด ปวดปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือปัสสาวะมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ
- ภาวะแท้งคุกคาม มักเกิดในช่วงก่อน 20 สัปดาห์ จะมีเลือดไหลออกมาทางช่องคลอด มีเนื้อเยื่อสีออกเทาหรือลิ่มเลือดออกมาทางช่องคลอด ปวดท้องรุนแรง และปวดหลังช่วงล่าง
- ท้องนอกมดลูก เกิดจากไข่และอสุจิปฏิสนธิแล้ว ฝังตัวที่นอกมดลูก เป็นภาวะที่อันตรายทำให้เกิดอาการปวดท้องน้อย มีเลือดไหลจากช่องคลอด และมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดบริเวณหัวไหล่ หรืออุจจาระบ่อย
อาการปวดท้องน้อยขณะตั้งครรภ์อ่อน ๆ ระวังภาวะแท้งคุกคาม
แท้งคุกคาม (Threatened abortion) คือ ภาวะผิดปกติในช่วง 20 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ โอกาสเกิดกับแม่ท้องได้ถึงร้อยละ 20-25 แม่ท้องที่มีอาการเช่นนี้ประมาณร้อยละ 50 จะมีการแท้งเกิดขึ้นจริง โดยเฉพาะแม่ตั้งครรภ์ที่มีอาการปวดหน่วงท้องน้อยร่วมด้วย อาการคือ แม่ท้องจะมีเลือดออกทางช่องคลอด อาจเป็นเลือดสดออกมากะปริบกะปรอยหรือมูกเลือดก็ได้ เลือดหรือมูกเลือดจะออกมาเป็นเวลาหลายวันหรือหลายสัปดาห์
แม่ท้องจะมีอาการปวดหน่วงท้องน้อยคล้ายปวดประจำเดือน ปวดบีบ ๆ รัด ๆ บริเวณกลางท้องน้อย และอาจปวดร้าวไปที่หลัง อาการเลือดออกนี้อาจพบได้ในช่วง 4-5 สัปดาห์หลังจากหมดประจำเดือนครั้งสุดท้ายหรือประมาณ 2 สัปดาห์หลังปฏิสนธิ เป็นช่วงเวลาที่ตัวอ่อนกำลังฝังตัวเข้าไปในเนื้อมดลูก ซึ่งแม่ที่ตั้งครรภ์ปกติอาจมีเลือดออกได้แต่ไม่มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะแท้งคุกคาม
ภาวะแท้งคุกคาม มักจะไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดที่ทำให้เกิดเลือดออกในช่วงตั้งครรภ์อย่างไรก็ตามมีปัจจัยต่าง ๆ สนับสนุนหรือสัมพันธ์ให้เกิดภาวะแท้งคุกคาม จนเกิดการแท้งจริง ดังนี้
- เกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์ ได้แก่ ทารกมีโครโมโซมที่ผิดปกติ ทารกในครรภ์มีความพิการแต่กำเนิด หรือได้รับยาหรือสารเคมีที่ทำให้ทารกเกิดความผิดปกติตั้งแต่ในครรภ์
- แม่ท้องมีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ไตวายเรื้อรัง
- อายุของแม่ตั้งครรภ์ มากเกินไปหรือน้อยเกินไป ได้แก่ แม่ท้องที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป มีโอกาสแท้งได้ร้อยละ 15 หรือแม่ท้องที่มีอายุน้อยกว่า 15-34 ปี มีโอกาสแท้งได้ร้อยละ 4
- มดลูกหรือโพรงมดลูกมีความผิดปกติ เช่น มดลูกมีรูปร่างผิดปกติตั้งแต่กำเนิด หรือพังผืดในโพรงมดลูก เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้แม่ท้องเสี่ยงแท้งคุกคามได้
- ขาดฮอร์โมนเพศที่ช่วยประคับประคองการตั้งครรภ์
- แม่ท้องเคยมีประวัติแท้งมาก่อน
- ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น อุบัติเหตุที่กระทบมดลูกหรือบริเวณท้องน้อย การติดเชื้อที่ช่องคลอด น้ำหนักตัวที่มากหรือเป็นโรคอ้วน แม่ท้องที่สูบบุหรี่ ดื่มสุรา หรือติดสารเสพติด
วิธีบรรเทาอาการปวดหน่วงท้องน้อยตั้งครรภ์
แม่ท้องสามารถบรรเทาอาการปวดหน่วงท้องน้อยในช่วงตั้งครรภ์ ด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้
- ประคบร้อน การประคบร้อนด้วยกระเป๋าน้ำร้อนอุ่น ๆ หรือผ้าขนหนูชุบน้ำร้อน ประคบครั้งละประมาณ 3-5 นาที ช่วยให้กล้ามเนื้อที่ตึงผ่อนคลายลงได้ วิธีนี้สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดหน่วงท้องน้อยได้ดี
- นอนพักผ่อนให้เพียงพอ แม่ท้องควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ประมาณ 7-9 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อช่วยให้ร่างกายของแม่ท้องเกิดการผ่อนคลาย และอาจช่วยลดอาการปวดหน่วงท้องน้อยที่เกิดขึ้นได้
- ออกกำลังกาย การออกกำลังเบา ๆ ช่วยยืดเหยียดอุ้งเชิงกราน ยืดผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เพื่อความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ กระตุ้นการทำงานของลำไส้ เช่น โยคะสำหรับคนท้อง
- แบ่งมื้อในการรับประทานอาหาร แม่ท้องควรแบ่งมื้อในการรับประทานอาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ หลายมื้อต่อวัน เพื่อให้ระบบย่อยอาหารดูดซึมอาหารได้ดี ป้องกันการเกิดกรดไหลย้อน อาหารไม่ย่อย ท้องผูก และท้องอืด
- หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร อาหารหรือเครื่องดื่มที่ส่งผลให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร เช่น น้ำอัดลม อาหารที่มีไขมันสูง ส่งผลให้เกิดกรดในกระเพาะทำให้แม่ท้องเกิดอาการปวดหน่วงท้องน้อยได้จึงควรหลีกเลี่ยง
ปวดหน่วงท้องน้อยตั้งครรภ์แบบไหน ต้องรีบไปพบแพทย์
อาการปวดท้องน้อยในช่วงตั้งครรภ์ ที่คุณแม่ต้องรีบไปพบแพทย์ เช่น
- มีไข้สูงร่วมด้วย แม่ท้องที่มีอาการปวดท้องน้อย ร่วมกับมีไข้ และมีตกขาวผิดปกติ อาจเกิดจากอาการมดลูกอักเสบ ต้องรีบไปพบคุณหมอโดยด่วน
- มีเลือดไหลออกทางช่องคลอดผิดปกติ ในช่วงตั้งครรภ์ แม่ท้องมีอาการปวดท้องน้อยและมีเลือดไหลออกทางช่องคลอดร่วมด้วย อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนในช่วงตั้งครรภ์ เช่น รกเกาะต่ำ รกลอกตัวก่อนกำหนด ตั้งครรภ์นอกมดลูก รวมถึงการแท้งลูก
- อ่อนเพลีย หน้ามืด หากแม่ท้องมีอาการอ่อนเพลีย หน้ามืด พักผ่อนแล้วไม่หาย ควรรีบไปพบแพทย์
- มีปัสสาวะแสบขัด แม่ท้องที่มีอาการเจ็บปวดเมื่อปัสสาวะ หรือปัสสาวะแสบขัด ควรรีบไปพบคุณหมอเพื่อตรวจหาสาเหตุ
อาการปวดหน่วงท้องน้อยในช่วงตั้งครรภ์ มีทั้งอาการปวดหน่วงท้องน้อยที่อาจเป็นอาการปกติ เกิดจากมดลูกขยายตัวตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย และอาการปวดหน่วงท้องน้อยในช่วงตั้งครรภ์ที่เป็นอันตราย เช่น ภาวะแท้งคุกคาม ตั้งครรภ์นอกมดลูก แม่ท้องควรสังเกตว่า มีอาการอื่น ๆ ร่วมกับอาการปวดหน่วงท้องน้อยหรือไม่ เช่น มีเลือดออกกะปริบกะปรอย มีมูกเลือด หรือเลือดไหลออกจากช่องคลอดจำนวนมาก หากพบอาการผิดปกติ หรือคุณแม่กังวลและไม่มั่นใจควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
- พัฒนาการทารกในครรภ์ 1-40 สัปดาห์ ที่แม่มือใหม่ห้ามพลาด
- อาการแพ้ท้องของคุณแม่ แพ้ท้องพะอืดพะอม แก้ยังไง พร้อมวิธีรับมือ
- น้ำคร่ำ คืออะไร น้ำคร่ำรั่ว อาการแบบไหน สัญญาณใกล้คลอดที่ต้องรับมือ
- อาการท้องแข็งบ่อย ลูกโก่งตัวบ่อย อันตรายหรือไม่ ทำไมคุณแม่ต้องรู้
- เลือดล้างหน้าเด็กสีอะไร เลือดล้างหน้าเด็กสัญญาณแรกของการตั้งครรภ์
- ตั้งครรภ์ มีเลือดออก ไม่ปวดท้อง คืออะไร อันตรายไหม สำหรับแม่ตั้งครรภ์
- อาการคนท้องระยะแรก สัญญาณการตั้งครรภ์เป็นแบบนี้
- เมนูคนท้อง อาหารคนท้องบำรุงคุณแม่ท้อง ดีต่อลูกในครรภ์
- คนท้องห้ามกินอะไร อาหารที่ส่งผลเสียต่อคุณแม่ตั้งครรภ์
- อาหารคนท้องไตรมาสแรก โภชนาการที่สำคัญสำหรับคุณแม่และทารกในครรภ์
- วิธีนับอายุครรภ์ คำนวณอายุครรภ์ด้วยตัวเอง ก่อนคลอด
- สัญญาณอาการใกล้คลอด เจ็บท้องคลอด อาการก่อนคลอดของคุณแม่
- ของใช้เตรียมคลอด ที่คุณแม่มือใหม่ควรเตรียมของไปคลอด
- การผ่าคลอดและคลอดธรรมชาติ ต่างกันยังไง พร้อมขั้นตอนเตรียมผ่าคลอด
- ผ่าคลอดใช้เวลากี่นาที พร้อมข้อดี-ข้อเสีย คลอดเองกับผ่าคลอด
- แผลผ่าคลอดกี่วันหาย พร้อมวิธีดูแลรอยแผลผ่าคลอดให้ฟื้นตัวไว
- แผลฝีเย็บหลังคลอด แผลคลอดธรรมชาติ ดูแลยังไงให้ปลอดภัย
- หลังผ่าคลอดกินอะไรได้บ้าง คนผ่าคลอดห้ามกินอะไรบ้างช่วยให้แผลหายเร็ว
- ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเกิดจากอะไร พร้อมวิธีรับมืออาการซึมเศร้าหลังคลอด
- ฤกษ์คลอด ฤกษ์ผ่าคลอด วันมงคล เวลาดี สำหรับลูกรัก
อ้างอิง:
- ปวดหน่วงท้องน้อย ตั้งครรภ์ เกิดขึ้นจากสาเหตุอะไร, hellokhunmor
- 18 อาการคนท้องเริ่มแรก ข้อสังเกต วิธียืนยันการตั้งครรภ์, Medpark hospital
- อาการปวดท้องน้อยขณะตั้งครรภ์อ่อน ๆ เรื่องสำคัญที่คุณแม่ควรทราบ, pobpad
- คำแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ไตรมาส 1-3, โรงพยาบาลบางปะกอก
- ไตรมาสที่ 1 ของการตั้งครรภ์ (อายุครรภ์ < 14 สัปดาห์), โรงพยาบาลบีเอ็นเอช
- ภาวะแท้งคุกคาม (Threatened abortion), คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- HOW TO ดูแลตัวเอง…เมื่อปวดท้องประจำเดือน, โรงพยาบาลเวชธานี
- ปวดท้อง ตำแหน่งไหนบอกโรคอะไรบ้าง ?, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
- ภาวะเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ (แต่ไม่ใช่ประจำเดือน), โรงพยาบาลสมิติเวช
- แท้งลูก (Abortion), โรงพยาบาลสินแพทย์
อ้างอิง ณ วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567